กรมโรงงานฯ เปิด 3 มาตรการป้องกันมลพิษน้ำ พร้อมเผย 5 จังหวัด และ 5 ประเภทโรงงานเฝ้าระวังที่มีการระบายน้ำเสียออกจากโรงงานสูงสุด

พุธ ๒๔ มิถุนายน ๒๐๑๕ ๑๓:๕๔
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิด 3 มาตรการป้องกันมลพิษน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมการระบายน้ำทิ้ง คุมเข้มติดตั้งอุปกรณ์แสดงสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย และสั่งการให้มีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมกำชับให้การปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบ และการสั่งการใช้บทลงโทษของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องเข้มข้นโปร่งใส เพื่อให้การแก้ปัญหามลพิษน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมมีประสิทธิผล โดยแผนระยะยาวในการสร้างจิตสำนึกการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมเตรียมใช้มาตรฐาน ISO14000 และเร่งทบทวนปรับแก้ไขกฎหมายควบคุมการระบายน้ำทิ้งของโรงงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนและท้องถิ่น

สำหรับผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564 หรือติดตามความเคลื่อนไหวของกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ที่ www.diw.go.th

ดร. พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันมลพิษน้ำที่ระบายออกจากโรงงานมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมโดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงในส่วนของน้ำเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมเขตกรุงเทพมหานคร สำหรับโรงงานในพื้นที่ต่างจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) จะเป็นหน่วยงานกำกับดูแลและสั่งการโรงงานในท้องที่แต่ละจังหวัดโดยเฉพาะ ที่ผ่านมา กรอ. มีการตรวจติดตามโดยส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจโรงงานตามแผนการตรวจ ปีละประมาณ 10,000 โรง รวมถึงได้จัดช่องทางการร้องเรียนให้กับประชาชนผ่าน สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564 และเว็บไซต์กรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว จะดำเนินการระดมผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางและท้องถิ่นเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา ลงพื้นที่ตรวจสอบในชุมชนเพื่อหาแหล่งสาเหตุของการเกิดปัญหาโดยเร็วที่สุด และแก้ไขปัญหาร้องเรียนให้เสร็จสิ้นภายใน 30-60 วันแล้วแต่กรณี จากสถิติการร้องเรียนพบว่า ในปี 2556 มีการร้องเรียน 162 โรง และในปี 2557 มีการร้องเรียน 207 โรง เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 28% และในปี 2558 ถึง 18 มิถุนายน พบว่ามีการร้องเรียน จำนวน 102 โรง ซึ่งทาง กรอ. และ สอจ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบทุกๆข้อร้องเรียนจนแล้วเสร็จและยุติเรื่องเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการนำเสียจากโรงงงานอุตสาหกรรมสูงสุด กรอ. ได้กำหนด 3 มาตรการสำคัญดังนี้

1. มาตรการควบคุมการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานอุตสาหกรรม

โดยมาตรการดังกล่าวให้ดำเนินการตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จากการรวบรวมข้อมูลโรงงานในประเทศ พบว่ามีโรงงานจำพวกที่3 (นอกนิคม) ที่อยู่ในการดูแลของ กรอ. จำนวน 77,547 โรง เป็นโรงงานที่มีน้ำเสีย 34,326 โรง โดยในปี 2558 มีเป้าหมายการตรวจติดตามโรงงานทั้งหมด 9,768 โรง ได้ดำเนินการตรวจติดตามสะสมไปแล้ว 5,860 โรง คิดเป็น 60% ของเป้าหมาย

2. มาตรการติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย

โดยกำหนดให้โรงงานที่มีน้ำทิ้ง มากกว่า 500 ลบ.ม / วัน ต้องติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย (BOD/COD online) พร้อมส่งสัญญาณค่าการตรวจวัดแจ้งให้ กรอ.ทราบ มีจำนวนทั้งสิ้น 243 โรงงาน ซึ่งโรงงานที่ได้รายงานมายัง กรอ. มีจำนวน 274 โรงงาน ซึ่งเกินกว่าเป้าหมาย คิดเป็น 113%

3. มาตรการกำหนดให้มีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน

ได้แก่ โรงงานที่มีปริมาณน้ำเสีย ตั้งแต่ 500 ลบ.ม./วัน โรงงานที่ใช้สารโลหะหนัก และโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง มีโรงงานที่เข้าข่ายดังกล่าวประมาณ 2,000 โรงงาน โดยปัจจุบันมีโรงงานที่มีผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษแล้วจำนวน 1,500 โรงงาน ทั้งนี้เพื่อควบคุมการเดินระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ

ดร. พสุ กล่าวต่อว่า กรอ. มีบทลงโทษ กับโรงงานที่มีการลักลอบปล่อยน้ำเสียโดยตรงที่ไม่ใช้ระบบบำบัดน้ำเสีย หรือโรงงานที่ใช้ระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยบทลงโทษมีตั้งแต่การ สั่งปรับ 20,000 บาท แต่ไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงการสั่งหยุดประกอบกิจการโรงงาน นอกจากนี้ หากวิศวกรมีส่วนรู้เห็นในความผิดก็จะถูกลงโทษด้วย ซึ่งการใช้บทลงโทษต่างๆเหล่านี้ ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความตระหนักด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ใน ปี 2557เฉพาะในกรุงเทพฯ กรอ. ได้ดำเนินคดีการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 จำนวน 4คดี และในปี 2558 ถึงปัจจุบันได้เปรียบเทียบปรับไปแล้ว 5 คดี

นอกจากนี้ จากสถิติการเก็บรวบรวมข้อมูลมลพิษน้ำทั่วประเทศ ผ่านศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม (Industrial Environment Monitoring Center : IEMC) ซึ่งเป็นระบบตรวจวัดมลพิษระยะไกลอย่างต่อเนื่องแบบอัตโนมัติ (Online Pollution Minute System : OPMS) อันทันสมัยของ กรอ. ที่เชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลการระบายน้ำทิ้งจากอุปกรณ์ส่งสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย(BOD/COD online) ของโรงงานในระบบแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยอุปกรณ์ฯดังกล่าวจะติดตั้งที่จุดระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานและส่งสัญญาณเตือนทันทีที่พบค่ามลพิษน้ำเกินมาตรฐาน พบว่า จังหวัดที่มีการระบายน้ำเสียออกจากโรงงานสูงสุดต่อวัน เรียงอันดับ1-5 ได้แก่ สมุทรปราการ จำนวน 98,326 ลบ.ม. สมุทรสาคร จำนวน 84,060 ลบ.ม. พระนครศรีอยุธยา จำนวน 71,906 ลบ.ม. ระยอง จำนวน 63,298 ลบ.ม. และ นครปฐม จำนวน 59,815 ลบ.ม. และประเภทโรงงานเฝ้าระวังที่มีการระบายน้ำเสียออกจากโรงงานสูงสุดต่อวัน เรียงอันดับ 1-5 ได้แก่ โรงงานบำบัดน้ำเสียรวม โรงงานฟอกย้อม โรงงานผลิตเยื่อกระดาษ โรงงานยางสังเคราะห์และโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์น้ำ

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริงนั้น คือการสร้างจิตสำนึกการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการรวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐ สำหรับแนวทางการสร้างจิตสำนึกแก่ผู้ประกอบการ กรอ. ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรู้จักการป้องกันมลพิษด้วยเทคโนโลยีสะอาด การบำบัดน้ำเสีย การควบคุมดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย และการตรวจสอบคุณภาพน้ำเสียของโรงงานเบื้องต้น ผ่านโครงการฝึกอบรมให้ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องมาร่วม 10 ปี อีกทั้งได้ส่งเสริมการทำระบบจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ ISO 14000 ภายในสิ้นปีนี้ ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการ มีการจัดตั้งระบบการบริหารที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้ผู้ประกอบการหันมาดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และในส่วนของภาครัฐ กรอ. จะประสานงานกับกรมควบคุมมลพิษ กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า ได้บูรณาการร่วมกันโดยทบทวนและปรับแก้ไขกฎหมายที่ควบคุมการระบายน้ำทิ้งของโรงงาน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบกิจการ พร้อมๆกับการสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานภายนอก เช่น สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานท้องถิ่นในการช่วยดูแล สอดส่องการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานและการเฝ้าระวังตรวจสอบคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ดร. พสุ กล่าวสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?