สำนักงานอุทยานการเรียนรู้จัด TK Forum 2015 เชิญนักวิชาการนานาชาติร่วมถก เพื่อรู้เท่าทันอนาคตและความเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดแห่งโลกยุคดิจิทัล

ศุกร์ ๑๗ กรกฎาคม ๒๐๑๕ ๑๗:๕๔
ชี้ชัดต้องปรับตัว สร้างเป็นพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ร่วมกันของชุมชนที่นอกเหนือจากพื้นที่การอ่าน ยึดหลักแหล่งเรียนรู้ การพบปะแลกเปลี่ยน และสร้างเป็นพื้นที่ในการปฏิบัติการทดลอง หากไม่ปรับ ห้องสมุดสูญพันธ์แน่ในโลกดิจิทัล

สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park หน่วยงานในสังกัด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ เปิดเวทีเพื่อนำเสนอแนวคิดให้แก่ผู้คนในสังคมไทยเพื่อแสวงหาคำตอบร่วมกัน ในงาน TK Forum 2015 "Library Futures: Challenges and Trends" โดยได้รับเกียรติจากนักวิชาการระดับนานาชาติร่วมนำเสนอแนวคิดและอภิปรายถึงวิถีและการปรับตัวของห้องสมุดทั่วโลก ซึ่งมองว่าห้องสมุดที่เน้นหนังสือเป็นหลักจะยังคงมีแต่จะลดความสำคัญลง โดยบทบาทของห้องสมุดจะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม และเพิ่มพื้นที่ให้กับการสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเองของผู้ใช้บริการ 3 อย่าง คือการเรียนรู้ที่นอกเหนือจากพื้นทีการอ่าน (Learning Space) เช่น พื้นที่การเล่นดนตรี การเล่นละคร เล่นเกมส์ การเต้นรำ,พื้นที่ของการพบปะ แลกเปลี่ยน การวิจารณ์การวิเคราะห์ (Community Space) และสุดท้ายคือใช้เป็นพื้นที่ในการปฏิบัติการทดลองสิ่งต่างๆร่วมกัน ( Maker Space )

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวว่า เมื่อความต้องการของผู้ใช้บริการมีความหลากหลายมากขึ้นและไม่หยุดนิ่ง ทำให้ทางรอดของห้องสมุดประชาชนในหลายประเทศคือการปรับรูปแบบการใช้งานพื้นที่เสียใหม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อสร้างนวัตกรรมการจัดการห้องสมุดในฐานะที่เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจ เป็นแหล่งแสวงหาความรู้เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ ทักษะ และพัฒนาคุณภาพชีวิตมิใช่แหล่งรวมและให้บริการทรัพยากรหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว

"นี่คือความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับห้องสมุดของไทย และเป็นที่มาของการจัดประชุมวิชาการในหัวข้อ "อนาคตห้องสมุด: สิ่งท้าทายและแนวโน้ม" (Library Futures: Challenges and Trends) ในวันนี้"

ด้านศาสตราจารย์ โซเฮล อินอยาตอลเลาะห์ นักรัฐศาสตร์และนักอนาคตศึกษา จากประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่าหลายคนเชื่อว่าอนาคตของห้องสมุดนั้นมืดมน การปฏิรูประบบห้องสมุดจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก

"การเปลี่ยนแปลงไม่เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของประชาชน ในยุคการทะลักของสารสนเทศ แต่ยังเพื่อร่วมสร้างให้ห้องสมุดเป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์บรรจุหนังสือที่หยุดอยู่กับที่ ห้องสมุดควรปรับตัวให้เป็นศูนย์บริการครบวงจร ซึ่งอำนวยความสะดวกในการร่วมสร้างสรรค์ภายในชุมชน เพราะแม้ว่าประชาชนจะยืมหนังสือน้อยลง แต่ผู้คนเข้ามาใช้ห้องสมุดทั้งที่เป็นห้องสมุดกายภาพและห้องสมุดไซเบอร์มากขึ้น"

ขณะที่ เยนส์ ธอร์โฮก์ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาห้องสมุด จากประเทศเดนมาร์ก ก็มองว่าความท้าทายทั่วโลกต่อห้องสมุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องสมุดประชาชน คือการเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขการเข้าถึงสารสนเทศ ซึ่งเป็นผลจากอินเทอร์เน็ตและสื่อดิจิทัล ที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดและสื่ออย่างสิ้นเชิง

"ห้องสมุดได้สูญเสียความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะสถาบันที่เคยมีบทบาทสำคัญด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในสังคม กลายเป็นผู้ให้บริการสารสนเทศที่ต้องแข่งขันกับเทคโนโลยีพื้นฐานหรือแพลตฟอร์มอื่นอีกหลายประเภท และสูญเสียฐานะผู้ผูกขาดไปโดยสิ้นเชิง ปรากฏการณ์นี้นำไปสู่การออกแบบห้องสมุดใหม่ทั่วโลก ที่ตอบสนองความต้องการและรูปแบบชีวิตใหม่

ห้องสมุดควรพิจารณาความจำเป็นของท้องถิ่นในชุมชนอย่างรอบคอบ ซึ่งบ่อยครั้งเชื่อมโยงกับแนวคิดบ้านหลังที่ 3 (the third place) หมายถึง พื้นที่สาธารณะแบบเปิดระหว่างที่ทำงานกับที่พำนักส่วนตัว ซึ่งถือเป็นห้องนั่งเล่นของชุมชนอย่างหนึ่ง และควรเป็นผู้ให้บริการกิจกรรมทางวัฒนธรรม หรือให้บริการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่สร้างสรรค์ เช่น แวดวงการอ่าน ชมรมผู้สูงอายุ พื้นที่สำหรับนักประดิษฐ์ (maker-spaces) และห้องปฏิบัติการที่ให้บริการตัดต่อข้อมูลดิจิทัล (fab labs) เป็นต้น เป็นเน้นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของผู้ใช้และมีผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง เป็นความท้าทายพื้นฐานค่อนข้างจะคล้ายคลึงกัน แต่คำตอบที่ถูกต้องจะแตกต่างไปในแต่ละสถานที่ บนความจำเป็นและเงื่อนไขของท้องถิ่น เพราะห้องสมุดเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของบรรณารักษ์"

ด้าน นีล แมคอินเนส หัวหน้าส่วนงานจดหมายเหตุ สารสนเทศและห้องสมุดเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ที่รู้จักกันดีในฐานะเมืองแห่งห้องสมุด กล่าวว่าจุดแข็งของการบริการของห้องสมุดต่างๆในเมืองแมนเชสเตอร์อยู่ที่คุณภาพและการกระจายทรัพยากร โดยผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงทรัพยากรห้องสมุดได้ตลอด 24 ชั่วโมง และให้บริการ App ห้องสมุดที่สามารถใช้กับโทรศัพท์มือถือ ทำให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงบริการได้สะดวกและง่ายดายยิ่งขึ้น

"เราทำให้ห้องสมุดเป็นเสมือนพื้นที่ในการพบปะสังสรรค์ทำกิจกรรมที่หลากหลายในทุกเพศ วัย อาชีพ มีส่วนของห้องสื่อ (Media Lounge) ที่มีเทคโนโลยีที่ช่วยในการเรียนรู้ สร้างสรรค์ เช่น ซอฟท์แวร์ที่ใช้สร้างดนตรี ออกแบบอาร์ตเวิร์ค หรือใช้บริการเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ห้องสมุดแมนเชสเตอร์กลายเป็นกรณีศึกษาของห้องสมุดทั่วโลก

ถ้าห้องสมุดปรับตัวไม่ทัน และคงสถานะของ "พื้นที่การอ่าน" เช่นเดิม จะมีห้องสมุดมากมายที่จะเป็นไดโนเสาร์ยุคดิจิทัล ซึ่งจะสูญพันธ์ไปโดยเหล่าอุกกาบาตแห่งการปฏิวัติเทคโนโลยีดิจิทัลแน่นอน"

โดยในประเทศไทยนั้น นอกจากอุทยานการเรียนรู้ TK park ที่ตั้งบริเวณห้องสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิล์ด ชั้น 8 แล้ว ห้องสมุดที่ปรับตัวให้เป็นพื้นที่ ของ"Learning Space, Community Space, Maker Space" เริ่มเกิดขึ้นแล้ว อาทิ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, C.A.M.P. Library Café ห้างสรรพสินค้าเมญ่า จ.เชียงใหม่ และMaker Zoo เป็นต้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐:๕๙ ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
๒๐:๓๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐:๕๒ Vertiv เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ไมโครโมดูลาร์รุ่นใหม่ที่มี AI ในเอเชีย
๒๐:๐๙ พิธีขึ้นเสาเอก เปิดไซต์ก่อสร้าง โครงการ แนชเชอแรล ภูเก็ต ไพรเวท พูลวิลล่า บ้านเดี่ยวบนทำเลทองใจกลางย่านเชิงทะเล
๒๐:๔๖ เขตบางพลัดประสาน รฟท.-กทพ. ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าสถานีรถไฟบางบำหรุ
๒๐:๕๘ ร่วมแสดงความยินดีแก่อธิบดีกรมยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๒๐:๐๓ กทม. เดินหน้าจัดกิจกรรมริมคลองโอ่งอ่าง ส่งเสริมอัตลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว
๒๐:๔๙ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พาคุณไปสัมผัสการนวดเพื่อสุขภาพจาก 4 ภูมิภาคของไทย
๒๐:๒๔ Digital CEO รุ่นที่ 7 เรียนรู้เข้มข้นต่อเนื่อง จากวิทยากรชั้นนำของวงการ
๒๐:๒๔ เด็กไทย คว้ารางวัลระดับโลก โดรนไทย ชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ UAV ณ กรุงเจนีวา