เครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติเปิดข้อมูลรับการจัดลำดับการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา

อังคาร ๒๘ กรกฎาคม ๒๐๑๕ ๑๑:๕๒
เครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติเปิดข้อมูลรับการจัดลำดับการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา ระบุเจ้าหน้าที่รัฐไทยยังมีความผิดพลาดในการทำงานเรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานอีกมาก เปิดเคสแรงงานโดนจับกุมและส่งกลับทั้งๆที่รัฐไทยออกเอกสารให้ผิด พร้อมเสนอแนะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เป็นธรรมต่อแรงงาน และเรียกร้องให้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลการขึ้นทะเบียนแรงงานให้แรงงานเข้าใจได้ง่ายขึ้น

ภายหลังจากที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกมาประกาศถึงสถานการณ์การจัดลำดับการค้ามนุษย์ในประเทศไทยโดยรายละเอียดระบุว่าประเทศไทยอยู่บัญชีกลุ่มที่ 3 ในการดำเนินเรื่องแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ล่าสุด เครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ(Migrant Rights Promotion Working Group) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลถึงสถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติ โดยระบุถึงเหตุการณ์ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศไทยว่า ภายหลังจากที่ คสช. ได้มีคำสั่งเมื่อปี 2557 ให้เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service เพื่อให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ได้ขึ้นทะเบียนบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทยหรือบัตรสีชมพู และให้แรงงานต่างด้าวได้รับการผ่อนผันชั่วคราวในการดำเนินการตรวจสัญชาติเพื่อจัดทำหนังสือเดินทาง จนเมื่อเมื่อระยะเวลาผ่อนพันชั่วคราวได้สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 รัฐบาลก็ได้มติครม. ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรประจำตัวผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งหมดอายุให้มาดำเนินการต่อบัตรและผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 และต้องดำเนินการตรวจสัญชาติให้เสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2559

เครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ(Migrant Rights Promotion Working Group)ระบุต่อว่า และเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 ได้มีประกาศจากกระทรวงมหาดไทย สั่งห้ามไม่ให้แรงงานต่างด้าวเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดที่ขึ้นทะเบียน เว้นแต่แรงงานทำงานบ้านที่ติดตามนายจ้าง แรงงานประมง กรณีมีหนังสือเปลี่ยนย้ายนายจ้างหรือกรณีมีหนังสือส่งตัวจากโรงพยาบาลหรือหมายเรียกจากศาลและผู้ติดตามเท่านั้น ทั้งนี้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวได้ระบุแนวทางในการเดินทางในการออกนอกพื้นให้ให้กรมการจัดหางานจัดทำหนังสือรับรองรายชื่อพร้อมเลขประจำตัวของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร พร้อมกับหนังสือรับรองจากสถานทูต หรือที่เรียกว่า Certificate of Identity และหนังสือรับรองจากสำนักงานจัดหางานในเขตพื้นที่ ประกอบกับบัตรประจำตัวผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ในการเดินทาง อย่างไรก็ตามยังพบว่าข้อมูลและแนวทางปฏิบัติดังกล่าวยังไม่ได้รับการเผยแพร่ หรือยังมีความเข้าใจไม่ชัดเจนในแนวทางการดำเนินการทั้งต่อตัวเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องและแรงงานข้ามชาติเอง ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการจับกุมแรงงานข้ามชาติที่จะเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อไปดำเนินการตรวจสัญชาติ

เครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ(Migrant Rights Promotion Working Group)เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2558 พบกรณีแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าเดินทางโดยมีเอกสารตามข้อตกลงดังกล่าว 1 ราย คือ นายวิ แรงงานข้าม ชาติสัญชาติพม่า เดินทางมาจากกรุงเทพโดยมีเอกสาร 3 ฉบับตามเงื่อนไขครบถ้วน แต่เมื่อเดินทางมาถึงด่านตรวจบ้านห้วยหินฝน ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตากเจ้าหน้าที่ประจำด่านฯได้พบว่าหนังสือรับรองจากสำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 7 ที่แรงงานถือมานั้นมีความผิดพลาดคือ วันที่ ที่พิมพ์ว่า " วันที่ 7 กรกฎาคม 2559 " และในส่วนของชื่อแรงงานที่ตามบัตรชื่อนายวิ แต่ในหนังสือรับรองจากสำนักจัดหางานเป็นชื่อ "นายวิน" เจ้าหน้าที่จึงตั้งข้อสันนิฐานว่าเอกสารอาจจะเป็นเอกสารปลอม แต่อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่ประจำด่านอ้างว่าได้โทรศัพท์ตามเบอร์ที่ปรากฎในหนังสือเพื่อตรวจสอบเอกสารแต่เจ้าหน้าที่สำนักจัดหางานที่รับเรื่องอ้างว่าได้ดำเนินการออกเอกสารไปเป็นจำนวนมากไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบได้ เจ้าหน้าที่ประจำด่านจึงแจ้งข้อหาว่านายวิว่าเป็นคนต่างด้าวที่เดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งส่งผลให้สิทธิอาศัยชั่วคราวเป็นสิ้นสุดตามมาตรา81 แห่งพรบ.คนเข้าเมือง และถูกส่งตัวไปยัง สภ.แม่สอด ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2558

อย่างไรก็ตามภายหลังจากเกิดเหตุเครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ(Migrant Rights Promotion Working Group) ได้ตรวจสอบไปที่สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 7 มีเจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องยอมรับว่าเอกสารฉบับดังกล่าวเป็นเอกสารฉบับจริงแต่เป็นเอกสารที่มีการพิมพ์ผิดพลาด และรับอีกด้วยว่าหนังสือที่ออกในวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 เช่นเดียวกับนายวิมีข้อผิดพลาดทั้งหมด (ซึ่งไม่ทราบว่าทั้งหมดกี่ฉบับ) ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ส่งสำเนาเอกสารฉบับดังกล่าวมาให้เพื่อยืนยันว่าเป็นเอกสารฉบับที่มีการพิมพ์ผิดพลาดจริง และจากการตรวจสอบไปที่ศาลจังหวัดแม่สอด และพบว่า นายวิ ถูกส่งฟ้องที่ศาลจังหวัดแม่สอดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 คดีหมายเลขดำที่ 2191/2558 ฐานความผิดตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง และมีคำพิพากษาในวันเดียวกันเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 2163/2558 ว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฯ มาตรา 81 ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 4 เดือน ปรับเป็นเงิน 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือปรับเงินจำนวน 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษเป็นเวลา 1 ปี และนายวิถูกส่งกลับประเทศต้นทางเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 15 กรกฎคม 2558

และในเบื้องต้นนี้เครือข่ายฯได้มีหนังสือถึงสำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 7 โดยสำเนาหนังสือถึง อธิบดีกรมการจัดหางาน สำนักงานจัดหางานตาก ตม.ตาก สภ.แม่สอด และอัยการจังหวัดแม่สอด อ้างถึงความผิดพลาดในการพิมพ์ซึ่งเกิดขึ้น 2 จุด คือ วันที่ที่ระบุเป็น "วันที่ 7 กรกฎาคม 2559 " และในส่วนของชื่อซึ่งปรากฎใบบัตรประจำตัวชื่อนายวิ แต่พิมพ์ว่า "นายวิน" ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อแรงงานข้ามชาติอย่างร้ายแรงและขอให้จัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 7 ได้แก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งพอจะสรุปความเสียหายที่เกิดแก่นายวิได้หลายอย่าง เช่น 1. ถูกแจ้งข้อกล่าวหาโดยที่ตนไม่มีความผิด 2. ถูกควบคุมตัวให้ไร้อิสภาพไป 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 13 -15 กรกฎาคม 2558 3. ถูกพิพากษาให้ชำระค่าปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษเป็นเวลา 1 ปี 4. สูญเสียโอกาสในการเข้าสู่กระบวนการตรวจสัญชาติ เพื่อเป็นแรงงานที่ถูกกฎมายและการพิสูจน์สถานะบุคคลจากประเทศพม่า

"จากเหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าการสื่อสารประชาสัมพันธ์นโยบายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มแรงงานข้ามชาตินั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรและการสื่อสารกันเองระหว่างภาครัฐ เช่น กรณีเมื่อมีการพิมพ์เอกสารผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนกลับไม่พบว่ามีการแก้ไขหรือสื่อสารเพื่ออธิบายความผิดพลาดนั้นต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด อีกทั้งหากคำอ้างของเจ้าหน้าที่ประด่านที่ว่าได้ติดต่อไปเพื่อตรวจสอบแล้วแต่ไม่ได้รับความร่วมมือเป็นความจริงก็จะยิ่งเป็นการย้ำว่าปัญหานี้ถูกเพิกเฉยมากเพียงใดซึ่งส่งผลเสียร้ายแรงต่อแรงงานข้ามชาติ

นอกจากนี้ก็ยังสะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรมไทยโดยเฉพาะในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนที่ไม่ทราบว่ามีการสอบคำให้การของผู้ต้องหาในส่วนของสาเหตุในการเดินทางและเอกสารที่ใช้ประกอบการเดินทางออกนอกพื้นที่ของแรงงานรายนี้พบเพียงว่าแรงงานรับสารภาพข้อกล่าวหา ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าไม่มีการใช้ล่ามแปลภาษาในระหว่างการดำเนินการสอบสวนสอดคล้องกับมีข้อมูลจากผู้สังเกตการณ์รายหนึ่งที่สถานีตำรวจให้ข้อมูลกับเครือข่ายฯว่าขณะมีการเบิกตัวผู้ต้องหารายนี้มีผู้แปลภาษาไปเรียกผู้ต้องหาให้ลงลายมือชื่อเท่านั้น ไม่เห็นว่ามีการสอบปากคำผู้ต้องหาแต่อย่างใดและอาจจะเพราะเหตุนี้จึงทำให้ผู้ต้องหาไม่มีโอกาสได้ชี้แจงแสดงหลักฐานใดๆเพื่อแสดงว่าการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ของตนเป็นไปอย่างถูกต้อง ตนไม่ได้กระทำผิดตาม พรบ.คนเข้าเมืองตามที่ถูกกล่าวหาซึ่งนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงทำให้แรงงานรายนี้ต้องคำพิพากษาและถูกส่งกลับประเทศต้นทางในที่สุด" เครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ(Migrant Rights Promotion Working Group) ระบุ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest