กูรูด้านอาหาร-โภชนาการชู สสส. หนุนเครือข่ายทั่วประเทศ ร่วมขับเคลื่อนงานเทศกาลอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพ อร่อยได้ ไร้แอลกอฮอล์

อังคาร ๑๑ สิงหาคม ๒๐๑๕ ๑๕:๐๔
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และ โครงการเทศกาลอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพ อร่อยได้ ไร้แอลกอฮอล์ ได้จัดเวทีผนึกพลังทางสังคมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยมีตัวแทนประชาคมผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วประเทศ ตัวแทนสำนักงานเทศบาล สาธารณสุข และประชาคมงดเหล้าของจังหวัดต่างๆ เข้าร่วม พร้อมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร โภชนาการ สุขภาพ และการท่องเที่ยว เป็นวิทยากร อาทิ “แม่ช้อย นางรำ” (สันติ เศวตวิมล), อ. สง่า ดามาพงษ์, น.พ. วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์, นายบรรจบ จันทร์เจริญ, นายสุรพล กำพลานนท์วัฒน์

ทั้งนี้ ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ที่มุ่งสู่การเป็น “ครัวของโลก” ด้วยความอุดมสมบูรณ์ ความหลากหลายของอาหาร และรสชาติที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก โดยในแต่ละปีมีการจัดงานเทศกาลอาหารทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาคุณค่าและความสำคัญของวัฒนธรรมอาหารได้ถูกลดทอนลง จากการที่ธุรกิจแอลกอฮอล์ใช้เป็นช่องทางการส่งเสริมการตลาด มีเครื่องดื่มมึนเมาจำหน่ายทั่วไป และการดำเนินงานก็ให้คุณค่าและความสำคัญกับคุณภาพทางอาหารลดลง จากวิถีชีวิตที่เร่งรีบทำให้การผลิตและการบริโภคอาหารเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่คำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัย ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs – Non-Communicable Diseases อาทิ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคถุงลมโป่งพอง โรคอ้วนลงพุง เป็นต้น

ภาคีเครือข่ายด้านอาหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนนโยบายอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพ อร่อยได้ ไร้แอลกอฮอล์ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่ประชาชน โดยไม่สนับสนุนให้บริษัทเหล้าเบียร์บุหรี่ใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อโฆษณาสินค้า หรือกิจกรรมส่งเสริมการขายในพื้นที่ที่จัดเทศกาลอาหาร และร่วมกันส่งเสริมการดำเนินการเพื่อสร้างความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety)

ทั้งสุขาภิบาลอาหาร การใช้สารปรุงแต่งที่ถูกต้องปลอดภัย เมนูเพื่อสุขภาพ เกษตรอินทรีย์ การใช้บรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่ใช้โฟมเป็นภาชนะสำหรับอาหารที่ปรุงแล้ว และร่วมกันสนับสนุนอาหารพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่น ซึ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมการปรุงอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ตลอดจนส่งเสริมพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และสืบทอดวัฒนธรรมอาหาร

“แม่ช้อย นางรำ” (สันติ เศวตวิมล) กล่าวถึงเสน่ห์ของอาหารไทยที่ทำให้อร่อยได้ด้วยการคัดสรรวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพ ทั้งเนื้อสัตว์-ผักต้องสดใหม่ การเลี้ยงด้วยวิธีผิดธรรมชาติ เร่งเนื้อเร่งการเจริญเติบโต รวมถึงการตัดต่อดัดแปลงพันธุกรรมของสัตว์และพืชทำให้คุณภาพเปลี่ยนไป ทั้งยังมีการใช้สารเคมีเพื่อให้ดูสด นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับความสะอาดอย่างยิ่ง รวมถึงต้องศึกษาวิธีการปรุงอาหารด้วยความใส่ใจ และไม่ควรใช้ผงชูรส ซึ่งปัจจุบันมีการพลิกแพลงไปสู่รูปแบบต่างๆ ที่ทำให้เข้าใจว่าไม่ใช่ผงชูรส โดยส่วนใหญ่ใช้กันมากในระดับที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ผู้ประกอบการหลายคนยังมีความเชื่อผิดๆ ว่าเหล้าทำให้อาหารอร่อย

“ผู้ประกอบการร้านอาหารที่ดีต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การลดต้นทุนโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพอาหารนั้นจะเป็นอันตรายต่อลูกค้าและทำลายตัวเราเองด้วย ในส่วนของผู้บริโภคก็ต้องให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นเรื่องดีที่ สสส. รณรงค์เกี่ยวกับเรื่องอาหารปลอดภัย ลดหวานมันเค็ม ลดพุงลดโรค ตลอดจนลด ละ เลิกเหล้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท และอุบัติเหตุด้วย”

ด้าน อ. สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ กล่าวว่า “เวทีนี้ทำให้เห็นว่าผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมกำลังร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ ด้วยการสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนจากจิตสำนึกที่ดีว่าเทศกาลอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพนั้นไม่จำเป็นต้องมีธุรกิจแอลกอฮอล์เป็นผู้สนับสนุน ทำให้เป็นงานที่มีคุณค่า สร้างค่านิยมใหม่ในการจัดมหกรรมอาหารปลอดเหล้า ปลอดภัย ส่งเสริมวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านพื้นถิ่นให้เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดและเป็นงานที่ผู้คนรอคอย ซึ่งน่าชื่นชมอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต่างเห็นตรงกันว่าท้องถิ่นต้องเป็นเจ้าของงาน โดยเครือข่ายทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมบูรณาการเพื่อให้ประสบความ สำเร็จอย่างยั่งยืน”

น.ส. ณัจยา แก้วนุ้ย ผู้จัดการโครงการเทศกาลอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพ อร่อยได้ ไร้แอลกอฮอล์ ให้ข้อมูลว่า โครงการนี้อยู่ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. และ สคล. โดยดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ร่วมกับผู้ประกอบการร้านอาหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาแนวคิดขับเคลื่อนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อสุขภาพที่ดี ด้วยโภชนาการคุณภาพที่ดีของอาหาร-เครื่องดื่ม สร้างการรับรู้และความเข้าใจเพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยมีเป้าหมายให้ท้องถิ่นจัดงานเทศกาลอาหารที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันเปลี่ยนลานเบียร์ให้เป็นลานวัฒนธรรมอาหาร ส่งเสริมอาหารพื้นบ้าน อาหารท้องถิ่น ภายใต้คำขวัญ “อร่อยได้ ไร้แอลกอฮอล์” ซึ่งประสบความสำเร็จโดยยอดขายไม่ได้ลดลง และมีบรรยากาศการจัดงานแบบครอบครัวซึ่งให้ความรู้สึกปลอดภัยมากกว่าลานเบียร์ที่มีคนเมา รวมถึงผลดีอีกหลายด้านในการจัดงานเทศกาลอาหารปลอดเหล้า โดยในปีนี้ โครงการฯ จะเน้นการทำงานร่วมกับภาคีในระดับพื้นที่ให้เข้มแข็งและมีบทบาทมากขึ้น โดยจัดตั้งเป็นประชาคมร้านอาหารในจังหวัดนำร่อง 15 จังหวัด เพื่อพัฒนาศักยภาพ และยกระดับการขับเคลื่อนงานเชิงบูรณาการการทำงานในเชิงลึกร่วมกับประชาคมงดเหล้าต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4