กระทรวงอุตสาหกรรม ผลักดัน 7 ยุทธศาสตร์ ตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการไทยสู่ผู้นำ AEC

ศุกร์ ๑๔ สิงหาคม ๒๐๑๕ ๑๔:๒๓
กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าผลักดัน 7 ยุทธศาสตร์พัฒนาวงการอุตสาหกรรมไทย โดยสะท้อนออกมาจาก 7 ประเภทรางวัลอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องตามแนวทางพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้อย่างทัดเทียม อันประกอบไปด้วย 1.ยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิต 2.ยุทธศาสตร์การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 3.ยุทธศาสตร์การบริหารความปลอดภัย 4.ยุทธศาสตร์การบริหารงานคุณภาพ 5.ยุทธศาสตร์การจัดการพลังงาน 6.ยุทธศาสตร์การจัดการโลจิสติกส์ และ 7.ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งนี้ เชื่อว่ายุทธศาสตร์ข้างต้นจะสามารถยกระดับอุตสาหกรรมไทย สู่การเป็นผู้นำประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) อีกทั้งยังช่วยทำรายได้เข้าสู่ประเทศได้มากขึ้น จากการส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไปขายใน AEC ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะมีจำนวนประชากรรวมกว่า 600 ล้านคน และมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม 10 ประเทศสมาชิก รวมกันสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 62 ล้านล้านบาท

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2559 ประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะรวมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) อย่างเต็มตัว ถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อวงการอุตสาหกรรมไทย ในการนำรายได้เข้าสู่ประเทศจากการส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ออกไปขายในตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดที่มีกำลังซื้อมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะมีจำนวนประชากรรวมกว่า 600 ล้านคน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม 10 ประเทศสมาชิก รวมกันสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 62 ล้านล้านบาท ดังนั้น เพื่อยกศักยภาพและขีดความสามารถผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย ในการก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียนและเวทีโลก กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เดินหน้าผลักดัน 7 ยุทธศาสตร์สำคัญ อันสะท้อนมาจากรางวัลอุตสาหกรรม 7 ประเภท ที่มอบให้แก่สถานประกอบการที่มีระบบบริหารจัดการผ่านเกณฑ์การประเมิน ซึ่งมีวัตถุประสงค์กระตุ้นและสร้างแรงจูงใจผู้ประกอบการไทย ไม่ให้หยุดหยุดนิ่งในการพัฒนา ประกอบไปด้วย

1. ยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิต โดยการเน้นปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงาน เพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ภายใต้การควบคุมต้นทุนการผลิต ลดการสูญเสียในทุกรูปแบบ โดยผนวกเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาใช้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพพนักงานอย่างต่อเนื่อง

2. ยุทธศาสตร์การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยการกำหนดนโยบายลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงทั้งกระบวนการบริหารจัดการและการผลิต ซึ่งการใส่ใจผลกระทบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงช่วยสร้างความมั่นคงและการยอมรับจากนานาชาติเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันยังทำให้สถานประกอบการสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมรอบข้างได้อย่างยั่งยืน

3. ยุทธศาสตร์การบริหารความปลอดภัย โดยการสร้างระบบการจัดการความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพราะความปลอดภัยในการปฏิบัติงานนั้น ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของพนักงาน เมื่อการทำงานมีระบบจัดการอันตรายที่ดีและมีประสิทธิภาพ ก็ย่อมจะทำให้ผลิตภาพการทำงานดีขึ้นตามไปด้วย

4. ยุทธศาสตร์การบริหารงานคุณภาพ โดยการจัดการระบบบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญสู่ความสำเร็จ ทั้งนี้ การที่สถานประกอบการใดจะสามารถบริหารงานได้อย่างมีคุณภาพ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ปฏิบัติงานทุกคน ในการรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ

5. ยุทธศาสตร์การจัดการพลังงาน โดยการตั้งเป้าหมายในการใช้พลังงานทุกประเภทให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดปริมาณการใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งการวางนโยบายลดใช้พลังงานอย่างจริงจังนั้น ไม่เพียงส่งผลดีต่อการลดอัตราสิ้นเปลืองพลังงานของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันยังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้น้อยลงอีกด้วย

6. ยุทธศาสตร์การจัดการโลจิสติกส์ โดยการบริหารจัดการระบบการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนเวลา และต้นทุนค่าเสียโอกาส ซึ่งหากผู้ประกอบการมีระบบขนส่งสินค้าที่ดี นอกจากจะทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ ยังช่วยสร้างโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

7. ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม โดยการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการในทุกๆ ด้าน ทั้งการวิเคราะห์ตลาดความต้องการของผู้บริโภค การบริหารจัดการ การผลิต และช่องทางการตลาดและการจัดจำหน่าย เพื่อช่วยให้กิจการ SMEs ซึ่งถือเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ เพราะมีสัดส่วนทั่วประเทศมากกว่า ร้อยละ 95 สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ เชื่อว่าหากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย สามารถพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการและการผลิตสินค้าเข้าไปตีตลาดอาเซียนได้เป็นผลสำเร็จ ในภาพรวมไม่เพียงสามารถยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันได้ทัดเทียมกับนานาชาติเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันยังถือเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ดร.อรรชกา กล่าวสรุป

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ทั้ง 7 ด้าน ได้ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414-18 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือwww.facebook.com/dip.pr ขณะเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรม จะจัดพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรมประจำปี 2558 ในวันที่ 23 ก.ย. 2558 ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อิมแพคเมืองทองธานี

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐:๕๙ ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
๒๐:๓๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐:๕๒ Vertiv เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ไมโครโมดูลาร์รุ่นใหม่ที่มี AI ในเอเชีย
๒๐:๐๙ พิธีขึ้นเสาเอก เปิดไซต์ก่อสร้าง โครงการ แนชเชอแรล ภูเก็ต ไพรเวท พูลวิลล่า บ้านเดี่ยวบนทำเลทองใจกลางย่านเชิงทะเล
๒๐:๔๖ เขตบางพลัดประสาน รฟท.-กทพ. ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าสถานีรถไฟบางบำหรุ
๒๐:๕๘ ร่วมแสดงความยินดีแก่อธิบดีกรมยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๒๐:๐๓ กทม. เดินหน้าจัดกิจกรรมริมคลองโอ่งอ่าง ส่งเสริมอัตลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว
๒๐:๔๙ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พาคุณไปสัมผัสการนวดเพื่อสุขภาพจาก 4 ภูมิภาคของไทย
๒๐:๒๔ Digital CEO รุ่นที่ 7 เรียนรู้เข้มข้นต่อเนื่อง จากวิทยากรชั้นนำของวงการ
๒๐:๒๔ เด็กไทย คว้ารางวัลระดับโลก โดรนไทย ชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ UAV ณ กรุงเจนีวา