CHANG “เด็กยี้” เป็นเด็กดี

อังคาร ๐๑ กันยายน ๒๐๑๕ ๑๕:๓๖
"ไม่ค่อยช่วยงานพ่อแม่ กลับมาก็ปิดห้องเล ยเข้าโครงการนี้ทำให้เราได้ฝึก มีความอดทน มีสติและกล้าแสดงออกมากขึ้น เมื่อก่อนเป็นคนขี้เกียจก็ทำให้เราขยันทำงานมากขึ้น เปลี่ยนความคิดจากแต่ก่อนคิดว่ามันเป็นงานที่เราไม่น่าที่ต้องทำเรายังเด็ก น่าจะขอเงินพ่อแม่ใช้ แต่ความคิดเราก็เปลี่ยนว่าพ่อแม่ก็ต้องทำงานคนเดียว แกก็เหนื่อยเราก็ต้องช่วยงานพ่อแม่"

นั่นคือเสียงสะท้อนของน.ส.วัลลีย์ สารสุข (น้องนิ่ม) แกนนำเยาวชนหมู่ที่ 13 บ้านโนนกลาง โครงการทอเสื่อกก/พรมเช็คเท้า หนึ่งในแกนนำเยาวชนจาก 13 หมู่บ้าน (มีทั้งหมด 19 หมู่บ้าน) ที่เข้าร่วมในโครงงานพัฒนาเด็กและเยาวชน โครงงาน คิดดี ทำดี เพื่อตัวเอง ครอบครัวและชุมชน จัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างชุมชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเทศบาลตำบลเมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ นำทีมโดย นายจักรกฤษณ์ พาณิชย์กิจเจริญ นายกเทศมนตรี พร้อมด้วย สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว

โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการใช้โครงงานเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน เป็นกระบวนการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำเพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะชีวิต สร้างการเปลี่ยนแปลงของแกนนำเยาวชน ให้ตระหนักรู้ถึงตัวตน ภาคภูมิใจในรากเหง้า เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของตนเอง ครอบครัว และชุมชน ก่อเกิดเป็นสำนึกรักท้องถิ่น เข้าถึงแก่นแท้สำนึกพลเมืองที่ระเบิดจากภายใน ปลูกฝังความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น เชื่อมร้อยถักทอตนเอง ครอบครัวและชุมชนเพื่อเป็นฐานรากที่เข้มแข็งของท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

โครงการคิดดีทำดีเพื่อเยาวชน เริ่มต้นจากการคัดเลือกแกนนำเยาวชนที่มีใจในการทำงานเพื่อชุมชนและสนใจการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้มุ่งเน้นการฝึกฝนทักษะในการทำงานการคิด การกล้าแสดงออก และทำความรู้จักกับตัวเอง ครอบครัวและชุมชนโดยมีคุณวราภรณ์ หลวงมณี วิทยากรกระบวนการ จากสถาบันยุวโพธิชน เข้ามามีส่วนช่วยในการสร้างกระบวนการพัฒนาเยาวชนครั้งนี้ด้วย ใช้กิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาทักษะมีการเข้าค่าย 3 ครั้ง ค่ายครั้งที่ 1 รู้จักตนเอง กิจกรรมเรียนรู้นิสัย เพื่อเข้าใจจุดเด่นและปรับปรุงนิสัยของตัวเอง รู้จักศักยภาพของตนเองว่าตนเองถนัดเรื่องอะไรและจะใช้ความถนัดของตนเองให้ไปถึงเป้าหมายชีวิตได้อย่างไร กิจกรรมรู้จักเป้าหมายชีวิต อันจะนำไปสู่การเข้าใจตนเองและใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายมากขึ้น ค่ายครั้งที่2 รู้จักครอบครัวคือการเข้ามารู้จักครอบครัวของตัวเองอย่างแท้จริง ทั้งในเรื่องของจุดดีที่จะทำให้เขาภาคภูมิใจกับครอบครัวตนเองและจุดอ่อนของครอบครัวที่รู้ว่าตนเองจะมีบทบาททำให้ครอบครัวของตนดีขึ้นได้อย่างไร ค่ายครั้งที่ 3 รู้จักชุมชน เป็นการสืบค้นชุมชนและภาคภูมิใจในความเป็นท้องถิ่นของตนเองและเห็นว่าชุมชนได้ดูแลตัวเองอย่างไรและเขาจะทำอะไรเพื่อชุมชนของเขาเป็นการตอบแทนกลับคืนได้บ้าง ผ่านกิจกรรมผังเครือญาติที่ช่วยให้สามารถเชื่อมโยงและสร้างความผูกพันกับครอบครัวและเครือญาติยิ่งขึ้น ร่วมถึงการเรียนรู้เครื่องมือที่ช่วยในการสืบค้นชุมชนอย่างเป็นระบบที่จะช่วยสร้างความภาคภูมิใจและสำนึกรักท้องถิ่นพร้อมที่จะลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ชุมชนให้ดีงามด้วยมือของพวกเขาเอง หลังเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงของแกนนำเยาวชนอย่างชัดเจน น้องๆ ได้ร่วมสะท้อนครั้งนี้...

น.ส.ณัฐวดี หนุนโชค (น้องแตน) แกนนำเยาวชน หมู่ที่ 6 โครงการต้นกกมหัศจรรย์ "ช่วยส่งเสริมให้กล้าที่จะเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้น การทำโครงการต้นกกเพราะอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์และอยากให้น้องๆและเพื่อนๆ มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกัน”

น.ส.รุ่งฤทัย ชาญศรี (น้องกี้) แกนนำเยาวชนหมู่ 10 บ้านกุง โครงการทำขนมไทยใส่ใจคุณภาพ “อยากให้รู้ว่าวิธีการทำขนมเป็นอย่างไร และเห็นการร่วมมือกันของเยาวชนของหมู่บ้านของเราและอยากให้เป็นแบบอย่างของหมู่บ้านที่ไม่ได้ทำ”

นายจิรายุทธ ทองด้วง (น้องยุทธ) แกนนำเยาวชน หมู่ 13 โครงการทอเสื่อกก/พรมเช็คเท้า "สำหรับผมที่ทำโครงการนี้เพื่ออยากสืบทอดภูมิปัญญาชาวบ้าน ความคิดและเรื่องทักษะของบรรพบุรุษของเราไม่ให้สูญหายให้อยู่กับชุมชนไปยาวนาน

นายธนากร โพธิ์ขำ (น้องต้า) แกนนำเยาวชน หมู่ 16 บ้านหนองแต้ โครงการศึกษาพิธีพราหมณ์

"ป้าๆ อาๆ ทั้งหลายบอกว่าได้เอาของดีในหมู่บ้านออกมาให้คนอื่นได้ดู หมู่บ้านก็รู้สึกว่าดีใจมีแกนนำมาช่วยเหลือหมู่บ้านพัฒนาหมู่บ้านให้ดียิ่งขึ้นไป”

น.ส.ศิริวรรณ ขุมทอง (น้องแง้บ) แกนนำเยาวชน หมู่ 4 บ้านหนองม่วง โครงการไข่เค็มอัจฉริยะ

"จากที่เมื่อก่อนเป็นคนไม่ชอบมาช่วยชุมชน หลังจากได้ไปอบรมมาก็รู้สึกว่าเราต้องออกมาช่วยเขาบ้าง ไม่ใช่อยู่แต่ในบ้าน หรือออกไปเที่ยวกับเพื่อน หลังจากนั้นก็ออกมาช่วยงานของชุมชนเรื่อยๆ”และคนที่ดีใจสุดๆ กับการเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คือ “แม่” ของพวกเขานั่นเอง ได้มาร่วมสะท้อนด้วย

นางสำราญ สารสุข (แม่น้องนิ่ม) "ดีใจเพราะว่าลูกเราดีขึ้น ภูมิใจที่เห็นลูกเป็นคนที่มีความรับผิดชอบและกระตือรือล้นอยากช่วยพ่อแม่" นางจำปี สารสุข (แม่น้องแตน) "ชีวิตเขาเปลี่ยนไป เขารู้จักคิดด้วยตนเอง และมีความขยันกว่าเก่า” เสียงสะท้อนทั้งจากเยาวชนและแม่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนในด้านลักษณะนิสัยของเยาวชนหลังผ่านกระบวนการของโครงการฯ นี้แล้ว

นายจักรกฤษณ์ พาณิชย์กิจเจริญ นายกเทศมนตรีตำบลเมืองแกผู้เห็นความสำคัญของเยาวชน เสริมว่า "การพัฒนาเยาวชนก็เหมือนกับเราลงทุนเพื่อประเทศชาติเพราะว่าเยาวชนโตขึ้นก็จะได้มาพัฒนาประเทศของเราและท้องถิ่นของเราต่อไป ถ้าเราไม่ลงทุนส่วนนี้เท่ากับเราไม่ลงทุนให้ประเทศชาติ"

อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผอ.สรส. ย้ำตบท้ายว่า"โครงงานเป็นตัวเซ็ทเงื่อนไขให้เด็กได้เรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้นการทำโครงงาน ระหว่างทำโครงงาน หลังการทำโครงงาน ช่วงก่อนทำโครงงานเราสามารถที่จะกระตุ้นให้เด็กได้คิด วิเคราะห์ ตั้้งคำถาม และสืบค้นข้อมูลที่ตนเองตั้งคำถามขึ้นมา และนำข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างความรู้ สร้างผลงานที่ตัวเองจะต้องทำให้สำเร็จ สำคัญที่สุดจะต้องสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเด็กและเยาวชนในชุมชนที่ได้เรียนรู้ผ่านการทำโครงงานทั้งในด้านทักษะ ความรู้ อุปนิสัย ทัศนคติ และจิตสำนึกที่มีต่อตัวเอง ครอบครัว และชุมชน”

โครงงานทั้ง 13 ชิ้นที่ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับบ้านของตนเองได้แก่ 1.การทำตะกร้าจากวัสดุ รีไซเคิล หมู่ 1 บ้านหนองยาง 2.ทำขนมไทยหวานใจทุกวัย หมู่ 2 หนองคูน้อย 3.ปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษ(พอขัน) หมู่ 3 บ้านเมืองแก 4.ไข่เค็มอัจฉริยะ หมู่ 4 บ้านหนองม่วง 5.การทำขนมไทยวัยทีน หมู่ 5 บ้านท่าศิลา 6.ต้นกกมหัศจรรย์ หมู่ 6 บ้านโคกล่าม 7.น้ำหมักชีวภาพ หมู่ 7 บ้านโนนสวย 8.การทำขนมไทยใส่ใจคุณภาพ หมู่ 10 บ้านกุง 9.ทอเสื่อกก/พรมเช็คเท้า หมู่ 13 บ้านโนนกลาง 10.กันตรึมออนไลน์ หมู่ 14 บ้านตากแดด 11.ศึกษาพิธีพราหมณ์ หมู่ 16 บ้านหนองแต้ 12.ผลิตภัณฑ์ข้าวหลาม หมู่ 17 บ้านท่าวังหิน และ 13.การทำเครื่องจักรสาน หมู่ 18 บ้านสระบัว

และโครงการดีๆ อย่างนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาด “นักถักทอชุมชน” ของเทศบาลตำบลเมืองแกทุกคนที่เป็นผู้เชื่อมร้อยและถักทอในชุมชนเมืองแก หลังจากเข้าหลักสูตรนักถักทอชุมชน กับอ.ทรงพล และทางเทศบาลฯ ได้นำองค์ความรู้นี้ไปขยายให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมทำงานเยาวชนและการค้นหา “พี่เลี้ยง”ในชุมชน ที่เป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ ที่มีทักษะสำคัญคือการจัดการความรู้ให้กับเด็กผ่านการทำโครงการนั้นๆ เป็นผู้สนับสนุนให้โครงงานนั้นมันสำเร็จ หรือเมื่อเด็กมีปัญหา พี่เลี้ยงก็สามารถที่จะปรึกษา ทำหน้าที่ตั้งคำถามเพื่อให้เด็กได้ค้นหาคำตอบได้ด้วยตนเองปรากฏว่าทั้ง 13 ตำบลได้พี่เลี้ยงที่มีคุณภาพอย่างมาก “อยากให้น้องๆ ที่ผ่านการอบรมตรงนี้ได้ไปถ่ายทอดให้กับน้องๆ จากรุ่นสู่รุ่นต่อไป” หนึ่งในพี่เลี้ยงได้ฝากไว้

นี่คือตัวอย่างหนึ่งของเยาวชนที่ปรับเปลี่ยนนิสัยตนเองมาทำประโยชน์ให้กับครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น และ“เทศบาลตำบลเมืองแก” เป็นตัวอย่างขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนมาเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยการนำกระบวนการพัฒนาเยาวชนแบบลุ่มลึกมาใช้ โดยมีพี่เลี้ยงคือสรส.คอยให้คำปรึกษาแนะแนวทาง จากผลลัทธ์ที่เกิดขึ้นที่มองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม วันนี้อนาคตของเยาวชนตำบลเมืองแกมองเห็นความสดใสรออยู่ หากเยาวชนยังคงเลือกเส้นทางทำประโยชน์เพื่อชุมชนเช่นนี้ต่อไป...

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๖:๕๘ Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๖:๐๓ Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๖:๓๕ โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๖:๓๑ 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๖:๒๗ TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๖:๔๗ SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๖:๐๐ โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๖:๒๙ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๖:๒๘ คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital