ซีพีเอฟจับมือกรมประมงฝ่าวิกฤติโรคอีเอ็มเอส สนับสนุนลูกกุ้งที่ปราศจากเชื้อ ด้วยการเลี้ยงแบบ “เพชรบุรีโมเดล”

ศุกร์ ๑๘ กันยายน ๒๐๑๕ ๑๕:๕๕
นางมนทกานติ ท้ามติ้ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี กรมประมง เผย การจัดการบ่อเลี้ยงกุ้งในรูปแบบ "เพชรบุรีโมเดล" ที่ใช้สาหร่ายทะเลช่วยบำบัดเชื้อโรค ร่วมกับการใช้ลูกพันธุ์กุ้งของซีพีเอฟที่มีคุณภาพ และปราศจากเชื้อ ได้มีส่วนช่วยให้การเลี้ยงกุ้งได้ผลสำเร็จที่น่าพอใจ พร้อมถ่ายทอดต่อเกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้กับฟาร์มได้ทันที

ในปี 2557 ที่ผ่านมา ผลการศึกษาจากหลายหน่วยงานต่างยืนยันเป็นที่แน่นอนแล้วว่าโรคอีเอ็มเอสในกุ้งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส สายพันธุ์ AHPND ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี กรมประมง ได้พัฒนารูปแบบการเลี้ยงกุ้งเรียกว่า "เพชรบุรีโมเดล" โดยนำธรรมชาติช่วยบำบัดเชื้อที่มาของโรคในกุ้ง ด้วยการนำสาหร่าย และจุลินทรีย์ ผนวกกับการใช้ลูกพันธุ์กุ้งที่มาจากโรงเพาะฟักกุ้งที่มีมาตรฐาน และปราศจากเชื้อ ที่สามารถลดโอกาสการติดเชื้อโรคต่างๆ ที่สร้างความเสียหายให้กับกุ้งได้มากขึ้น นางมนทกานติกล่าว

ด้านน.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟสนับสนุนศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี ด้วยการผลิตลูกพันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพ ปราศจากโรค ได้มาตรฐานสูง รวมถึงใช้เครื่องมือตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียที่แม่นยำทุกขั้นตอน โดยมองว่าความร่วมมือกับกรมประมงจะมีส่วนช่วยพัฒนากระบวนการฟาร์มเลี้ยงกุ้งที่ยั่งยืน สร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ได้นำไปต่อยอดสร้างความสำเร็จในการเลี้ยงกุ้ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศต่อไป

นางมนทกานติกล่าวต่อว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี กรมประมง ได้พัฒนา "เพชรบุรีโมเดล" มาใช้กับการเลี้ยงกุ้งด้วยการจัดการบ่อเลี้ยงกุ้ง โดยนำธรรมชาติช่วยบำบัดเชื้อโรคในบ่อเลี้ยงด้วยสาหร่ายทะเล และจุลินทรีย์ พร้อมกับใช้เทคนิคการเลี้ยงแบบผสมผสาน ทั้งการให้อาหาร การลดปริมาณสารอินทรีย์ สร้างสภาพแวดล้อมของบ่อให้เกิดความสมดุลของปริมาณแบคทีเรีย เพื่อลดโอกาสการติดโรค สร้างภูมิต้านทานให้กับกุ้ง ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ การเตรียมบ่อเลี้ยงกุ้ง การเตรียมน้ำที่ใช้เลี้ยง เทคนิคการให้อาหารกุ้ง และการจัดการระหว่างการเลี้ยง

การเตรียมบ่อเลี้ยงกุ้งของเพชรบุรีโมเดล ประกอบด้วยบ่อเลี้ยงกุ้ง 1 ไร่ ต่อบ่อพักน้ำที่มีการเลี้ยงสาหร่ายทะเล 1 ไร่ โดยทั้งสองบ่อจะบำบัดเชื้อโรคการฆ่าเชื้อล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน ด้วยการใส่วัสุดปูนร้อน เช่น ปูนเปลือกหอยเผา พร้อมกับจุลินทรีย์ คราดเลนออกจากก้นบ่อ พร้อมมีระบบเพิ่มอากาศก้นบ่อเลี้ยงกุ้ง เพื่อเตรียมบ่อให้สะอาดก่อนการปล่อยน้ำสำหรับการเลี้ยงกุ้ง และเลี้ยงสาหร่ายทะเลต่อไป

สำหรับบ่อพักน้ำที่ใช้เลี้ยงสาหร่ายทะเลขนาด 1 ไร่ ติดตั้งราวไม้ไผ่จำนวน 4 ราวสำหรับแขวนแผงเลี้ยงสาหร่ายทะเลหนักประมาณ 5-10 กิโลกรัม สำหรับชนิดของสาหร่ายทะเลต้องเลือกให้เหมาะสมกับระดับความเค็ม ซึ่งที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรีเลือกใช้สาหร่ายพวงองุ่น ที่เหมาะกับความเค็ม 25-30 ส่วนต่อน้ำทะเลพันส่วน บ่อเลี้ยงสาหร่ายจะทำหน้าที่เป็นบ่อพักและบำบัดน้ำที่ผันเข้ามาเพื่อใช้เลี้ยงกุ้ง สาหร่ายทะเลจะช่วยให้น้ำสะอาด ใสขึ้น ช่วยควบคุมแบคทีเรียและแพลงตอนให้ลดลง รวมทั้งทำหน้าที่ผลิตออกซิเจนเติมให้กับน้ำอีกด้วย โดยใช้เวลาพักและบำบัดน้ำและปรับความเค็ม 2 สัปดาห์ก่อนถ่ายน้ำเข้าสู่บ่อเลี้ยงกุ้ง พักน้ำไว้ประมาณ 7 วันก่อนปล่อยลูกกุ้งลงสู่บ่อเลี้ยง โดยใช้อัตราการปล่อยลูกกุ้ง 1 แสนตัวต่อบ่อ 1 ไร่

ส่วนเทคนิคการเลี้ยง จะมีการปรับการให้อาหารเพื่อลดปริมาณสารอินทรีย์ในช่วงแรกของการเลี้ยง จึงให้อาร์ทีเมียตัวเต็มวัยแทนอาหารกุ้ง ใส่ในบ่อเลี้ยงประมาณ 10 กิโลกรัมต่อกุ้ง 100,000 ตัว ก่อนปล่อยลูกกุ้ง 1 วัน และให้ต่อเนื่องในช่วง 7 วันแรกของการเลี้ยง เมื่อครบ 7 วัน จึงให้อาหารสำเร็จรูปทั้ง 5 มื้อ เพื่อรักษาสมดุลของจุลินทรีย์และควบคุมเชื้อแบคทีเรียในตัวกุ้ง โดยเติมจุลินทรีย์ที่ผ่านการหมักทั้งในอาร์ทีเมียและอาหารเม็ดก่อนให้กุ้งกิน ในอัตราส่วน 1 ลิตรต่ออาร์ทีเมีย 1 กิโลกรัม นอกจากนี้อาจมีการเสริมวิตามินและแร่ธาตุต่างๆในอาหาร เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานและช่วยให้กุ้งลอกคราบดีขึ้น

ในช่วงเดือนแรกของการเลี้ยงไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ หลังจากนั้น จึงเติมหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำโดยทำการหมุนเวียนน้ำระหว่างบ่อเลี้ยงกุ้งและบ่อเลี้ยงสาหร่ายทุกสัปดาห์ หรือตามความเหมาะสม และในระหว่างการเลี้ยงจะมีการเติมจุลินทรีย์ ปม.1 เพื่อรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในน้ำอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการเลี้ยง

นางมนทกานติกล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรียังเน้นให้ความสำคัญกับลูกกุ้งที่มีคุณภาพ แข็งแรง ที่มาจากโรงเพาะฟักลูกกุ้งที่มีกระบวนการจัดการการเลี้ยงที่มีมาตรฐานสูง รวมทั้งการควบคุมคุณภาพและตรวจสอบคุณภาพอย่างเคร่งครัดจนมั่นใจได้ว่าลูกกุ้งปราศจากเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค และจากการที่ศูนย์ทดลองใช้พันธุ์ลูกกุ้งของซีพีเอฟมา 4 รอบการเลี้ยงที่ผ่านมา ใช้ระยะการเลี้ยง 70 วันประสบความสำเร็จทุกรุ่น ผลผลิต 1,025 กิโลกรัมต่อไร่ ขนาดกุ้งที่จับได้ประมาณ 80 ตัวต่อกิโลกรัม มีอัตราแลกเนื้อประมาณ 1.25 กุ้งมีอัตรารอดร้อยละ 82 ทั้งนี้กรมประมงยังได้ถ่ายทอดแนวทางการจัดการบ่อกุ้ง แบบเพชรบุรีโมเดล และการใช้พันธุ์ลูกกุ้งที่มีมาตรฐานสู่เกษตรกรเพื่อสร้างผลผลิตกุ้งที่ดีต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๘ เม.ย. Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๘ เม.ย. Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๘ เม.ย. โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๘ เม.ย. 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๘ เม.ย. TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๘ เม.ย. SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๘ เม.ย. โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๘ เม.ย. หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๘ เม.ย. คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital