ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ส.ค. ลดลงต่อเนื่อง คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นทุกระดับอุตสาหกรรม และทุกภูมิภาค

จันทร์ ๒๑ กันยายน ๒๐๑๕ ๑๑:๑๑
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนสิงหาคม 2558 จำนวน 1,204 ราย ครอบคลุม 44 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 30.8,33.4 และ 35.8 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 42.9,12.9,12.5,11.9 , และ 19.8 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 82.7และ17.3 ตามลำดับ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 82.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 83.0 ในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ค่าดัชนีฯที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ในเดือนสิงหาคม 2558 ปรับตัวลดลง เป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน จากความกังวลต่อภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ การหดตัวของการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตรที่ประสบปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ทำให้การใช้จ่ายจึงเป็นไปอย่างระมัดระวัง ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบางและมีความเสี่ยงสูง ภายใต้ภาวะการแข่งขันที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่ ในการเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ การช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs และภาคเกษตร ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภค และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 101.2 ในเดือนกรกฎาคม โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนเดือนสิงหาคม 2558 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯของอุตสาหกรรมทุกขนาด ปรับตัวลดลงจากเดือนกรกฎาคม

โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 72.9 ลดลงจากระดับ 73.2 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 98.0 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดกลาง มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 79.2 ลดลงเล็กน้อยจาก 79.4 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม,อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์,อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ เป็นต้นขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.2 เพิ่มขึ้นจาก 101.3 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 93.5ลดลงจากระดับ 95.0 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม,อุตสาหกรรมพลาสติก,อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ อยู่ที่ระดับ 104.0 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 103.9 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนสิงหาคม 2558 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯของทุกภูมิภาค ปรับตัวลดลงจากเดือนกรกฎาคม

ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 83.4 ลดลงจากระดับ 84.8 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลงในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (เนื่องจากตลาดยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น มีการชะลอคำสั่งซื้ออาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป จากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และขาดแคลนวัตถุดิบประเภทอาหารทะเล) อุตสาหกรรมพลาสติก (มียอดสั่งซื้อภาชนะพลาสติกบนโต๊ะอาหารลดลงจากตลาดในประเทศ และต่างประเทศเช่น มาเลเซียและฮ่องกง, ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนพลาสติก ที่เป็นส่วนประกอบของอุตสาหกรรมต่างๆ มียอดส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น,ออสเตรเลียและยุโรป ลดลง) อุตสาหกรรมอลูมิเนียม (ผลิตภัณฑ์ประเภทชิ้นส่วนประกอบบานประตู บานพับต่างๆ เทปอลูมิเนียมฟอยล์ แบบมีเส้นใย มียอดขายในประเทศลดลง, สินค้าประเภทลวดสแตนเลส มียอดการส่งออกไปตลาดเอเชียและยุโรป ลดลง) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง (ผลิตภัณฑ์หนังสัตว์ฟอกมียอดสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น อิตาลี จีน และออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น ,ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังประเภท เข็มขัด กระเป๋าเอกสาร กระเป๋าสตางค์ มียอดการส่งออกไปประเทศอิตาลี ออสเตรเลีย และเบลเยี่ยม เพิ่มขึ้น) โดยมีดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 101.2 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ภาคเหนือ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 77.2 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 77.4 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ หัตถอุตสาหกรรม (ผลิตภัณฑ์ประเภทหัตถกรรมฝีมือต่างๆ มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากเป็นช่วง low season และช่วงฤดูฝน จึงทำให้นักท่องเที่ยวลดลง) อุตสาหกรรมเซรามิก (ผลิตภัณฑ์ภาชนะเซรามิก มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและไต้หวัน ลดลง ขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว) อุตสาหกรรมสิ่งทอ (สินค้าประเภทเส้นด้าย ไหมทอ มียอดสั่งซื้อจากประเทศจีน และญี่ปุ่นลดลง ,สำหรับผ้าขนสัตว์เทียม มียอดการส่งออกไปประเทศจีนและยุโรป ลดลง ขณะที่สินค้าผ้าไหม มียอดขายในประเทศลดลง) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสมุนไพร(ผลิตภัณฑ์สมุนไพรสกัด มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และเวียดนาม เนื่องจากสมุนไพรไทยกำลังได้รับความนิยม ขณะที่ยาสุมนไพร ประเภทยาบำรุงร่างกาย มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการออกงานแสดงสินค้าเพื่อกระตุ้นยอดขาย) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 104.4 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 78.4 ลดลงจากระดับ 79.0 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ผลิตภัณฑ์ประเภทหินก่อสร้าง หินลาย มียอดขายในประเทศลดลงแผ่นหินแกรนิตมียอดคำสั่งซื้อจากประเทศ ลาว พม่าและกัมพูชาลดลง) อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม(เสื้อผ้าสำเร็จรูปมียอดสั่งซื้อลดลง จากตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ขณะที่ยอดขายในประเทศลดลงเช่นกัน) อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ (สื่อสิ่งพิมพ์ ประเภทโบรชัวร์ แคตตาล็อก วารสาร มียอดการผลิตลดลง ,ป้ายพิมพ์โฆษณา มียอดสั่งซื้อในประเทศลดลง) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (อุปกรณ์การเกษตร มียอดขายเพิ่มขึ้น ขณะที่ชิ้นส่วนเครื่องจักรการเกษตร เช่น เครื่องสีข้าว,รถไถนา มียอดขายในประเทศ เนื่องจากเกษตรกรมีปรับปรุงซ่อมแซมเครื่องจักร เพื่อเตรียมรองรับการผลิตช่วงสิ้นปี) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 99.3 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ภาคตะวันออก มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในสิงหาคม 2558 อยู่ที่ 84.1 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 84.3 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (สินค้าประเภทเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และมอเตอร์ขนาดเล็ก มียอดสั่งซื้อจากตลาดอาเซียนลดลง ขณะที่สินค้าประเภทคอมเพรสเซอร์มียอดขายในประเทศลดลง) อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ผลิตภัณฑ์โทลูอีนและไซลีนซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสี ทินเนอร์ เส้นใย มียอดขายในประเทศลดลง รวมทั้งยอดขายสารเคมีและเคมีภัณฑ์ในประเทศลดลง) อุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็คทรอนิกส์และโทรคมนาคม (ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากการจับจ่ายภายในประเทศลดลง ประกอบกับมีสต๊อกสินค้าจำนวนมากทำให้การผลิตลดลง ,สินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ มียอดการส่งออกไปประเทศจีน ญี่ปุ่นลดลง)ส่วน อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (สินค้าประเภทเครื่องมืออุตสาหกรรม เครื่องจักรกลบรรจุภัณฑ์ และเครื่องจักรกลพื้นฐาน มียอดสั่งซื้อจากกลุ่มประเทศอาเซียน เพิ่มขึ้น,ขณะที่ชิ้นส่วนเครื่องจักรกลโลหะการ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีการปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 100.1 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

และ ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนสิงหาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 85.0 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 85.3 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบ ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (แผ่นยางดิบและยางแผ่นรมควัน มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศจีนลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว, น้ำยางข้นมีผลผลิตลดลง เนื่องจากมีฝนตกชุก ทำให้ไม่สามารถกรีดน้ำยางได้) อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์มดิบ มียอดการส่งออกไปตลาดในเอเชียลดลงเนื่องจากประเทศคู่ค้าชะลอการสั่งซื้อ ประกอบกับราคาผลปาล์มดิบมีราคาลดลง) อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ผลิตภัณฑ์ประเภทไม้ยางพาราแปรรูปมียอดคำสั่งซื้อจากประเทศจีน อินโดนีเชีย ลดลง เนื่องจากลูกค้ามีสต๊อกสินค้าจำนวนมาก ขณะที่คำสั่งซื้อไม้แปรรูปในประเทศชะลอตัว) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.2 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจ พบว่า ในเดือนสิงหาคม 2558 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากในเดือนกรกฎาคม

กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 80.8 ปรับตัวลดลงจาก 81.7 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น, อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 101.0 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนี ความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 89.8 ลดลงจากระดับ 90.2 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ, อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น,อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเลคทรอนิกส์และโทรคมนาคม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 102.3 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดำเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2558 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนสิงหาคม ได้แก่ เร่งออกมาตรการลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร วัสดุและปัจจัยการผลิต เพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน พร้อมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในการใช้ Software ทางบัญชีที่ได้มาตรฐานและมีการฝึกอบรมการใช้อย่างถูกต้อง รวมถึงจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าชายแดนเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่ง และสนับสนุนการขยายฐานส่งออกสินค้า SMEs และให้ความรู้ผู้ประกอบการในการเข้าถึงช่องทางการตลาดในต่างประเทศ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๖:๕๘ Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๖:๐๓ Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๖:๓๕ โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๖:๓๑ 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๖:๒๗ TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๖:๔๗ SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๖:๐๐ โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๖:๒๙ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๖:๒๘ คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital