กรีนพีซจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในประเทศไทย พบหลายแบรนด์ยังห่างไกลต่อมาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทาน

ศุกร์ ๐๒ ตุลาคม ๒๐๑๕ ๑๔:๓๕
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยการจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องฉบับแรกของประเทศไทย โดยระบุว่าผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องส่วนใหญ่ที่ขายในประเทศยังขาดมาตรฐานขั้นพื้นฐานว่าด้วยความยั่งยืน

รายงาน "จากทะเลสู่กระป๋อง: การจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในไทย" ได้ประเมินแบรนด์ทูน่ากระป๋องที่ขายในประเทศและแบรนด์ที่ขายเฉพาะในซูเปอร์มาร์เก็ต (1) ทั้งหมด 14 แบรนด์ และพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีมาตรการเพียงพอในด้านการตรวจสอบย้อนกลับ ความยั่งยืน และความเป็นธรรม ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมปลาทูน่า

ผลการประเมินผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง 14 แบรนด์ที่จัดจำหน่ายในประเทศไทย พบว่ามี 5 แบรนด์อยู่ในเกณฑ์ "ควรปรับปรุง" และ 9 แบรนด์อยู่ในเกณฑ์ "พอใช้" แบรนด์ที่อยู่ในเกณฑ์ควรปรับปรุงและอยู่ในอันดับรั้งท้าย ได้แก่ ท็อปส์ อะยัม บิ๊กซี โฮม เฟรช มาร์ท และโรซ่า จากการตรวจสอบทั้ง 14 แบรนด์ไม่มีแบรนด์ใดเลยที่ได้รับคะแนน "ดี" แสดงให้เห็นว่า แต่ละแบรนด์ต้องพยายามมากขึ้นในการดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืน

"เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่อุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องต้องรับประกันว่าผลิตภัณฑ์ของตนสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าใช้วิธีการจับปลาแบบใด เกี่ยวข้องกับการขนถ่ายปลาทูน่ากลางทะเล การทำประมงที่ผิดกฎหมาย การใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง หรือมีการปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงานหรือไม่ การดำเนินนโยบายการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์เป็นขั้นตอนแรกสุดและมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องทะเลและมหาสมุทรซึ่งจะช่วยต่อกรกับการทำประมงแบบผิดกฎหมายและทำลายล้าง รวมถึงการปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน" อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

การจัดอันดับความยั่งยืนปลาทูน่ากระป๋องในไทยประเมินจากการส่งแบบสอบถามที่ส่งไปยังผู้ผลิตทั้ง 14 แบรนด์ โดยสอบถามถึงนโยบายและการปฎิบัติในการจัดหาวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า รวมถึงเครื่องมือประมงที่ใช้ในการจับปลาทูน่าว่ามีการทำลายทรัพยากรและสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น การจับฉลามเพื่อเอาครีบหรือไม่ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ถึงแหล่งที่มาได้หรือไม่ นอกจากนี้ ยังสอบถามถึงความเป็นธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมของในแต่ละแบรนด์ สภาพการทำงานที่ย่ำแย่และการปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงานในอุตสาหกรรมปลาทูน่า

จากการจัดอันดับพบว่า ทีซีบี ได้รับคะแนนสูงสุดกว่าแบรนด์อื่น แต่ยังไม่ได้จัดอยู่ในระดับที่ " ดี" ทีซีบี ทำคะแนนมากในด้านการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์มีนโยบายในเรื่องแหล่งที่มา อย่างไรก็ตาม ทีซีบี ยังต้องปรับปรุงในด้านความยั่งยืนและเป็นธรรม เนื่องจากใช้ปลาทูน่าครีบเหลืองและปลาทูน่า Tonggol ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์นี้มีปัญหาในเรื่องจำนวนประชากรรวม และการจับปลาทูน่าทั้งสองสายพันธุ์นี้ถูกจับมาด้วยวิธีการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน โดยใช้อวนล้อมร่วมกันกับเครืองมือล่อปลา (FAD) ซึ่งเป็นสาเหตุปัญหาของการจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่เป้าหมาย

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลก(3) และยังเป็นประเทศที่ผู้นำเข้าปลาทูน่ารายใหญ่ที่สุดในโลกโดยการนำเข้าปลาทูน่าราว 800,000 ถึง 850,000 ตันต่อปี (ข้อมูลปี 2551) เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมทูน่ากว่า 50 โรงงาน และร้อยละ 90 ของการนำเข้ามาจากมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและตะวันตก โดยส่วนที่เหลือมีแหล่งที่มาจากมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันตก (4)ล่าสุด มีรายงานหลายฉบับเกี่ยวกับการทำประมงอย่างผิดกฎหมาย และการปฎิบัติต่อแรงงานอย่างไม่เป็นธรรมในห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จากปัญหาดังกล่าวทำให้สหรัฐอเมริกาจัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ใน เทียร์ 3 ซึ่งเป็นอันดับที่แย่ที่สุดในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ปี 2558 (Trafficking in Persons Report : TIP) และประเทศไทยยังล้มเหลวในการดำเนินมาตรการที่เพียงพอในการต่อกรกับการประมงผิดกฏหมาย ไม่รายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing)โดยได้รับใบเหลืองจากคณะกรรมธิการสหภาพยุโรป ทั้งหมดนี้เป็นภัยคุกคามต่อความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทยในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลและอื่นๆ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เปิดเผยรายงาน "การจัดอันดับโรงงานปลาทูน่ากระป๋องในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์" (5) และพบว่าโรงงานปลาทูน่ากระป๋องในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียส่วนใหญ่ยังขาดมาตรฐานระดับสากลในด้านการดำเนินการอย่างรับผิดชอบ ทั้งในด้านการตรวจสอบย้อนกลับ ความยั่งยืน และความเป็นธรรม

"การขาดการตรวจสอบย้อนกลับ และความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานทูน่ายังเป็นปัญหาที่พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้มีบทบาทในตลาด อุตสาหกรรมปลาทูน่าและอาหารทะเลจะต้องส่งเสริมมาตรฐานด้านแรงงาน และการตรวจสอบย้อนกลับให้เข้มแข็งโดยการพัฒนานโยบายการจัดหาวัตถุดิบที่สาธารณะชนเข้าถึงได้และทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ อุตสาหกรรมปลาทูน่ารายใหญ่เองก็มีความรับผิดชอบ ในการร่วมกับผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องที่ก้าวหน้าในการสร้างอุตสาหกรรมปลาทูน่าที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น การที่ตลาดยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่สร้างความเสียหายต่อมหาสมุทรของเราก็จะหมายถึงความเสียหายสำหรับธุรกิจด้วย" อัญชลีกล่าวเพิ่มเติม

"ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีการตรวจสอบย้อนกลับ ความยั่งยืนและความเป็นธรรม" อัญชลี กล่าวสรุป

รายงาน "จากทะเลสู่กระป๋อง : การจัดอันความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในไทย" เป็นส่วนหนึ่งในงานรณรงค์ระดับโลกของกรีนพีซเพื่อผลักดันให้เกิดการประมงปลาทูน่าที่เป็นธรรมและยั่งยืนเพื่อปกป้องมหาสมุทรและผู้คนที่พึ่งพามหาสมุทร สามารถดูรายงาน "จากทะเลสู่กระป๋อง : การจัดอันความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในไทย" ฉบับเต็มได้ที่

www.greenpeace.or.th/s/Thailand-canned-tuna-ranking

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4