ทางเลือกเพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นธรรมการใช้ทรัพยากร “น้ำ” ลดขัดแย้งซ้ำซาก

จันทร์ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๐๑๕ ๑๐:๐๖
"ทีดีอาร์ไอเผยผลงานวิจัยชี้ว่า การเจรจาต่อรองระหว่าง เกษตรกรที่อยู่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สามารถเป็นทางออกที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และความเป็นธรรมของการจัดสรรทรัพยากรน้ำ และลดความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก"

ภาพอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบัน ทำให้เกิดภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้หลายภาคส่วนได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะภาคเกษตร ซึ่งเจอปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเพาะปลูก นอกเหนือจากสภาพอากาศที่แปรปรวนแล้วการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในอนาคตยังจะส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาภัยแล้งยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิด "ศึกแย่งชิงน้ำ" และเกิดความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำ โดยเฉพาะระหว่างกลุ่มเกษตรกรต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรต้นน้ำสามารถสูบน้ำได้ก่อน ดังนั้นในช่วงหน้าแล้ง น้ำอาจจะไม่เหลือให้กลุ่มปลายน้ำใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งใกล้เคียงกับสถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบัน

กุญแจสำคัญอันหนึ่งในการช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง คือ การเพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการจัดสรรน้ำที่มีจำกัด

ดร. ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ในโครงการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก International Development Research Centre (IDRC) มองว่า ปัญหาดังกล่าวสะท้อนถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบการจัดสรรน้ำระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำต่างๆ อย่างเป็นธรรม

เพื่อหาคำตอบให้ปัญหาดังกล่าว ทีดีอาร์ไอได้มีโครงการวิจัยเชิงทดลอง (Behavioral and Experimental Research) เพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำกลุ่มต่างๆ เพื่อ ลดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำและจัดสรรทรัพยากรน้ำร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม โดยได้เชิญกลุ่มตัวแทนเกษตรกรจากพื้นที่ภาคกลางมาร่วมแสดงบทบาทเป็น "ชาวนา" ในแบบจำลองพื้นที่การเกษตรที่ได้ถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งในแบบจำลองนี้ชาวนาแต่ละคนมีที่นาสำหรับปลูกข้าวเป็นของตนเอง โดยมีน้ำเป็นปัจจัยในการผลิต

ทั้งนี้ ชาวนาจะถูกสุ่มให้ไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ในแบบจำลอง โดยชาวนาที่ถูกกำหนดบทบาทให้อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำได้รับน้ำก่อน ซึ่งชาวนากลุ่มนี้สามารถร่วมกันตกลงกับสมาชิกในกลุ่มว่า จะสูบน้ำไว้เพื่อใช้ในการเพาะปลูกปริมาณมากน้อยเพียงใด จากนั้นน้ำที่เหลือจะไหลไปสู่กลางน้ำ และปลายน้ำตามลำดับ และเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวนาตัดสินใจเสมือนกับทำการเกษตรจริง ในตอนท้ายของการทดลอง ชาวนาจะได้รับเงินในจำนวนเท่ากับมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตได้ตลอดการทดลองตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยในการทดลองแต่ละรอบ หรือแต่ละ "ปีการเพาะปลูก" จะแบ่งออกเป็น 2 ฤดู เริ่มจากฤดูฝนซึ่งมีปริมาณน้ำถูกปล่อยออกมามากและเพียงพอสำหรับใช้ในการเพาะปลูก ตามด้วยฤดูแล้งซึ่งมีปริมาณน้ำถูกปล่อยออกมาน้อยและไม่เพียงพอต่อความต้องการ และในบางปีจะแล้งจัดซึ่งปริมาณน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจะน้อยกว่าฤดูแล้งทั่วไป

นักวิจัยได้จำลองสถานการณ์ (Treatment) ที่มีการกำหนดเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกเป็น 3 สถานการณ์ เพื่อศึกษาว่าสถานการณ์ใดสามารถทำให้ชาวนาในแต่ละพื้นที่ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและมีการจัดสรรอย่างเป็นธรรมมากที่สุด โดย สถานการณ์ที่ 1 กำหนดให้ชาวนาสูบน้ำเพื่อทำการเกษตรตามปกติ โดยไม่มีการพูดคุยกันระหว่าง ต้นน้ำกลางน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ (Control Treatment) ในขณะที่สถานการณ์ที่ 2 กำหนดให้ชาวนาทุกกลุ่มสามารถเจรจาต่อรองกันก่อนมีการปล่อยน้ำว่าแต่ละกลุ่มต้องการสูบน้ำในปริมาณเท่าไร ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง (Negotiation Treatment) และสถานการณ์ที่ 3 กำหนดให้ชาวนาทุกกลุ่ม สามารถทำการซื้อขายน้ำข้ามกลุ่มได้หลังจากมีการเจรจาต่อรองกันแล้ว (Trade Treatment)

ผลจากการทดลองพบว่า ในสถานการณ์ที่มีการเจรจาต่อรอง และสามารถซื้อขายน้ำข้ามกลุ่มได้ ชาวนาจะสามารถผลิตข้าวได้มูลค่ารวมกันสูงกว่าสถานการณ์ที่ไม่มีการเจรจาต่อรอง ภายใต้ทรัพยากรน้ำปริมาณเท่ากันซึ่งหมายความว่าชาวนาใช้น้ำได้มีประสิทธิภาพมากกว่าหากมีการเจรจาต่อรองกัน หรือมีการซื้อขายน้ำกันเมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่ไม่มีการเจรจากันข้ามกลุ่ม

ผลการศึกษายังพบอีกว่าในสถานการณ์ที่มีการเจรจา ชาวนาที่อยู่ปลายน้ำจะมีรายได้จากการปลูกข้าวสูงขึ้นจนใกล้เคียงกับชาวนาที่อยู่ต้นน้ำและกลางน้ำ นั้นหมายความว่าการเจรจาระหว่างชาวนาช่วยสร้างความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรน้ำระหว่างลุ่มน้ำได้

นอกจากนี้ นักวิจัยได้เก็บข้อมูลความคิดเห็นจากเกษตรกรที่ได้ประสบการณ์ทั้งสามสถานการณ์ เกี่ยวกับความพึงพอใจในการบริหารน้ำในแต่ละรูปแบบ แล้วพบว่าเกษตรกรพึงพอใจและต้องการให้เกิดการเจรจากันระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อตกลงปริมาณน้ำที่จะสูบ มากกว่าสถานการณ์ที่ไม่สามารถพูดคุยกันระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำ หรือสถานการณ์ที่มีการซื้อขายน้ำกัน

ดังนั้น ถึงแม้ว่าการที่ชาวนาสามารถซื้อขายน้ำได้จะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารน้ำและเพิ่มความเป็นธรรม แต่ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ใช้น้ำไม่นิยมที่จะให้มีการจัดการน้ำในรูปแบบนี้

การเจรจาระหว่างชาวนาต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอีกสองสถานการณ์ ซึ่งสามารถนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม เนื่องจากชาวนาที่อยู่ในพื้นที่ท้ายน้ำซึ่งมีความเสียเปรียบด้านทำเลที่ตั้งจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชาวนาต้นน้ำและกลางน้ำ

ดังนั้น รัฐบาลควรสร้างกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรจากต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ สามารถเจรจาต่อรองเรื่องน้ำร่วมกัน และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำด้วยตนเอง ซึ่งในปัจจุบันมีหลายพื้นที่ๆ ใช้แนวทางนี้ ยกตัวอย่างเช่นพื้นที่ "เขื่อนกระเสียว" จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งนับเป็นตัวอย่างที่ดีของการบริหารจัดการน้ำโดยเกษตรกรผู้ใช้น้ำ "ตัวจริง" ในขณะที่บางพื้นที่ การบริหารจัดการน้ำยังคงเป็นอำนาจหน้าที่ของทางราชการ หรือผู้มีตำแหน่งทางปกครองซึ่งอาจไม่สามารถการันตีได้ว่าการจัดสรรทรัพยากรน้ำจะมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม การทำให้กลไกแบบใหม่นี้มีประสิทธิผล ภาครัฐควรมีส่วนร่วมโดยการเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ช่วยสนับสนุนการเจรจาระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำ และเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหากมีความขัดแย้งเกิดขึ้น

เผยแพร่โดย

ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ

โทร.02-270-1350 ต่อ 113 หรือ 083-0648163

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4