CAC: ผู้นำธุรกิจมองปัญหาทุจริตรุนแรงลดลงแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง

อังคาร ๑๒ มกราคม ๒๐๑๖ ๑๗:๐๗
ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) เปิดเผยผลการศึกษาการคอร์รัปชันในประเทศไทย ซึ่งได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของกรรมการบริษัทและผู้นำธุรกิจเกี่ยวกับสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในช่วงปลายปี 2558 ว่า 48% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความเห็นว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยได้ลดลงต่อเนื่องในช่วงสองปีที่ผ่านมา ในขณะที่มีเพียง 24% ที่มองว่าปัญหารุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม 90% ยังเห็นว่าปัญหาการทุจริตในประเทศไทยในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับที่สูงถึงสูงมาก

จากการสำรวจความคิดเห็นของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทเอกชนจำนวน 828 คนในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2558 พบว่า 44% ของผู้ตอบเชื่อมั่นสูงถึงสูงมากว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันสามารถแก้ไขให้หมดไปได้ในอนาคต เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 35% ในการศึกษาครั้งก่อนในปี 2556 และมีเพียง 12% ของผู้ตอบที่เห็นว่าการทุจริตทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% โดยเป็นสัดส่วนที่ลดลงอย่างมากจากการศึกษาเมื่อปี 2556 ที่ 52% ของผู้ตอบเห็นว่าการทุจริตทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ซึ่งชี้ว่าการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา

เมื่อพิจารณาถึงกระบวนการของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเกิดการทุจริต กรรมการบริษัทและผู้นำธุรกิจมีความเห็นว่า กระบวนการด้านการขอจดทะเบียนธุรกิจ ทะเบียนการค้า และการจัดตั้งบริษัทมีการปรับปรุงดีขึ้นมากที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (20%) รองลงมาคือ กระบวนการทางภาษี/สรรพากร (14%) และการจดทะเบียนและขออนุญาตต่างๆ ทางธุรกิจ (11%) โดยกลยุทธ์การแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชันที่กรรมการบริษัทและผู้นำธุรกิจมองว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชันในระดับมหภาค (32%) รองลงมาคือ การประกาศรายชื่อและย้ายข้าราชการที่พัวพันการทุจริต (11%)

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่า ผู้นำธุรกิจและกรรมการบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและมีความตื่นตัวกับบทบาทของภาคเอกชนในการต่อต้านทุจริตมากขึ้น โดย 85% เห็นพ้องกันว่าภาคเอกชนมีบทบาทสูงถึงสูงมากในการลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 72% ในการศึกษาเมื่อปี 2556 ในขณะที่ 65% ของผู้ตอบแบบสอบถามแสดงเจตนาที่จะให้ความร่วมมือในการต่อต้านทุจริตอย่างแน่นอน และอีก 33% พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ หากมีแผนงานที่ดำเนินการได้

รูปแบบของการทุจริตคอร์รัปชันที่เชื่อว่าเกิดขึ้นบ่อยที่สุด ได้แก่ การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคพวกของตน (18%) การให้ของขวัญหรือการติดสินบน (16%) และการทุจริตเชิงนโยบาย โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (15%) ส่วนกระบวนการที่ถูกมองว่ามีโอกาสเกิดการทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุดได้แก่ การจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐและการจัดการประมูลโครงการของภาครัฐ (28%) รองลงมาคือ การจดทะเบียนและขอใบอนุญาตต่างๆ (18%) ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มที่จะเกี่ยวข้องกับการทุจริตสูงที่สุดได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (13%) กลุ่มสาธารณูปโภค (12%) กลุ่มพลังงาน (12%) กลุ่มก่อสร้าง (11%) และกลุ่มโทรคมนาคม (10%)

ทั้งนี้ หากสามารถขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันให้หมดไปจากประเทศไทยได้ 79% เห็นว่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างน้อยอีก 10% โดยผลประโยชน์ที่ภาคธุรกิจคาดว่าจะได้รับ ได้แก่ ต้นทุนทางธุรกิจที่ต่ำลง (27%) มีโอกาสในการแข่งขันในตลาดและสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้น (19%) และมีการแข่งขันด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์มากขึ้น (16%)

สำหรับสิ่งที่กรรมการบริษัทและผู้นำธุรกิจต้องการให้รัฐบาลดำเนินการมากที่สุดในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และมีมาตรการลงโทษอย่างเด็ดขาดต่อทั้งผู้ให้ และผู้รับสินบน (25%) การตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองและข้าราชการ (16%) การสร้างจิตสำนึกของประชาชนว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ (9%) การสนับสนุนให้เครือข่ายภาคธุรกิจ/ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบเฝ้าระวัง และแจ้งเบาะแสข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชัน (8%) ส่วนสิ่งที่อยากเห็นภาคเอกชนดำเนินการมากที่สุด คือ การกำหนดนโยบายในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ (35%) การรวมตัวของหลายภาคส่วนเพื่อกำหนดแนวทางในการต่อต้านการทุจริต (19%) การสร้างระบบบริหารจัดการ/ระบบการทำงานที่สามารถตรวจสอบได้ (13%)

"ผลการศึกษารอบล่าสุดนี้ชี้ว่าเราเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ความก้าวหน้าเริ่มมีบ้าง แต่ปัญหายังเป็นปัญหาใหญ่ที่ 90% มองว่ายังอยู่ในระดับที่สูงและสูงมาก จำเป็นที่ภาคเอกชนจะต้องสร้างเครือข่ายแนวร่วมในการต่อต้านทุจริตให้เข้มแข็งและมีพลังมากยิ่งขึ้นเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา และน่ายินดีว่านักธุรกิจให้การยอมรับมากขึ้นว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข และพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ดังนั้นในระยะต่อไป เราทุกคนต้องช่วยกันผลักดันการแก้ไขให้เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง" ดร. บัณฑิต กล่าว

Background

CAC ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำนโยบายและมาตรฐานการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการคอร์รัปชันในระดับบริษัทธุรกิจไปปฏิบัติ บทบาทของ CAC จะเน้นในส่วนของบริษัทเอกชนด้วยการพยายามให้มีการนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง โดย CAC ทำงานอย่างใกล้ชิดและคู่ขนานไปกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT

โครงการ CAC จัดตั้งขึ้นมาโดยองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศซึ่งได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการ CAC ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจาก Center for International Private Enterprise หรือ CIPE จากสหรัฐอเมริกา UK Prosperity Fund จากสหราชอาณาจักร และมูลนิธิมั่นพัฒนา โดยมี IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับบทนำในการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ

สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CAC เพิ่มเติมได้ที่ , www.thai-cac.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ แคสเปอร์สกี้เผย บริษัทมากกว่าครึ่งในเอเชียแปซิฟิกใช้ AI และ IoT ในกระบวนการทางธุรกิจ
๑๗:๑๔ พร้อมจัดงาน สถาปนิก'67 ภายใต้ธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์
๑๗:๓๓ โรงแรมชามา เลควิว อโศก กรุงเทพฯ จัดโปรโมชั่นฉลองเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๓๘ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ห่วงใยชาวสระแก้ว มอบศาลาที่พักผู้โดยสาร เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และเพื่อเป็นที่หลบแดดหลบฝน ณ
๑๗:๔๙ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร พร้อมมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 3 ท่าน
๑๗:๑๘ แน็ก ชาลี - มุก วรนิษฐ์ ชวนเปิดประสบการณ์ความเฟรช ในงาน Space of Freshtival 30 มีนาคมนี้ ที่ สยามสแควร์วัน
๑๗:๑๐ อิมแพ็ค จัดงาน Happy Hours: Wine Tasting Craft Beer ต้อนรับลูกค้าช่วงมอเตอร์โชว์
๑๗:๓๒ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ มอบเครื่องมือพื้นฐานชุดการฝึก (ชุดเครื่องมือทำมาหากิน) รุ่นที่ 4/2567
๑๗:๕๒ ดีพร้อม ดึงผู้ประกอบการเงินทุนฯ ทั่วประเทศ เปิดพื้นที่ทดสอบตลาด จัดงาน พร้อมเปย์ ที่ DIPROM FAIR
๑๗:๔๕ เขตราชเทวีจัดเทศกิจกวดขันผลักดันผู้ค้าตั้งวางแผงค้ารุกล้ำบนทางเท้าถนนราชปรารภ