สคช.เร่งพัฒนามาตรฐาน-คุณวุฒิวิชาชีพ ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

จันทร์ ๑๘ มกราคม ๒๐๑๖ ๑๖:๐๑
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) เดินหน้ายกระดับมาตรฐานอาชีพ พร้อมวางเป้าหมายพัฒนามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อรับรองสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ 16,000 คน ในปี 2559 รวมทั้งการบูรณาการความร่วมมือกับต่างประเทศ กลุ่มประเทศอาเซียน หน่วยงานและองค์กรในประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนในสาขาวิชาชีพซ่อมอากาศยาน ไอซีที ครูผู้สอน รวมทั้ง การยกระดับฝีมือกำลังคนในธุรกิจสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ

นายวีระชัย ศรีขจร ผู้อำนวยการสถาบัน กล่าวว่า "สำหรับการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพฯ ได้จัดทำมาตรฐานอาชีพไปแล้ว 38 สาขาวิชาชีพ เช่น บริการยานยนต์ โลจิสติกส์ ผู้ประกอบอาหารไทย สปา ไอซีที แท็กซี่ ช่างทำผม แมคคาทรอนิกส์ ธุรกิจถ่ายภาพ อุตสาหกรรมการพิมพ์ เป็นต้น พร้อมทั้งจัดตั้งองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ 67 แห่ง 18 สาขาวิชาชีพ และกระตุ้นเป้าหมายในพื้นที่ผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนร่วมกับองค์กรรับรองฯ ต่าง ๆ ในการสร้างการรับรู้ให้มีผู้เข้ารับการประเมิน โดยที่สถาบันฯ มีความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมาตรฐานอาชีพจะเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการคัดเลือกและพัฒนาบุคลากร ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีบุคลากรที่ตรงตามลักษณะงานและวางแผนในการพัฒนาบุคลากร รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี และให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม (Demand Driven) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ 7,744 คน และมีเป้าหมายพัฒนาระบบฐานข้อมูลการให้บริการคุณวุฒิวิชาชีพได้เต็มรูปแบบในปี 2559"

"ส่วนในภาคการศึกษา สคช.ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งมีทั้งหมด 13 สาขาวิชาชีพ โดยในเบื้องต้น สอศ. ได้นำมาตรฐานอาชีพไปปรับและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแล้ว ได้แก่ แมคคาทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิตอลคอนเท้นต์ บริการยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ อุตสาหกรรมการพิมพ์ และรถไฟฟ้าความเร็วสูงและระบบราง มาเป็นหลักสูตรนำร่อง เพื่อเตรียมนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ให้พร้อมรับกับการประเมินสมรรถนะวิชาชีพ โดยได้วุฒิการศึกษาและได้คุณวุฒิวิชาชีพพร้อมกัน" ผอ.สคช. กล่าว

ในด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ นายวีระชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า "เรามีการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพร่วมกับต่างประเทศและกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิเช่น นิวซีแลนด์ ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยการนำมาตรฐานของต่างประเทศมาเปรียบเทียบมาตรฐานอาชีพของไทยเพื่อพัฒนาร่วมกัน ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วในกลุ่มธุรกิจสปา โลจิสติกส์ ผู้ประกอบอาหาร บริการยานยนต์ และแมคคาทรอนิกส์ ส่วนการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานและองค์กรในประเทศนั้น มีความร่วมมือกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ในการพัฒนากรอบคุณวุฒิเทียบเคียงอาเซียน (ASEAN Qualifications Referencing Framework) และกรอบคุณวุฒิระดับนานาชาติ (National Qualifications Framework) โดยมีเป้าหมายเพื่อเทียบเคียงคุณวุฒิและสมรรถนะของของบุคลากรไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะส่งผลต่อการเอื้ออำนวยการเคลื่อนย้ายกำลังคนและผู้เรียนในประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน"

ทิศทางการดำเนินงานปี 2559

นายวีระชัย ศรีขจร ผู้อำนวยการสถาบัน เปิดเผยว่า แผนการดำเนินการในปี 2559 สคช. มุ่งเน้นเป้าหมายการรับรององค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ เพิ่มขึ้นอีก 50 แห่ง และมีบุคลากรในอาชีพเข้ารับการประเมิน 16,000 คน เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายกำลังคนในกลุ่มประเทศอาเซียน

"สคช. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูตามกรอบแนวทางปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างยั่งยืน โดยได้นำร่องจัดทำมาตรฐานอาชีพครูผู้สอนภาษาอังกฤษ ร่วมกับ Auckland University ประเทศนิวซีแลนด์ สถาบันภาษาอังกฤษ สพฐ. และได้นำไปใช้ประเมินครูผู้สอนภาษาที่สอนในสถาบันการศึกษาแล้ว สคช.จึงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาการทำมาตรฐานอาชีพครูผู้สอนแมคคาทรอนิคส์ โดยได้ร่วมกับ สอศ. และ Federal Institute of Vocational Training and Education ประเทศเยอรมัน (BIBB) เพื่อจัดทำกรอบในการอบรมครูผู้สอนแมคคาทรอนิคส์ให้มีสมรรถนะแบบสากล นอกจากนี้ ยังร่วมกับ Royal Melbourne Institute of Technology ประเทศออสเตรเลีย (RMIT) เพื่อพัฒนาครูผู้สอนด้านซอฟต์แวร์และโทรคมนาคม ของ มทร.ล้านนา ซึ่งปัจจุบันคาดว่ามีกำลังคนในสาขาวิชาชีพนี้กว่า 5,000 คน และอยู่ในระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนทั่วประเทศจำนวนมาก"

ผอ.สคช. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "เราสนับสนุนการผลิตคนให้ทันกับความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะในสาขาที่ยังมีความขาดแคลน สถาบันฯ มีแนวทางในการส่งเสริมให้มีการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพซ่อมอากาศยาน โดยประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม สำนักการบินพลเรือน รวมถึงหน่วยงานมาตรฐาน การฝึกอบรม และการประเมินในต่างประเทศ โดยร่วมมือและประสานงานกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและวิทยาลัยเทคนิค และตั้งเป้าหมายในการพัฒนาคน 200 คน ต่อปี ซึ่งจะมีหลักสูตร 2 ปี และไปฝึกภาคปฏิบัติเพื่อเก็บประสบการณ์ในการสอบ International License เช่น ICAO EASA และ FAA เพื่อให้บุคลากรในอาชีพซ่อมอากาศยานมีมาตรฐานสอดคล้องกับมาตรฐานของ European Aviation Safety Authority (EASA) และ International Civil Aviation Organization (ICAO)"

นอกจากนี้ เราเตรียมการมุ่งเน้นพัฒนามาตรฐานอาชีพที่ตอบสนองระบบเศรษฐกิจ Digital Economy และนโยบาย Cluster อุตสาหกรรมศักยภาพ และ Super Cluster ของฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาล อาทิ อุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ พลังงานทดแทน เกษตรแปรรูป เป็นต้น

"ส่วนสาขาวิชาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิตอลคอนเทนต์ หรือไอซีที ถือเป็นสาขาที่ขาดแคลนกำลังคนอย่างมาก ขณะนี้ สคช.กำลังเร่งดำเนินการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ 6 กลุ่มสาขาวิชาชีพ เพื่อรองรับบุคลากรซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1 ล้านคนในอนาคต โดยได้นำหลักเกณฑ์ของญี่ปุ่น (IPA) และเกาหลีใต้ (IITP) มาเทียบเคียงคุณวุฒิวิชาชีพด้านไอซีทีด้วย ขณะนี้เรามีโครงการประเมินคุณวุฒิวิชาชีพด้าน ไอซีทีกับพนักงานบริษัทเอกชน เพื่อยกระดับความเชี่ยวชาญและความชำนาญการของบุคคลในองค์กรให้มีความพร้อม และทราบศักยภาพของตนเองในการทำงาน หรือเรียกว่า IT Literacy " ผอ.สคช.กล่าว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย สคช.จึงดำเนินงานเชิงรุก เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกับคณะกรรมการร่วมกับภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน โดยเฉพาะสถาบันฯ ได้ร่วมกับสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ในการร่วมกันส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับกำลังคนที่มีคุณภาพตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้ผู้ประกอบการและผู้ประกอบอาชีพ มีความสนใจที่จะเข้ารับการประเมินมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้การส่งเสริมโดยสนับสนุนค่าธรรมเนียมในการทดสอบให้กับผู้ประกอบอาชีพ เพื่อให้ได้รับใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพในพัฒนาบุคลากรในองค์กร การสร้างความก้าวหน้าในสายงาน สามารถเพิ่มรายได้และตระหนักถึงความสำคัญของการประเมินมาตรฐานอาชีพ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4