เกษตรฯ เปิดแผนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไทย มุ่งใช้ระบบ “ซิงเกิล คอมมานด์” ขับเคลื่อนขยายฐานผลิตเพิ่มกว่า 10 % ต่อปี เตรียมลงนามเอ็มโอยู จ.ยโสธรนำร่องเป็นเมืองต้นแบบ “ออร์แกนิก” ต่อยอดภาคเกษตรไทยสู่การผลิตที่ยั่งยืน

พุธ ๒๗ มกราคม ๒๐๑๖ ๑๒:๓๔
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยในเบื้องต้นเน้นให้เกษตรกรเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP ในขณะเดียวกัน สำหรับเกษตรกรที่มีความพร้อม กระทรวงเกษตรฯ จะส่งเสริมสนับสนุนให้เข้าสู่ระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิก (Organic) เพื่อยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัยเป็นไปตามความต้องการของตลาด ซึ่งระบบเกษตรอินทรีย์เป็นระบบที่ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี เน้นการพึ่งพาตนเองและลดการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรผู้ผลิต รวมถึงผู้บริโภค ทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วย ปัจจุบันมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ประมาณ 150,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ ประมาณ 90,000 ไร่ พืชผัก 3,000 ไร่ ไม้ผล 5,000 ไร่ และอื่นๆ อีกกว่า 50,000 ไร่ อาทิ พืชไร่ พืชสมุนไพรและพืชอื่นๆ รวมทั้งประมงและปศุสัตว์อินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์มีประมาณ 50,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท

ปี 2559 นี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มีแผนเร่งขับเคลื่อนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็น 1 ใน 6 นโยบายสำคัญของกระทรวงให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมุ่งใช้ระบบซิงเกิล คอมมานด์ (Single Command) เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงานพัฒนาเรื่องดังกล่าว มีเป้าหมายขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10 % ต่อปี พร้อมนำร่องให้จังหวัดยโสธรเป็นต้นแบบเมืองเกษตรอินทรีย์ หรือยโสธรโมเดล (Model) ด้านเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นต้นแบบเกษตรอินทรีย์ของประเทศ ซึ่งในปี 2560 คาดว่า จะสามารถส่งเสริมพัฒนาพื้นที่การเกษตรจังหวัดยโสธรให้เข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ 60,000 ไร่ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต การดำเนินการครอบคลุมสินค้าพืชอินทรีย์ ปศุสัตว์อินทรีย์ และสัตว์น้ำอินทรีย์ โดยมุ่งต่อยอดขยายผลและผลักดันเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดที่มีความพร้อม เพื่อให้เป็นฐานการพัฒนาภาคเกษตรของไทยสู่การผลิตที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยในวันที่ 29 ม.ค.นี้กระทรวงเกษตรฯ กำหนดให้มีพิธีลงนามเอ็มโอยูโครงการพัฒนาการเกษตรอินทรีย์วิถียโสธร ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับ จังหวัดยโสธรด้วย

"การขับเคลื่อนงานด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค Single command ในกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย รวมถึงประชาคมชาวบ้าน กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นไปตามรูปแบบประชารัฐ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงตั้งแต่การผลิตถึงการตลาด โดยเน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์เดิมเพื่อเป็นกลุ่มต้นแบบ และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้โดยขยายผลจากกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จแล้วในพื้นที่ ในขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ จะให้การสนับสนุนและพัฒนาเกษตรกรที่มีความต้องการและมีความพร้อมที่จะเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ที่สำคัญต้องเน้นการทำเกษตรอินทรีย์แบบกลุ่มซึ่งจะสามารถดูแลด้านการผลิตและหาตลาดได้ง่ายกว่าการทำเกษตรอินทรีย์แบบรายเดี่ยว" รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าว

นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ ยังมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดร่วมบูรณาการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้านเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรผู้ผลิต ทั้งด้านการผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์และการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ ขณะเดียวกันยังเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในเรื่องของสินค้าเกษตรอินทรีย์ของแท้ ต้องสังเกตสัญลักษณ์หรือตรารับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ตลาดและผู้บริโภคทราบถึงแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ผ่านสื่อต่างๆ อาทิ การจัดทำหนังสือรวบรวมแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อความสะดวกในการค้นหาและเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาด อีกทั้งยังใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) กว่า 40 ศูนย์ ซึ่งมีความชำนาญและมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และช่วยพัฒนาองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ที่ถูกต้อง และขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น

"นอกจากจะพัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ได้การรับรองมาตรฐานแล้ว ยังสร้างเครือข่ายการตลาดเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกรด้วย เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางรายได้" พลเอกฉัตรชัย กล่าว

สำหรับสินค้าอินทรีย์ที่ไทยมีศักยภาพการผลิตและส่งออกสูง คือ ข้าวอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกผักและผลไม้อินทรีย์ เช่น กล้วยหอม สับปะรด มะม่วง เงาะ มังคุด ทุเรียน ผักสลัด แครอท กระเจี๊ยบเขียว รวมทั้งชาและกาแฟอินทรีย์ ตลาดส่งออกสำคัญปัจจุบัน คือ สหภาพยุโรป (EU) สหรัฐอเมริกา ส่วนตลาดที่มีศักยภาพดีในอนาคต เช่น ญี่ปุ่น จีน และประเทศในอาเซียน เป็นต้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4