กสอ. เปิดรายชื่อ 15อุตฯ ไทย เติบโตสูงสุด พร้อมรุกอัพ Level สถานประกอบการ ผ่านกลยุทธ์ “DIP Stars”

อังคาร ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๖ ๑๖:๓๖
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดรายชื่อ 9 กลุ่ม SMEs ที่มีโอกาสการเติบโตสูง (High Growth Sector) และ 6 กลุ่ม SMEs ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย (High Impact Sector) พร้อมดำเนินโครงการยกระดับดาวเด่น SMEs ไทย (DIP Stars) เพื่อส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ อาทิ การขยายกิจการ การเปิดตลาดต่างประเทศ รวมถึงสามารถเข้าสู่แหล่งระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ฯลฯ โดยตั้งเป้านำร่องพัฒนาผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 31 ราย ภายในระยะเวลาการดำเนินโครงการ 3 ปี เพื่อเป็นต้นแบบสถานประกอบการที่ประสบความสำเร็จให้แก่ SMEs ในประเภทอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั่วประเทศ

ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมภาคการผลิตที่มีการเติบโตสูง (High Growth Sector) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวทางธุรกิจที่โดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด ประกอบด้วย 9 สาขาอุตสาหกรรม ได้แก่ ก่อสร้าง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหารและเครื่องดื่ม พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เครื่องสำอางและสมุนไพรและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ (High Impact Sector) โดยพิจารณาจากมูลค่าการค้าระหว่างประเทศและการจ้างงานสูง ประกอบด้วย 6 สาขาอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องจักรกล อาหาร ผลิตภัณฑ์ยาง บรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเหล่านี้สามารถสร้างรายได้ต่อปีให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก ดังนั้น กสอ. จึงดำเนินการจัดทำ "โครงการยกระดับดาวเด่น SMEs (DIP Stars)" ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเพื่อยกระดับวิสาหกิจขนาดเล็กสู่วิสาหกิจขนาดกลาง (S to M) และยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางสู่วิสาหกิจขนาดใหญ่ (M to L) ซึ่งสถานประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ จะเป็น SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรม High Growth และ High Impact จากทั่วประเทศ โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะกำหนดฝันหรือเป้าหมายของตนเองและจะมีการวินิจฉัย ประเมินสถานประกอบการ วิเคราะห์โอกาสและกำหนดแนวทาง การพัฒนาศักยภาพ กำหนดแผนกลยุทธ์และทิศทาง การพัฒนา รวมทั้งให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่สถานประกอบการอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับธุรกิจ SMEs และสานฝัน ให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายที่คาดหวัง

ทั้งนี้ สถานประกอบการที่เข้าร่วมจะได้รับความรู้ด้านการบริหารจัดการรวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพองค์กร การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม งานวิจัยและพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ตลอดจนการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จนผู้ประกอบการแต่ละรายสามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment : MAI) รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นผ่านมาตรฐานโลกหรือเจาะธุรกิจในตลาดโลก ทั้งนี้ ในปี 2559-2561 กสอ. ได้ตั้งเป้านำร่องพัฒนาผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 31 ราย โดยคาดว่าหากสถานประกอบการสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ จะสามารถสร้างแบบอย่างของความสำเร็จและนำไปสู่การขยายผลเพื่อเป็นต้นแบบให้กับ SMEs ในประเภทอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั่วประเทศ ดร.สมชาย กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4