นักวิชาการ CMMU แนะ “โครงสร้างองค์กรที่เต็มไปด้วยผู้นำ” แนวทางการจัดการบุคลากรเพื่อความยั่งยืน

พฤหัส ๐๓ มีนาคม ๒๐๑๖ ๑๖:๑๖
ในยุคเศรษฐกิจปัจจุบันการประกอบธุรกิจให้ประสบความสำเร็จที่ว่ายากแล้ว สิ่งที่ยากกว่าคือเรื่องของการทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยการจะทำให้องค์กรยั่งยืนนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การวางรากฐานขององค์กรให้มั่นคง มองถึงความสำเร็จของธุรกิจระยะยาว ซึ่งหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้องค์กรไม่ยั่งยืน คือ การบริหารโครงสร้างองค์กรแบบไม่เป็นระบบ โดยจากการศึกษาวิจัยจากองค์กรหลากหลายประเภท หลากหลายขนาดในประเทศ พบว่าบริษัทในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังมีการ บริหารจัดการโครงสร้างองค์กรแบบท็อปดาวน์ (Top-down model) ซึ่งเป็นการทำงานแบบ รอคำสั่งจากหัวหน้าซึ่งบ่อยครั้งไม่กล้าตัดสินใจ รอการอนุมัติจากผู้บริหาร ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังความไม่กระตือรือร้นในการทำงาน ไม่รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับองค์กร นำไปสู่ความไม่มั่นคงแห่งองค์กรในระยะยาวโดยไม่รู้ตัว เช่น จำนวนลูกค้าลดลงเนื่องจากไม่พอใจในการให้บริการ หรือปรับตัวเข้ากับสภาวะการแข่งขันอย่างไม่ทันท่วงที ในขณะที่คู่แข่งแย่งลูกค้าไปหมด แต่องค์กรยังไม่สามารถแก้ปัญหาภายในได้

รศ.ดร. สุขสรรค์ กันตะบุตร รองคณบดีฝ่ายวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยด้านภาวะผู้นำ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำถึงการบริหารจัดการโครงสร้างองค์กรที่ดีควรเป็นแบบ "โครงสร้างองค์กรที่เต็มไปด้วยผู้นำ" (Self-governing Team) ซึ่งจะทำให้บุคลากรในองค์กรสามารถทำงานด้วยกันด้วยความอิสระ สามารถริเริ่มการทำงานได้ตัวเองโดยไม่ต้องรอคำสั่ง อย่างไรก็ตามการจะใช้โครงสร้างองค์กรที่เต็มไปด้วยผู้นำนั้น ต้องมี 3 องค์ประกอบเพื่อทำหน้าที่เป็นกรอบในการทำงาน เพื่อให้บุคลากรทุกคนทำงานไปในทิศทางเดียวกัน โดยทั้ง 3 องค์ประกอบ ได้แก่

ตัดสินใจแบบยอมรับร่วมกัน คือ การตัดสินใจใดๆ ที่จะส่งผลต่อภาพรวมของทีม หรือภาพรวมของบริษัท ต้องเป็นแบบที่ยอมรับผลการตัดสินใจร่วมกันได้ (Consensual decision making) ไม่ใช่การตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น หรือกลุ่มบุคคลเดียว ซึ่งการตัดสินใจแบบยอมรับร่วมกันมีความสำคัญต่อโครงสร้างองค์กรที่เต็มไปด้วยผู้นำในเรื่องการทำงานร่วมกัน และได้รับผลของการทำงานร่วมกันเป็นทีม และเป็นหนึ่งเดียวกันในบริษัท

มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง หรือ การมีค่านิยมแห่งองค์กรร่วมกัน เป็นสิ่งสำคัญที่ทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวพนักงานทุกคนเข้าด้วยกัน และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแต่ละองค์กร ฉะนั้นการมีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งจะนำไปสู่การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบการจัดการคนที่ส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง ควรประยุกต์เรื่องวัฒนธรรมองค์กรเข้าไปในทุกๆขั้นตอนของการบริหารคน ตั้งแต่การพิจารณารับบุคลากรใหม่ การส่งเสริมบุคลากรที่มีค่านิยมร่วม และการประเมินผลที่พิจารณาถึงเรื่องความมีค่านิยมแห่งองค์กร

มีวิสัยทัศน์ร่วม – การสร้างวิสัยทัศน์หรือทัศนคติร่วมกันของคนในองค์กร ให้บุคลากรทุกคนภายในองค์กรมีจุดมุ่งหมายและทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บุคลากรเข้าใจถึงเป้าหมายขององค์กรและหน้าที่ของตน ที่จะนำไปสู่แนวทางในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพของบุคลากรทุกคนในองค์กร โดยปราศจากการควบคุมอย่างใกล้ชิดของผู้บริหารหรือหัวหน้างาน

โดยเมื่อมี 3 องค์ประกอบนี้ทำหน้าที่เป็นกรอบควบคุมการทำงานแล้วนั้น บุคลากรภายในจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างอิสระแบบรู้หน้าที่ของตนเองในฐานะที่ตนเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร มุ่งไปที่ผลลัพธ์โดยรวมขององค์กร อย่างไรก็ตามนอกจากบุคลากรต้องมีความสามารถหลักที่ใช้ในหน้าที่หลักของตนแล้วนั้น บุคลากรต้องมีทักษะที่หลากหลาย (Multi skills) สามารถปฏิบัติงานได้หลายบทบาทภายในระบบการทำงานขององค์กร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ธุรกิจต้องยอมลงทุนในการพัฒนาทักษะของพนักงาน เพื่อทำให้โครงสร้างองค์กรที่เต็มไปด้วยผู้นำประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เมื่อเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการบุคลากรเป็นแบบเต็มไปด้วยผู้นำแล้วนั้น ต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบของการตอบแทน (reward) เป็นการตอบแทนแบบเป็นทีม เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรทำงานร่วมกันแบบเป็นทีม ไม่ทำตัวเป็นฮีโร่ หรือผู้นำแบบหวังผลประโยชน์ส่วนตัว

ทั้งนี้รูปแบบโครงสร้างองค์กรที่เต็มไปด้วยผู้นำดังกล่าว สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางพัฒนาองค์กรธุรกิจทุกประเภท และทุกขนาด แต่จะเห็นผลชัดที่สุดกับธุรกิจบริการ โดยสามารถเริ่มต้นจากส่วนขององค์กรที่ติดต่อให้บริการกับลูกค้าโดยตรง เช่น สาขาย่อยของธนาคาร สาขาของธุรกิจค้าปลีก เพราะเป็นส่วนที่สามารถเห็นผลตอบรับจากลูกค้าในทางที่ดีขึ้นในช่วงเวลาที่เร็วที่สุด หากองค์กรใดสามารถประยุกต์ใช้โครงสร้างองค์กรที่เต็มไปด้วยผู้นำเข้าสู่การบริหารจัดการคนแล้ว ประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรในองค์กรจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัว อันเกิดจากความคล่องตัวในการทำงานของบุคลากรทุกหน่วย ที่สามารถเริ่มต้นการทำงานหรือแนวความคิดใหม่ๆในการทำงานได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องรออำนาจการตัดสินใจจากหัวหน้า

สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่www.cmmu.mahidol.ac.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4