EGA ลุยแผนรัฐบาลดิจิทัลสุดตัว เดินเกมประสานข้อมูลสำรอง เตรียมบูรณาการข้อมูลรูปแบบใหม่ ยกระดับทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน พร้อมสร้างระบบรักษาความปลอดภัยและปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชาชน

จันทร์ ๑๔ มีนาคม ๒๐๑๖ ๑๒:๒๑
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า หลังจากที่ร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ระยะ 3 ปี พ.ศ. 2559-2561 เข้าสู่กระบวนการเห็นชอบของรัฐบาลนั้น ทาง EGA ได้ผลักดันมาตรการในแผนเพื่อต่อยอดความสำเร็จในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลแบบต่อเนื่อง โดยในปีนี้จะเลือกยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถรองรับการไปสู่รัฐบาลดิจิทัลเป็นยุทธศาสตร์หลักของปีนี้

ในแผนรูปธรรมนั้นจะมีการปรับจากโครงการดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติ มาเป็นระบบข้อมูลสำรองหน่วยงานรัฐ โดยจะให้หน่วยงานรัฐทุกแห่งเปลี่ยนการลงทุนเรื่องการทำ Back-up site หรือการทำจุดสำรองข้อมูลมาไว้ที่ EGA เพื่อเตรียมการรองรับการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในด้านการเชื่อมโยงข้อมูลและการดำเนินงาน ทำให้เห็นข้อมูลประชาชนเป็นภาพเดียวที่สมบูรณ์ สามารถปรับเทคโนโลยีที่หลากหลายให้เป็นหนึ่งเดียว นำไปสู่การให้บริการรัฐแบบครบวงจรต่อไป

ปัจจุบันทาง EGA ได้เริ่มดำเนินการให้บริการ Back-up หรือสำรองข้อมูลให้กับหน่วยงานรัฐผ่านระบบคลาวด์คอมพิวติ้งอยู่แล้ว แต่ยังไม่เป็นภาคบังคับ อย่างไรก็ตามบริการนี้ได้รับความนิยมจากหน่วยงานรัฐที่ใช้ระบบ g-cloud ของ EGA จำนวนมาก ซึ่งในแผนต่อไปนี้จะมีการลงทุนในสาธารณูปโภคส่วนนี้มากขึ้น คาดว่าในปีนี้จะมีจุดให้หน่วยงานรัฐได้ทำสำรองข้อมูลได้ถึง 3 จุดใน 3 จังหวัด

ต่อจากนั้นทาง EGA จะเร่งให้เกิดการบูรณาการข้อมูลประชาชนและนิติบุคคลจากหลากหลายหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้เป็นภาพเดียว หรือ Single View of Citizen เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของงานบริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน อย่างไรก็ตามขณะนี้ข้อมูลที่มีอยู่ในระบบมีปริมาณมาก หลากหลาย และซับซ้อน ถูกเก็บอยู่ในหลายหน่วยงาน ที่มีมาตรฐานต่างกัน และ มีกฎระเบียบที่จำกัดการบูรณาการข้อมูลในเชิงปฏิบัติ ดังนั้น EGA จะเข้ามาประสานงานให้เกิดระบบเชื่อมโยงข้อมูลกลางเพื่อบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานโดยใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลัก และสร้างระบบรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลบุคคลขึ้นมา

สิ่งที่จะตามมาหลังจากการวางระบบเสร็จแล้วก็คือ ต่อไปประชาชนจะสามารถยืนยันตัวตนและบริหารจัดการสิทธิ์โดยใช้ smart card หรือผ่านบัญชีผู้ใช้อิเล็กทรอนิกส์กลางได้ โดยจะมีบริการข้อมูลการบริการผ่านจุดเดียวโดยมีผู้รับบริการเป็นศูนย์กลางเกิดขึ้นตามมา จนถึงที่สุดคือจะเกิดระบบแก้ไขเรื่องร้องเรียนและการเข้าถึงความต้องการเชิงรุกของประชาชนแบบรวดเร็ว

สำหรับการต่อยอดในภาคธุรกิจนั้น EGA ได้เลือกธุรกิจท่องเที่ยว การเกษตร การลงทุน การนำเข้าและส่งออก การส่งเสริม SMEs และระบบภาษีแบบบูรณาการ ซึ่งล่าสุดทาง EGA ร่วมมือกับกรมบัญชีกลางได้จัดทำระบบการบูรณาการข้อมูลเพื่อทำให้ประชาชนได้รับรู้ว่าภาษีที่แปลงเป็นงบประมาณลงในพื้นที่ต่างๆ ได้รับการจัดสรรไปแต่ละพื้นที่อย่างไร ซึ่งเป็นตัวอย่างของการบูรณาการข้อมูลในรูปแบบ Open Data

ในด้านการส่งเสริมภาคธุรกิจก็มีความร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ กพร.จัดตั้ง Biz Portal ภายใต้ชื่อเว็บ biz.govchannel.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์แหล่งรวมทั้งข้อมูลและบริการทางภาคธุรกิจของภาครัฐทั้งหมด และในอนาคตจะนำเข้ามาสู่เว็บไซต์กลางคือ govchannel.go.th จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งระบบได้เป็นอย่างดี

"GovChannel ที่เริ่มต้นจากปลายปีที่ผ่านมาจะขยายตัวมากขึ้น ประชาชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม นอกจากการเข้าผ่านคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ในส่วนของ Kiosk ก็ต้องเพิ่มเข้ามามากขึ้นจากเดิมในปัจจุบันมี 3 จุด ก็จะขยายให้มากกว่าเดิม และจะมีการเพิ่มบริการใหม่ๆ อย่างข้อมูลผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จากคุรุสภา, ระบบตรวจสอบนัดหมาย ของโรงพยาบาลรามาธิบดี, ระบบข้อมูลสุขภาพ ในสังกัด สำนักปลัด กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น" ดร.ศักดิ์กล่าว

ส่วนการสานต่องานเดิมคือ การเร่งให้ศูนย์รวมแอปพลิเคชันภาครัฐหรือ Government Application Center (GAC) เติบโตขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 173 แอปพลิเคชัน จาก 110 หน่วยงาน คาดว่าภายในปีนี้จะเติบโตขึ้นถึง 300 แอปพลิเคชัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้ใช้บริการภาครัฐสะดวกขึ้น เพราะแอปพลิเคชันส่วนใหญ่จะเน้นในการให้บริการผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่

ด้านการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีของภาครัฐ EGA จะยังคงสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ใช้คลาวด์คอมพิวติ้งเป็นพื้นฐาน และในปีนี้จะผลักดันให้การใช้ Big Data เกิดขึ้นในหน่วยงานนำร่องมากขึ้น โดยเฉพาะหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการจราจรจะต้องสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างทันที หรือ real time ได้ ซึ่งในช่วงสงกรานต์ของปีนี้จะมีการทดสอบระบบ Big Data ครั้งใหญ่ของประเทศ

"ในปีนี้แผนของ EGA จะเน้นทั้งการพัฒนาและยกระดับภาครัฐให้ไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้เร็วขึ้น และการยกระดับครั้งนี้จะต้องยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไปด้วยพร้อมกันและยังต้องสร้าง ขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ รวมถึงยกระดับความมั่นคงและเพิ่มความปลอดภัยของประชาชนด้วย ถือเป็นแผนงานแตกต่างจากปีที่ผ่านๆ มาของ EGA อย่างมาก จากที่ปีแรกๆ จะเน้นการสร้างสาธารณูปโภค การสร้างบริการพื้นฐาน การยกระดับเทคโนโลยี จนปีล่าสุดก็คือการสร้างระบบ GovChannel ที่รวบรวมช่องทางการติดต่อของภาครัฐกับประชาชนให้รวมมาอยู่ในจุดเดียว" ดร.ศักดิ์ กล่าวสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4