รายละเอียดเพิ่มเติมรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559

พุธ ๓๐ มีนาคม ๒๐๑๖ ๑๔:๔๖
"เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่ขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 36.9 ต่อปี และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 16.0 ต่อปี ประกอบกับการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นบ้างในหมวดการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีการชะลอตัว ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป"

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีสัญญาณชะลอตัว สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.7 ต่อเดือน จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อปี ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้ายังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -1.3 ต่อปี ตามมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นสำคัญ สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ -11.1 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ และในเขตภูมิภาคที่หดตัวร้อยละ -0.5 และ -14.2 ตามลำดับ เนื่องจากผู้บริโภคได้มีการเร่งการบริโภคไปในช่วงก่อนหน้าที่บริษัทจำหน่ายรถจักรยานยนต์ได้มีการทำโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงก่อนหน้า สำหรับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -29.9 ต่อปี ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยอยู่ที่ระดับ 63.5 เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยยังไม่ฟื้นตัว กอปรกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรส่งออกหลัก อาทิ ยางพารา และข้าว ที่ลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบและภาวะเศรษฐกิจโลก จึงทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำ สำหรับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวร้อยละ -4.2 ต่อปี ในขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริงหดตัวร้อยละ -9.5 ต่อปี

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีสัญญาณดีขึ้นบ้าง โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่อเดือน สำหรับปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.0 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อเดือน ทางด้านดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างยังคงหดตัวต่อเนื่องแต่หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -5.0 ต่อปี ตามการลดลงของราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่หดตัวร้อยละ -12.0 เนื่องจากราคาเหล็กที่ปรับตัวลดลงตามราคาตลาดโลก นอกจากนี้ การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อเดือน ในขณะที่ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนกลับมาหดตัวที่ร้อยละ -11.6 ต่อปี และเมื่อหักสินค้าพิเศษ (เครื่องบิน เรือ และรถไฟ) พบว่า หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -8.3 ต่อปี

3. สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายของรัฐบาลจากการเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวในระดับสูง สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวมสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 160.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.8 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 138.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อปี แบ่งเป็น (1) รายจ่ายประจำ 108.9 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -0.8 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 29.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 36.9 ต่อปี ทั้งนี้ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 ในช่วง 5 เดือนแรกปีงบประมาณ 2559 สามารถเบิกจ่ายได้ 1,187.3 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 43.6 ของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 (2,720.0 พันล้านบาท) สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาล พบว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 154.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี ขณะที่ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -13.9 พันล้านบาท

4. ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ มีมูลค่า 19.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 10.3 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 17.6 ต่อเดือน ซึ่งมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีนี้มาจากสินค้าในกลุ่มพิเศษชั่วคราว โดยเฉพาะการส่งออกทองคำ และยุทโธปกรณ์ เช่น เมื่อหักมูลค่าการส่งออกทองคำออกจะทำให้มูลค่าการส่งออก (หักทองคำ) ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี ทั้งนี้ การส่งออกขยายตัวในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดคู่ค้าหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐ ฮ่องกง และตลาดอาเซียน-5 และสินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดีมาจากสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะผักผลไม้กระป๋องและแปรรูป และน้ำตาล รวมถึงกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสำคัญ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ มีมูลค่า 14.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -16.8 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่สูงกว่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเกินดุล 5.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีจำนวน 3.1 ล้านคน ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 16.0 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อเดือน โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีเกือบทุกกลุ่มประเทศ โดยเฉพาะจากเอเชียตะวันออกเป็นหลักโดยขยายตัวร้อยละ 19.2 ต่อปี ขณะที่นักท่องเที่ยวจากยุโรปขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 10.9 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากรัสเซียที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 22 เดือน นับจากเดือนเมษายน 2557 อย่างไรก็ตาม กลุ่มโอเชียเนียยังคงหดตัวร้อยละ -2.3 ต่อปี จากนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี โดยสินค้าเกษตรที่หดตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน เป็นสำคัญ สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -1.6 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อเดือน ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 85.1 และถือเป็นการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยมีปัจจัยหลักจากความกังวลต่อการชะลอตัวของกำลังซื้อภายในภูมิภาค ปัญหาภัยแล้งที่ขยายพื้นที่ไปในวงกว้างรวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี โดยมีสาเหตุหลักจากการหดตัวของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ซึ่งส่งผลให้มีการลดลงของราคาก๊าซหุงต้มที่ใช้ในบ้าน และค่าโดยสารรถ บขส. รถร่วมเอกชนระหว่างจังหวัด รวมถึงค่าไฟฟ้าที่มีการปรับลดลงตามราคาพลังงาน ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์ และราคาผักผลไม้มีการปรับเพิ่มสูงขึ้นจากเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 3.4 แสนคน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ระดับร้อยละ 44.1 ถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ระดับ 168.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.1 เท่า

สำหรับมาตรการการเงินการคลังที่กระทรวงการคลังได้ผลักดันตามนโยบายรัฐบาลโดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 เป็นต้นมานั้น ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาและปี 2559 ต่อไป โดยมีความคืบหน้าของมาตรการต่างๆ ถึง ณ วันที่ 28 มีนาคม 2559 สรุปได้ดังนี้

1. โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ โดยการสนับสนุนเงินทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจำนวน 79,556 กองทุน ผ่านสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กองทุนละไม่เกิน 500,000 บาท ภายในวงเงิน 35,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน เช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตากพืชผลทางการเกษตร โรงสีชุมชน การจัดหาแหล่งเก็บน้ำชุมชน และเครื่องจักรสำหรับแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นต้น และเพื่อการดำเนินงานเพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดีขึ้น เป็นสำคัญ โดยสถานะปัจจุบันคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติได้ออกหลักเกณฑ์ในการดำเนินโครงการแล้ว และอยู่ระหว่างการประชุมคณะทำงานดำเนินโครงการฯ เพื่อพิจารณาและสอบทานโครงการ

2. มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และมาตรการกระตุ้นการลงทุน ขนาดเล็กของรัฐบาล มีเป้าหมายเพื่อกระจายการลงทุน การจ้างงาน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปในพื้นที่ต่างๆ ในต่างจังหวัด และผลักดันให้เกิดการพัฒนาในท้องถิ่นและภูมิภาคอย่างทั่วถึง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและบรรเทาผลกระทบในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเร่งรัดการลงทุนภาครัฐ ประกอบด้วย

1.1 มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับหมู่บ้าน (สินเชื่อผ่านกองทุนหมู่บ้าน ดอกเบี้ยร้อยละ 0 ระยะเวลา 2 ปี วงเงินสินเชื่อ 60,000 ล้านบาท) โดยข้อมูลล่าสุดได้มีการการอนุมัติสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 47,846 ล้านบาท ให้กับผู้มีรายได้น้อยแล้วจำนวน 3,023,421 ราย แบ่งเป็นธนาคารออมสิน อนุมัติสินเชื่อแล้ว 25,570 ล้านบาท ให้กับกองทุนหมู่บ้าน 25,728 แห่ง และกองทุนหมู่บ้านให้สินเชื่อกับผู้มีรายได้น้อยแล้ว 1,631,186 ราย เป็นเงิน 21,342 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) อนุมัติสินเชื่อแล้ว 22,276 ล้านบาท ให้กับกองทุนหมู่บ้าน 22,519 แห่ง และกองทุนหมู่บ้านให้สินเชื่อกับผู้มีรายได้น้อยแล้ว 1,392,235 ราย เป็นเงิน 22,276 ล้านบาท

1.2 มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับตำบล (ลงทุนตำบลละไม่เกิน 5 ล้านบาท วงเงิน 36,275 ล้านบาท) โดยข้อมูลการเบิกจ่าย ณ วันที่ 25 มีนาคม 2559 มีงบประมาณได้รับการอนุมัติแล้วทั้งสิ้น 35,825 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 98.8 ของกรอบวงเงิน โดยเป็นวงเงินโครงการที่ทำสัญญาแล้วจำนวน 33,342 ล้านบาท และมีการเบิกจ่ายจำนวน 17,104 ล้านบาท

1.3 มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล ลงทุนรายการละไม่เกิน 1 ล้านบาท กรอบวงเงิน 40,000 ล้านบาท พบว่า มีโครงการที่ทำสัญญาแล้ว จำนวน 33,587 ล้านบาท และมีการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 31,576 ล้านบาท แบ่งออกเป็น งบกลางปี 2558 เบิกจ่ายทั้งสิ้น 21,344 ล้านบาท และงบประมาณปี 2559 เบิกจ่ายทั้งสิ้น 10,232 ล้านบาท (ข้อมูลเบิกจ่าย ณ วันที่ 25 มีนาคม 2559)

2. มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในระยะเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนธุรกิจ SMEs ให้สามารถแข่งขันได้ โดยมีความคืบหน้า ดังนี้

2.1 โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs (Soft Loan SMEs ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ระยะเวลา 7 ปี วงเงินสินเชื่อ 150,000 ล้านบาท) ได้มีการจัดสรรวงเงินจนครบจำนวนแล้ว 150,000 ล้านบาท ให้กับลูกค้า SMEs แล้วจำนวน 21,504 ราย

2.2 โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 5 (ปรับปรุงใหม่) (ค้ำประกันไม่เกินร้อยละ 30 ต่อพอร์ต วงเงินค้ำประกัน 100,000 ล้านบาท) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีการค้ำประกันสินเชื่อแล้วจำนวน 61,690 ล้านบาท ให้กับ SMEs จำนวน 14,513 ราย (ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2559)

3. มาตรการการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง

3.1 มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดรับคำขอตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2558 โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2559 โดย ธอส. ได้อนุมัติสินเชื่อแล้ว 15,189 ราย วงเงินอนุมัติ 21,026 ล้านบาท

3.2 โครงการบ้านประชารัฐ (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559) เพื่อให้ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยครอบคลุมทั้งผู้มีรายได้ประจำ ได้แก่ ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และบุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอนหรืออาชีพอิสระ ที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์มาก่อน ให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ทั้งนี้ ให้รวมถึงการกู้ซ่อมแซม และ/หรือต่อเติมที่อยู่อาศัยผ่านการสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยเงื่อนไขผ่อนปรนจากสถาบันการเงินของรัฐ ปัจจุบันมีผู้มาติดต่อยื่นขอสินเชื่อแล้วจำนวน 298 ราย วงเงิน 262.9 ล้านบาท โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้อนุมัติสินเชื่อแล้ว 10 ราย วงเงินอนุมัติ 8.79 ล้านบาท

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4