นิด้าโพล : “แนวทางการตามหนี้ กยศ.”

จันทร์ ๐๔ เมษายน ๒๐๑๖ ๑๑:๓๔
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "แนวทางการตามหนี้ กยศ." ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29 – 30 มีนาคม 2559 จากประชาชน ทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับแนวทางการตามหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. จากผู้ที่ยังคงค้างชำระอยู่ทั่วประเทศจำนวน 2 ล้านคน รวมเป็นวงเงินคงค้าง 52,000 ล้านบาท การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาค สุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่า ความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4

จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อเสนอของปลัดกระทรวงการคลังที่จะไม่ต่ออายุบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่กู้ยืมเงิน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แต่ไม่ชำระเงินคืนให้กับกองทุน พบว่า ประชาชน ร้อยละ 30.32 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 14.16 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 14.56 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 36.24 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 0.16 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ต้องดูเป็นกรณีไป ถ้าผู้มีรายได้ไม่ชำระเงินคืนไม่ควรให้ต่ออายุบัตร แต่ผู้ที่ไม่มีรายได้ควรต่ออายุบัตรให้ตามปกติ และร้อยละ 4.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย – เห็นด้วยมาก ให้เหตุผลว่า ควรออกกฎข้อบังคับเพื่อให้ผู้ที่ยังคงค้างชำระมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่าง และจะได้มีกองทุนไว้สำหรับรุ่นต่อ ๆ ไป และในส่วนผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย – ไม่เห็นด้วยเลยให้เหตุผลว่า เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป หากไม่ต่ออายุบัตรประชาชน ก็จะไม่สามารถติดต่อธุระต่าง ๆ ได้ และอาจเป็นช่องโหว่ของการก่ออาชญากรรม บางคนที่ยังค้างชำระอาจมีรายได้น้อย เป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ควรแก้ไข ด้วยวิธีอื่น เช่น การเสียค่าปรับ หรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

ส่วนด้านความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อเสนอการตามหนี้ กยศ. คล้าย ๆ กับการหักภาษี ด้วยการออกกฎหมาย กำหนดให้เจ้าของบริษัท หรือหัวหน้าส่วนราชการหักเงิน ณ ที่จ่าย ผู้ที่กู้ยืมเงิน กยศ. พบว่า ประชาชน ร้อยละ 62.24 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 22.56 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 6.56 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 6.72 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 1.92 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย – เห็นด้วยมาก ให้เหตุผลว่า เพราะถือว่ามีการทำงานและมีรายได้ที่แน่นอนแล้ว เป็นการบังคับจ่ายไปในตัว เมื่อยืมมาแล้วก็ต้องคืน จะได้ยุติธรรมทั้งผู้ให้ยืม ผู้ยืม และจะได้นำเงินที่ได้คืนมาให้ผู้อื่นได้กู้ยืมต่อไป เป็นการสร้างมาตรฐาน และแนวทางในการคืนที่ดีที่สุด ง่าย และสะดวกต่อการคืนชำระเงิน และในส่วนผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย – ไม่เห็นด้วยเลย ให้เหตุผลว่า เพราะเนื่องจากบางคนยังมีรายได้น้อยหรือมีภาระค่าใช้จ่ายอยู่ หากหักไปแล้วจะไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนอื่นในแต่ละเดือนและยังเป็นการเพิ่มภาระการจัดการของหน่วยงาน/องค์กรอีกด้วย

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อสาเหตุของปัญหาการค้างชำระหนี้ กยศ. ซึ่งทั่วประเทศมีจำนวน 2 ล้านคน รวมวงเงิน คงค้าง 52,000 ล้านบาท พบว่า ประชาชน ร้อยละ 45.76 ระบุว่า ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อย ไม่สามารถชำระหนี้ได้ รองลงมา ร้อยละ 31.04 ระบุว่า ผู้กู้ยืมเงินไม่มีจิตสำนึก ร้อยละ 6.32 ระบุว่า บทลงโทษผู้ไม่ชำระหนี้ กยศ. ไม่รุนแรงจึงไม่มีใครกลัว ร้อยละ 3.68 ระบุว่า กยศ. ไม่มีประสิทธิภาพในการติดตามหนี้ ร้อยละ 3.12 ระบุว่า ผู้กู้ยืมเงิน กยศ. เข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องชำระคืน ร้อยละ 2.96 ระบุว่า ผู้กู้ยืมเงินไม่เข้าใจในหลักเกณฑ์และวิธีการชำระหนี้จึงยังไม่จ่ายหนี้คืน กยศ. ร้อยละ 0.88 ระบุว่า ผู้กู้ยืมเงินไม่ได้รับการติดต่อจาก กยศ. จึงยังไม่จ่ายหนี้คืน กยศ. ร้อยละ 2.88 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เศรษฐกิจไม่ดียังไม่มีงานทำผู้กู้ยืมเงินมีความจำเป็นบางอย่างที่ไม่สามารถคืนเงินได้ อีกทั้งผู้กู้ยืมขาดวินัยในการบริหารเงินมีการนำเงินไปใช้จ่ายในทางที่ผิดโดยไปใช้จ่ายอย่างอื่นก่อน และร้อยละ 3.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุดความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการกำหนดบทลงโทษสถาบันการศึกษาที่มีผู้ค้างชำระหนี้ กยศ. จำนวนมาก พบว่า ประชาชน ร้อยละ 15.52 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 14.72 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 16.64 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 45.44 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 7.68 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย – เห็นด้วยมาก ให้เหตุผลว่า เพราะ สถาบันการศึกษาเป็นผู้มีส่วนร่วมในการพิจารณาหรือกำหนดเกณฑ์ผู้ขอกู้ยืม สถาบันการศึกษาก็ควรที่จะมีจิตสำนึกและมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบหรือติดตามผู้ที่ยังค้างชำระ บางส่วนมองว่าสถาบันการศึกษายังขาดการประชาสัมพันธ์ในการชี้แจงถึงช่องทางการชำระเงิน และในส่วนผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย – ไม่เห็นด้วยเลย ให้เหตุผลว่า เพราะเป็นความรับผิดชอบและจิตสำนึกของผู้กู้ยืมเองทั้งสิ้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวสถาบันการศึกษา ซึ่งสถาบันการศึกษามีหน้าที่เพียงแค่ติดต่อและยื่นเรื่องประสานงานไปยัง กยศ. เท่านั้น ไม่ควรมีบทลงโทษแต่อย่างใด

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.64 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.52 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.16 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.28 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.40 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 54.00 เป็นเพศชาย และร้อยละ 46.00 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 8.40 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 17.68 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 24.96 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 32.08 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 14.24 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 2.64 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 92.80 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.52 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.72 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 2.96 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 23.20 สถานภาพโสด ร้อยละ 71.92 สมรสแล้ว ร้อยละ 1.84 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 3.04 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 25.12 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 30.72 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.04 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.72 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.04 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.36 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 11.92 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.96 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 25.92 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.00 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.36 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 12.64 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.92 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นองค์กรอิสระไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 3.20 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 14.72 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 18.32 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 30.88 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 13.60 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.52 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.28 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 9.68 ไม่ระบุรายได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๑ ALLY ผนึก Mural ลงทุนซื้อหุ้นสมาคมมวยปล้ำสเปน หวังผลักดันมวยปล้ำสเปนขึ้นแท่นลีกหลักในยุโรปและลาตินอเมริกา
๑๖:๓๙ โอกาสจองซื้อหุ้นกู้บริษัทชั้นนำ ช.การช่าง เสนอขายช่วงวันที่ 25 - 29 เมษายน 2567 ชูผลตอบแทน 3.40 - 4.10% ต่อปี อันดับความน่าเชื่อถือ A- ติดต่อผ่าน ธ.กรุงเทพ และ ธ.กรุงไทย
๑๖:๕๔ บางจากฯ สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาเยาวชนในทักษะแห่งอนาคต ผ่านโครงการ SI Sphere: Sustainable Intelligence-based Society Sphere โดย UN Global Compact Network
๑๕:๑๓ เปิดไลน์อัพ 10 ศิลปินหน้าใหม่มาแรงแห่งปีจาก Spotify RADAR Thailand 2024
๑๕:๐๘ อาร์เอส กรุ๊ป เดินหน้ากลยุทธ์ Star Commerce ยกทัพศิลปิน-ดารา เป็นเจ้าของแบรนด์ และดันยอดขายด้วย Affiliate Marketing ประเดิมส่งศิลปินตัวแม่ ใบเตย อาร์สยาม
๒๔ เม.ย. กสิกรไทยผนึกกำลังเจพีมอร์แกน เปิดตัวโปรเจกต์คารินา ดึงศักยภาพบล็อกเชน ลดระยะเวลาธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ
๒๔ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส จัดกิจกรรม SKECHERS PICKLEBALL WORKSHOP ส่งเสริมสุขภาพและขยายคอมมูนิตี้กีฬา Pickleball ในไทย
๒๔ เม.ย. SHIELD จับมือแอสเซนด์ มันนี่ และ Money20/20 Asia จัดกิจกรรมระดมเงินบริจาคแก่มูลนิธิรามาธิบดี
๒๔ เม.ย. 'ASW' เตรียมโอนกรรมสิทธิ์ 4 คอนโดฯ ใหม่ ไตรมาส 2 ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และภูเก็ตมูลค่ารวมกว่า 6,600 ล้านบาท
๒๔ เม.ย. โก โฮลเซลล์ สนับสนุนเกษตรกรไทย ปูพรมจำหน่ายผลไม้ฤดูกาล สดจากสวนส่งตรงถึงมือคุณ