ข้อเสนอการจัดการกับการฟอกเงินและซุกซ่อนทรัพย์สินภายใต้ข้อมูลจาก Panama Paper และ สรุปผลการเสวนาทางวิชาการข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการในรัฐธรรมนูญ (การศึกษาและประกันสุขภาพ)

พฤหัส ๐๗ เมษายน ๒๐๑๖ ๑๗:๔๕
สังคมควรสร้างฉันทามติผ่านกระบวนการประชาธิปไตยว่าต้องการระบบสวัสดิการและระบบประกันสุขภาพอย่างไร รัฐธรรมนูญควรกำหนดให้มีกรอบการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ชัดเจนในการยกระดับเศรษฐกิจไทยสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ลดอำนาจการผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ ขยายโอกาสและสิทธิทางเศรษฐกิจ อันจะนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น มีนวัตกรรมมากขึ้น ควรกำหนดให้สวัสดิการสังคม การศึกษาและหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิที่ประชนชนชาวไทยได้รับอย่างเสมอภาคเป็นธรรมและทั่วถึง ระบบสวัสดิการพื้นฐาน ระบบการศึกษาพื้นฐานและการเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลพื้นฐานเป็นสิ่งที่รัฐพึงจัดให้ประชาชนอย่างมีคุณภาพและเป็นธรรม การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยเป็นปัญหารุนแรงและยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้นในเร็วๆนี้ ขบวนการฟอกเงิน การหลีกเลี่ยงภาษีเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับบุคคลที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย กรณีสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (ICIJ) เปิดเผยเอกสารลับ ปานามาเปเปอร์ (Panama Papers) ระบุว่า มีบุคคลในหลากหลายวงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการฟอกเงินและซุกซ่อนทรัพย์สินในบริษัทต่างชาตินอมินีนั้นเป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องต้องทำการสอบสวนข้อเท็จจริง

7 เมษายน พ.ศ. 2559 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต เมืองเอก

คณะเศรษฐศาสตร์ และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดทำข้อเสนอรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจ ระบบสวัสดิการสังคมและระบบประกันสุขภาพ และ เปิดเผยว่า สังคมควรสร้างฉันทามติผ่านกระบวนการประชาธิปไตยว่าต้องการระบบสวัสดิการและระบบประกันสุขภาพอย่างไร หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญใหม่ควรกำหนดให้มีกรอบการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ชัดเจนในการยกระดับเศรษฐกิจไทยสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ลดอำนาจการผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ ขยายโอกาสและสิทธิทางเศรษฐกิจ อันจะนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น มีนวัตกรรมมากขึ้น ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจสูงจะนำไปสู่ประชาธิปไตยทางการเมืองที่สมบูรณ์ขึ้น มีความเข้มแข็งมีคุณภาพมากขึ้น มีสันติธรรม สังคมมีสันติสุข มีตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน ในประเทศยุโรปเหนือโดยเฉพาะประเทศสแกนดิเนเวีย หรือ อย่างประเทศสหรัฐอเมริกาก็เป็นประเทศที่มีนวัตกรรมสูงและมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เพราะมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ เสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการคิด การแสดงออกได้อย่างหลากหลาย รัฐธรรมนูญควรมีระบบและกลไกทำให้ความคิดเห็น ความเชื่อ วัฒนธรรม ศาสนาที่แตกต่างสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและเป็นประโยชน์

ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญควรกำหนดให้สวัสดิการสังคม การศึกษาและหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิที่ประชนชนชาวไทยได้รับอย่างเสมอภาคเป็นธรรมและทั่วถึง ระบบสวัสดิการพื้นฐาน ระบบการศึกษาพื้นฐานและการเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลพื้นฐานเป็นสิ่งที่รัฐพึงจัดให้ประชาชนอย่างมีคุณภาพและเป็นธรรม

ตาม มาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาภาคบังคับ ที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย รัฐต้องดำเนินการหรือจัดให้มีการศึกษาก่อนวัยเรียนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการ ในระบบต่าง ๆ รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล และดำเนินการให้ผู้ด้อยโอกาสได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย ในการศึกษาตามความถนัดของตน ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติและการดำเนินการ และตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย

การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

ดร. อนุสรณ์ เสนอว่า เห็นด้วยกับมาตรานี้แต่ขอให้เพิ่มความชัดเจนว่า รัฐจะจัดการศึกษาก่อนวัยเรียนและการศึกษาภาคบังคับให้ฟรีอย่างน้อย 12-15 ปี ส่งเสริมการกระจายอำนาจทางการศึกษาและการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย เป็นพลเมืองที่ดีของภูมิภาคและของโลก

ส่วน มาตรา ๕๑ รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุข ที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง และส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนา ภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั้น รัฐต้องควรเขียนให้ชัดเจนว่า รัฐจะดำเนินการตามแนวทางการสร้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า มาตรา ๕๒ รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาตรานี้ควรระบุให้ชัดเจนว่า ประชาชนทุกพื้นที่ของประเทศต้องสามารถเข้าถึงบริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น บริการน้ำประปา ไฟฟ้า ระบบคมนาคม และ โทรคมนาคม

มาตรา ๕๘ รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ฐานะ ทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัย การเงินการคลังของรัฐ เห็นด้วยกับมาตรา ๕๘ แต่มาตรานี้รวมทั้งกฎหมายลูกต้องสามารถแก้ไขได้หากมีความจำเป็นทางเศรษฐกิจและเพื่อประโยชน์ของประชาชนในอนาคต

มาตรา ๖๑ รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนา ของประเทศและเป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน เพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

การกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย การจัดทำ และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย

ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

มาตรานี้เห็นด้วยแต่ต้องการรับรองจากรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากประชาชนด้วย

มาตรา ๖๘ รัฐพึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวอันเป็น องค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของสังคม รวมตลอดทั้งส่งเสริมและพัฒนาการสร้างเสริม สุขภาพเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีจิตใจเข้มแข็ง รวมตลอดทั้งส่งเสริม และพัฒนาการกีฬาให้ไปสู่ความเป็นเลิศและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรีผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าว ถูกใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมตลอดทั้งให้การบำบัด ฟื้นฟูและ เยียวยาผู้ถูกกระทำการดังกล่าว

เห็นว่า ควรมีระบบและกลไกในการประกันการทำหน้าที่ของสถาบันครอบครัวได้อย่างมีคุณภาพ รัฐต้องมีหน้าที่ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยและเป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ๑๕ ปี และเห็นว่า รัฐต้องจัดบริการสุขภาพให้กับประชาชนทั้งในรูปแบบที่ให้เปล่าและผู้รับบริการมีส่วนร่วมจ่าย ณ. จุดบริการเพื่อแก้ปัญหางบประมาณโรงพยาบาลไม่เพียงพอ

รัฐบาลต้องทำให้ความยากจนไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพและทำให้ลูกหลานทุกคนของครอบครัวไทยไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรสามารถเรียนถึงขั้นสูงสุดตามศักยภาพของเขา จึงต้องนำระบบเรียนฟรีสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานถึงมัธยมปลายควบคู่กับระบบการให้สินเชื่อผูกกับรายได้ในอนาคต (สำหรับการศึกษาขั้นอุดมศึกษา) ต้องจัดระบบสวัสดิการการศึกษาเช่นที่กล่าวมานี้จึงจะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง หากไม่เช่นนั้นการศึกษาจะกลายเป็นเครื่องมือรักษาชนชั้นมากกว่าจะเป็นเครื่องมือที่เปิดให้ทุกคนมีโอกาสที่ทัดเทียมกันในการเลื่อนชั้นทางสังคม

มาตรา ๖๙ รัฐพึงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบ เกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัย โดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้

ตนมีความเห็นว่า รัฐควรมีหลักประกันในอาชีพและประกันรายได้เกษตรกร

มาตรา ๗๐ รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงาน โดยเหมาะสมกับศักยภาพและวัย และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัย ในการทำงาน โดยได้รับสวัสดิการ รายได้และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่ การดำรงชีพ และพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงาน

ตนมีความเห็นว่า รัฐพึงพัฒนาระบบการคุ้มครองแรงงาน จัดให้มีมาตรฐานแรงงานเป็นไปตามมาตรฐานองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานและสมาคมวิชาชีพต่างๆ รัฐควรมีการประกันการมีงานทำของประชาชน จัดหางานให้ประชาชนทำหากต้องออกจากงานเนื่องจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ

มาตรา ๗๑ รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์ จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขจัดการผูกขาดทาง เศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของ ประชาชนและประเทศ

รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่ กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทำสาธารณะ

มีความเห็นว่า รัฐพึงพัฒนาระบบเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดเสรีภาพในการประกอบการ ลดอำนาจการผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขันและบรรลุซึ่งความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ รัฐควรแปรรูปกิจการที่ไม่มีความจำเป็นเพื่อลดภาระทางการคลังและเพื่อนำงบประมาณไปจัดสวัสดิการให้ประชาชนหรือลงทุนพัฒนาด้านอื่นๆ

สำหรับ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นอุปสรรคต่อโอกาสพัฒนาการทางเศรษฐกิจไทยและทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งทำให้ประชาธิปไตยของประเทศอ่อนแอลง รัฐธรรมนูญได้มีแนวทางการแก้ปัญหาจึงต้องใช้การป้องปราม ลงโทษผู้กระทำ ผิดเป็นอย่างดี แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย จึงต้องมีการปฏิรูประบบยุติธรรมและศาลด้วย

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ในฐานะอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยอีกว่า การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยเป็นปัญหารุนแรงและยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้นในเร็วๆนี้ ขบวนการฟอกเงิน การหลีกเลี่ยงภาษีเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับบุคคลที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย กรณีสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (ICIJ) เปิดเผยเอกสารลับ ปานามาเปเปอร์ (Panama Papers) ระบุว่า มีบุคคลในหลากหลายวงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการฟอกเงินและซุกซ่อนทรัพย์สินในบริษัทต่างชาตินอมินีนั้นเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลต้องทำการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อปกป้องชื่อเสียงของผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้กระทำความผิดเพียงแต่มีชื่อไปเกี่ยวพันและดำเนินการตามกฎหมายสำหรับผู้กระทำความผิดจริง สิ่งนี้จะพิสูจน์ว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการปราบปรามการฟอกเงินและการทุจริตคอร์รัปชันจริงหรือไม่ การจดทะเบียนธุรกิจในต่างประเทศเป็น Offshore Company เป็นเรื่องปรกติในการทำธุรกิจ เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย หากจัดตั้งเพื่อทำธุรกิจตามปรกติ ส่วนการจัดตั้งบริษัท Offshore Company เพื่อเป้าหมายในการฟอกเงินหรือการซุกซ่อนทรัพย์สินที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ผิดทั้งกฎหมายของไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ วิธีการและเทคนิคการฟอกเงินมีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการโต้ตอบของทางการ ในระยะที่ผ่านมา คณะทำงานเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF)1 ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการใช้เทคนิคผสมที่ทันสมัยเพิ่มขึ้น เช่น มีการใช้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นเพื่ออำพรางการถือกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงและการถือครองทรัพย์ที่ได้จากการกระทำผิดกฎหมาย และการใช้ผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อให้คำแนะนำและความช่วยเหลือในการฟอกเงินที่ได้จากการประกอบอาชญากรรม ปัจจัยเหล่านี้เมื่อรวมกับประสบการณ์ที่ได้รับจากกระบวนการดำเนินการกับประเทศและเขตดินแดนที่ไม่ให้ความร่วมมือตามแนวทางของ FATF และความริเริ่มในระดับประเทศและระหว่างประเทศทำให้ FATF ได้ทบทวนและปรับปรุงข้อแนะนำสี่สิบข้อสำหรับใช้เป็นแนวทางที่มีความสมบูรณ์สำหรับป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย บัดนี้ FATF จึงเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ดำเนินขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อนำระบบการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของประเทศตนมาปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อแนะนำใหม่ของ FATF และเพื่อนำมาตรการเหล่านี้มาปฏิบัติใช้อย่างมีประสิทธิผล จึงเสนอให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามมาตรฐานของ FATF

ความโปร่งใสและการจัดการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันจะดีขึ้นหากเรามีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีเสรีภาพของสื่อมวลชน วิชาการและการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์

ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า การคอร์รัปชันในไทยนั้นมีหลายรูปแบบและมีนวัตกรรมพัฒนาขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและการตรวจสอบ เช่น อยู่ในรูปเหมือนภาษี อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเรียกเก็บภาษีคอร์รัปชัน ซึ่งรวมทั้งการเรียกสินบน/ส่วย/สินน้ำใจ ฯลฯ ตอบแทนการคุ้มครองธุรกิจผิดกฎหมาย การกระทำผิดกฎหมาย ผิดระเบียบ หรือ กฎเกณฑ์ที่ทางการกำหนดไว้ การดึงเงินงบประมาณมาเป็นของตน ผ่านค่าคอมมิชชันโครงการ การรับสินบนการจัดซื้อ จัดจ้าง รวมทั้งการเสนอโครงการเพื่อให้ได้เงินคอร์รัปชันโดยโครงการดังกล่าวอาจไม่มีประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ การรับสินบนในขบวนการหลีกเลี่ยงภาษี การโกงภาษีการจ่ายสินบนเพื่อให้ได้มาซึ่งการผูกขาดธุรกิจ หรือการผูกขาดหรือฮั้วกันในการประมูลโครงการ การเล่นพรรคเล่นพวก การซื้อขายตำแหน่งในระบบราชการ การคอยรับใช้ส่วนตัวในแทบทุกเรื่องของผู้มีอำนาจโดยนักธุรกิจ การจัดสรรสัมปทานอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อเอื้อให้กับกลุ่มธุรกิจที่จ่ายเงินโดยรัฐเสียผลประโยชน์เสียค่าโง่และนำไปสู่การผูกขาดในกิจการต่างๆ ผู้นำหรือรัฐบาลคอร์รัปชันมากจะส่งเสริมให้คอร์รัปชันแพร่หลายในหมู่ข้าราชการ การคอร์รัปชันทางนโยบายที่ทำให้ทิศทางและพัฒนาการทางเศรษฐกิจเบี่ยงเบนไปจากที่ควรเป็น ปิดกั้นการลงทุนด้านนวัตกรรมเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การฟอกเงินและการนำเงินจากการทุจริตไปซุกซ่อนในต่างประเทศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศรวมทั้งประเทศซึ่งต้องการอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศไทยในการแก้ไขปัญหา การดำเนินการอย่างกล้าหาญของ สมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (ICIJ) และเจ้าหน้าที่ของบริษัทมอสแซค ฟอนเซกาที่นำเอาเอกสารลับ 11.5 ล้านฉบับออกมาเผยแพร่ถือเป็นความกล้าหาญที่น่ายกย่อง ข้อมูลชุดนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกสีเทาไปสู่โลกที่โปร่งใสขึ้นบ้าง และ อาจทำให้ผู้อำนาจทางการเมืองจำนวนหนึ่งที่ฉ้อโกงหรือมีพฤติกรรมฟอกเงินและเลี่ยงภาษีต้องหมดอำนาจไป และ ขณะนี้ได้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงแล้วในบางประเทศ เช่น ไอซ์แลนด์ อังกฤษ และรัสเซีย เป็นต้น

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ สรุปอีกว่า จากงานวิจัยของ Axel Dreher และ Thomas Herzfeld นักเศรษฐศาสตร์ชาวยุโรป พบว่า ดัชนีคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น 1 ขั้นทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงประมาณ 0.13% และทำให้ผลิตภัณฑ์รายได้ประชาชาติต่อหัวลดลงประมาณ 425 ดอลลาร์หรือทำให้ประชาชนโดยเฉลี่ยจนลงประมาณ 13,600 บาทต่อคน (An Increase of corruption by about one index point reduces GDP growth by 0.13% points and GDP per capita by 425 US$) นอกจากนี้ งานวิจัยต่างๆโดยเฉพาะจากธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ บ่งชี้ว่า ความรุนแรงของผลกระทบของคอร์รัปชันต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมรุนแรงขึ้นอีกเมื่อประเทศนั้นไม่ยึดหลักนิติรัฐนิติธรรมและมีรัฐบาลอ่อนแอหรือใช้ระบอบอำนาจนิยมปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากนี้มันยังส่งผลกระทบทำให้การลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์และไม่ส่งผลบวกระยะยาวต่อสาธารณชน ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงอ่อนค่าลง ส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ประเทศที่มีความโปร่งใสกว่าเสียเปรียบทางการค้า การส่งออก การลงทุนระหว่างประเทศต่อประเทศที่มีความโปร่งใสน้อยกว่าเมื่อมีธุรกรรมกับประเทศที่มีระดับการคอร์รัปชันสูง คอร์รัปชันยังส่งผลต่อฐานะทางการคลังย่ำแย่ลง กระตุ้นในเกิดตลาดมืด ตลาดการเงินและเศรษฐกิจเงา รวมทั้งเศรษฐกิจและการเงินนอกระบบ ส่งผลกระทบทางลบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านระบบการศึกษาและการสาธารณสุขที่อ่อนแอและไม่มีคุณภาพ รวมทั้งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญ

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวเสนอแนะว่า แม้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผู้ร่างเรียกว่าเป็นฉบับปราบโกงแต่ไม่อาจปราบโกงได้จริงหากเนื้อหารัฐธรรมนูญหรือผู้อำนาจรัฐในปัจจุบันและอนาคตหลังการเลือกตั้งไม่ได้สนับสนุนประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้ 1. ต้องเปิดเสรี เพิ่มการแข่งขัน ลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจและการเมือง 2. ผ่อนคลายกฎระเบียบ ลดการใช้อำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ 3. เพิ่มความโปร่งใสและการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนและนักลงทุน เพิ่มเสรีภาพสื่อมวลชนและเสรีภาพทางวิชาการ 4. เพิ่มอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลในระบบ 5. เพิ่มการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณการคลังไปยังภูมิภาคและชุมชนต่างๆพร้อมพัฒนากลไกตรวจสอบและควบคุมในพื้นที่ 6. บังคับใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาด การกระทำผิดจากการทุจริตคอร์รัปชันไม่มีอายุความ 7. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการที่เอกชนทำได้ดีกว่าและไม่ใช่การบริการพื้นฐานที่รัฐต้องดูแล 8. ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศและนานาชาติในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน 9. ต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียงและระบอบธนาธิปไตย 10. ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยมและวัฒนธรรมที่ยึดถือคุณธรรมจริยธรรม มีค่านิยมวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยแทนที่ ค่านิยมวัฒนธรรมในระบอบอุปถัมภ์เส้นสาย

ส่วนประเด็นเรื่องการปฏิรูประบบประกันสุขภาพนั้น คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ให้ความเห็นว่า ระบบบริการสุขภาพของแต่ละประเทศมีความแตกต่างหลากหลายการปฏิรูประบบบริการสุขภาพจึงต้องคำนึงถึงความแตกต่างของปัจจัยแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง หากต้องการให้รัฐมีบทบาทสำคัญในการบริการด้านนี้ ก็ต้องพิจารณาความพร้อมของฐานะทางการคลังด้วย ระบบบริการทางด้านสุขภาพและการสาธารณสุขในสหรัฐอเมริกานั้น จะอาศัยกลไกตลาดบวกระบบสวัสดิการที่รัฐจัดให้ผสมผสานกัน ในส่วนของกลไกตลาดนั้น จะนำเอาหลักการประกันสุขภาพซึ่งเป็นประเภทที่นายจ้างเป็นผู้ซื้อให้ (Employer – Based Insurance)

ขณะที่อังกฤษจะอยู่ภายใต้ระบบที่เรียกว่า National Health Service (NHS) ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดสรรบริการสุขภาพอย่างครบครันให้กับประชาชนทุกคน โดยไม่คิดมูลค่า แหล่งรายได้ของ NHS มาจาก ภาษี เป็นหลัก ต่อมาอังกฤษได้ปฏิรูประบบ NHS โดยใช้วิธีการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการเป็นหลัก ค่าใช้จ่ายบริการสุขภาพยังได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดินเป็นหลักอยู่เหมือนเดิม โดยสถานพยาบาทเลือกที่อยู่นอกระบบได้ มีการแยกผู้ซื้อบริการ (ผู้ป่วย) ออกจากผู้ให้บริการ (โรงพยาบาล)

มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นของ World Health Organization และธนาคารโลก พบข้อสรุปตรงกันว่า ประเทศที่มีประชากรสุขภาพและการศึกษาต่ำกว่ามาตรฐาน จะมีความยากลำบากในการรักษาระดับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

แบบจำลองทางเศรษฐกิจข้อมูลระหว่างประเทศพบว่า สถานะสุขภาพของประชากรเป็นตัวแปรสำคัญในการอธิบายความแตกต่างของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผลสรุปประมาณการว่า อายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 – 0.4 ต่อปี ประเทศที่มีอายุขัยเฉลี่ยสูงสุด 77 ปี มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศที่มีอายุขัยเฉลี่ยต่ำสุด 49 ปี ถึงร้อยละ 1.6 ต่อปี ความแตกต่างนี้จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลา

ในตลาดประกันสุขภาพนั้น มีลักษณะปัญหา 4 อย่างที่ควรทำความเข้าใจให้ดี ได้แก่ บริการสุขภาพภาวะความไร้สมมาตรของสารสนเทศ (Asymmetry of Information) ปัญหาภาวะความเสี่ยงภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) ปัญหาการเลือกรับภัยที่ขัดประโยชน์ (Adverse Selection) ปัญหาอุปสงค์เทียมต่อบริการสุขภาพที่ชักนำโดยผู้ให้บริการสุขภาพ (Supplier – Induced Demand)

ปัจจัย 3 ประการต่อไปนี้เพื่อบรรเทาปัญหาที่การคลังและการจ่ายค่าบริการสุขภาพต้องเผชิญ ได้แก่

1. วิธีการคลังและการจ่ายค่าบริการสุขภาพที่เลือกมาใช้ต้องสอดคล้องกับโครงสร้างการออมเงินของประเทศ นั่นคือ ไม่ควรใช้จ่ายเกินความสามารถของประเทศที่มีอยู่ แต่รัฐสามารถเพิ่มการอุดหนุนโรงพยาบาลโดยเก็บภาษีเพิ่มหรือเพิ่มมาตรการลดหย่อนเป็น 3-5 เท่าสำหรับผู้ที่บริจาคให้โรงพยาบาลรัฐ

2. วิธีการคลังและการจ่ายค่าบริการสุขภาพต้องครอบคลุมหรือจูงใจให้มีการให้บริการสุขภาพ ด้านการป้องกันโรคขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้เพราะว่าการป้องกันโรคมีต้นทุนต่ำกว่าการรักษาพยาบาล และหากป้องกันโรคได้สำเร็จ ค่าใช้จ่ายด้านบริการสุขภาพจะลดลงได้อย่างมาก

3. วิธีการคลังและการจ่ายค่าบริการควรมีความยืดหยุ่นในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องรายได้ของประชาชน การระบาดของโรค ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับการตอบสนองตามความคาดหวังของตนเองได้ เช่น เมื่อประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็มีอุปสงค์ต่อบริการสุขภาพที่มีคุณภาพสูงขึ้นด้วย เป็นต้น

หมายเหตุ ท่านสามารถติดตามเนื้อหา ข้อเสนอการปฏิรูประบบสวัสดิการและระบบประกันสุขภาพ ที่จัดเสวนาทางวิชาการไปเมื่อวันจันทร์ที่ 4 เม.ย. 2559 อันมีเนื้อหาการบรรยาย ของ ดร. วิโรจน์ ณ. ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ นายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ม. รังสิต ได้ทาง RSU Wisdom TV

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๒๒ บูติคนิวซิตี้ สนับสนุนนักออกแบบคนรุ่นใหม่ Collaboration แบรนด์ GSP X Alex ออก 2 คอลเลคชั่นพิเศษฮีลใจและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
๑๖:๐๑ ดั๊บเบิ้ล เอ มอบหน้ากากอนามัยฯให้รพ.สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า สมุทรสงคราม
๑๖:๔๘ ไวไว ร่วมต้อนรับนักท่องเที่ยว ร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2567
๑๖:๑๘ งานสัมมนาออนไลน์ เปิดโลก Open Source Cloud ประตูบานใหม่ของโลกไอที
๑๖:๔๑ ม.ศรีปทุม ปิดจ๊อบ วุฒิปลอม พัฒนาระบบ Digital Transcript ตรวจสอบวุฒิออนไลน์ง่ายๆ ผ่านมือถือ
๑๖:๕๐ โครงการเพื่อสตรีของคาร์เทียร์ ประกาศรายชื่อผู้เข้ารอบ 33 คน ประจำปี 2024 เตรียมพร้อมประกาศรางวัลชนะเลิศ ณ เมืองเซินเจิ้น สาธารณะรัฐประชาชนจีน 22 พฤษภาคม
๑๖:๔๖ Cryptomind วิเคราะห์เจาะลึก Bitcoin Halving ครั้งที่ 4 โอกาส? หรือกับดัก? นักลงทุน
๑๖:๔๖ 'อ้วน' ปัญหาเชิงมหภาค! แนะภาครัฐต้อง 'จัดการตรงจุด' แบ่งกลุ่มรักษา ย้ำ 'ประชาชน' คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสุขภาพดี
๑๖:๔๖ SPA จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น E-AGM ประจำปี 2567
๑๖:๒๖ 'นวดกดจุด' หรือ 'นวดทุยหนา' (Tuina) ศาสตร์แพทย์แผนจีนที่ รพ.จุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต