นักวิจัยสกว.ชี้3เหตุใหญ่ธรณีพิบัติที่ญี่ปุ่น

จันทร์ ๑๘ เมษายน ๒๐๑๖ ๑๑:๐๔
นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว สกว. ระบุ 3 สาเหตุหลักของเหตุธรณีพิบัติที่ญี่ปุ่น ว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่อยู่ในระดับตื้น แต่อัตราเร่งสูง และเกิดใจกลางเมือง ส่งผลให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก ชี้ยังมีอาคารบ้านเรือนเก่าแก่และอ่อนแอไม่ได้มาตรฐาน เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ทั่วโลก จึงเป็นบทเรียนสำคัญของไทยในการรับมือเพื่อป้องกันการสูญเสีย

ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เปิดเผยเปิดเผยถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 6.2-7.2 ที่เกิดต่อเนื่องกันช่วงวันที่ 14-16 เมษายนที่ผ่านมา ในพื้นที่บริเวณใกล้ๆ เมืองคุมาโมโตะ บนเกาะคิวชู ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นบริเวณกว้าง ว่าธรณีพิบัติครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงขนาดใหญ่โดยเป็นแผ่นดินไหวในระดับตื้นที่มีความลึกประมาณ 10 กิโลเมตร และมีจุดศูนย์กลางเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่ถึง 6-7 แสนคน ประกอบกับมีอาคารบ้านเรือนค่อนข้างหนาแน่น โดยสถานีวัดแผ่นดินไหวในพื้นที่วัดอัตราเร่งได้ที่ 0.64-0.84 ซึ่งมากกว่าที่เคยเกิดแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงรายเมื่อปี 2557 จำนวน 2.5-3 เท่าตัว จึงสามารถทำลายอาคารบ้านเรือนให้เกิดความเสียหายในบริเวณกว้างและรุนแรง ขณะที่แผ่นดินไหวที่พม่าล่าสุดแม้จะมีขนาดใกล้เคียงกัน แต่เป็นแผ่นดินไหวที่มีความลึกกว่า 100 กม. จัดเป็นแผ่นดินไหวระดับลึก จึงไม่รุนแรงและไม่เกิดอันตรายมากเท่าที่ญี่ปุ่น

สำหรับผู้เสียชีวิตในขณะนี้ตามรายงานข่าวจากจำนวนที่ค้นพบคือ มากกว่า 30 คน ซึ่งตัวเลขยังไม่นิ่ง เชื่อว่าจะมีการค้นพบผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน ทั้งนี้ ศ. ดร.เป็นหนึ่งอธิบายเพิ่มเติมว่า การเกิดแผ่นดินไหวมี 2 ประเภท ประเภทแรกคือเกิดระหว่างรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้บ่อยครั้งและเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ และอีกประเภทที่คนมักไม่ค่อยเข้าใจ เช่น ในกรณีที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวที่เกิดจากรอยร้าวหรือรอยเลื่อนในแผ่นเปลือกโลกที่มี 4 แผ่นมาชนกัน แม้จะเป็นแผ่นดินไหวตื้นๆ แต่ก็อันตราย ซึ่งปกติแผ่นดินไหวประเภทนี้นานๆ จะเกิดขึ้น เพราะใช้เวลาในการสะสมพลังงานนานนับพันปี เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นที่เมืองโกเบ เมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งใช้เวลานานถึง 1,400 ปี

"สิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้เป็นบทเรียนของประเทศไทยคือ แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่เคร่งครัดเรื่องมาตรการรองรับแผ่นดินไหว แต่ก็ยังมีอาคารบ้านเรือนที่อ่อนแอ เก่าแก่ สร้างมาก่อนจะมีกฎหมายรองรับ เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ทั่วโลก แม้แต่อาคารใหม่เองก็อาจจะสร้างไม่ได้มาตรฐานต้านทานแผ่นดินไหวอย่างเต็มที่ ทำให้ยังมีคงอาคารที่อ่อนแอและแข็งแรงปะปนกันไป เมื่อเกิดแผ่นดินไหวใจกลางเมืองจึงเกิดความสูญเสียขึ้นดังที่ปรากฏ ดังนั้นหากเราปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมอาคารให้แข็งแรง ก็จะยิ่งเกิดความสูญเสียมากกว่าเป็นสิบเป็นร้อยเท่า" ศ. ดร.เป็นหนึ่งระบุ

ด้าน ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยในโครงการเดียวกันจากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้พื้นดินมีการสั่นสะเทือนค่อนข้างรุนแรง โดยความรุนแรงของแผ่นดินไหวอยู่ในระดับ 9 ส่งผลให้มีอาคารบ้านเรือนพังถล่มลงมาหลายหลัง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาประเทศสหรัฐอเมริกา (US Geological Surveys, USGS) ได้รายงานว่าแผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนแบบรอยเลื่อนตามแนวระนาบแบบเลื่อนไปทางขวาของรอยเลื่อนที่วางตัวอยู่ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ทั้งนี้ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะบริเวณเกาะคิวชูเป็นบริเวณที่ตั้งอยู่ในเขตการมุดตัวของแผ่นธรณีหรือแผ่นเปลือกโลก ทะเลฟิลิปปินส์ที่มุดตัวลงไปข้างใต้แผ่นธรณียูเรเชียด้วยความเร็วประมาณ 58 มิลลิเมตรต่อปี ทำให้มีพลังงานสะสมจำนวนมาก เนื่องจากเป็นแนวมุดตัวที่ใหญ่มาก เราจึงเห็นได้ว่าในบริเวณนี้มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากมาโดยตลอด

นักวิจัย สกว. กล่าวว่า ส่วนมากแผ่นดินไหวที่เกิดในบริเวณนี้จะเป็นแผ่นดินไหวระดับลึก ซึ่งเกิดตามแนวของแผ่นธรณีทะเลฟิลิปปินส์ที่มุดตัวลงไปข้างใต้แผ่นธรณียูเรเชีย มีรายงานว่าในรอบประมาณ 100 ปีที่ผ่านมามีแผ่นดินไหวระดับตื้น (ความลึกน้อยกว่า 50 กิโลเมตร) ที่มีขนาดใหญ่มากกว่า 5 ริกเตอร์ เกิดขึ้นในรัศมี 100 กิโลเมตร เพียงแค่ 13 ครั้งเท่านั้น และทำให้เกิดความเสียหายไม่มากนัก แต่ในครั้งนี้เกิดขึ้นในระดับตื้นจึงเกิดความเสียหายอย่างมาก ข้อสังเกตอีกประการได้แก่ ก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ในครั้งนี้เพียง 1 วัน ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.2 และอาฟเตอร์ช็อคขนาดปานกลางอีกหลายครั้ง จึงมีความเป็นไปได้ว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้มีโอกาสถ่ายทอดพลังงานและทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงตามมาได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์เริ่มสนในในประเด็นนี้มากขึ้น ดังเช่นการเกิดชุดแผ่นดินไหวในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศชิลี เป็นต้น ซึ่งคงต้องศึกษากันต่อไป

สำหรับผลกระทบทางอ้อมที่ตามมาสู่สังคมไทยก็คือ เรามีการศึกษาด้านแผ่นดินไหวในประเทศไทยค่อนข้างน้อยมาก เนื่องจากภัยแผ่นดินไหวถูกมองว่ามีโอกาสเกิดน้อยกว่าน้ำท่วมหรือภัยแล้งและภัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยกว่า ทำให้การสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาด้านรอยเลื่อนและแผ่นดินไหวจากภาครัฐมีน้อยมาก แม้นักวิจัยจะพอทราบตำแหน่งรอยเลื่อนมีพลังว่าวางตัวอยู่บริเวณไหนบ้าง แต่รอยเลื่อนที่สำคัญคือรอยรอยเลื่อนที่วางตัวซ่อนอยู่ (hidden fault) ซึ่งถ้าวางตัวอยู่ใกล้ๆ เมือง หรือกลางเมืองใหญ่ แล้วเกิดแผ่นดินไหว ความเสียหายจะรุนแรงอย่างมาก ดังตัวอย่างที่ดีมากจากกรณีแผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติหรือนิวซีแลนด์ ซึ่งแม้ว่าจะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่การสร้างเมืองให้กลับคืนมาเหมือนเดิมแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท

"แม้แผ่นดินไหวที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เมื่อปี 2557 ซึ่งเกิดในพื้นที่ที่ชุมชนไม่หนาแน่นมากนัก แต่มูลค่าความเสียหายยังสูงถึงเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาท การที่เราให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านแผ่นดินไหวและรอยเลื่อนน้อยทำให้เราไม่มีโอกาสทราบได้เลยว่ารอยเลื่อนในบ้านเราได้รับพลังงานสะสมไว้มากน้อยเพียงใด มีความเสี่ยงแค่ไหนที่จะเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต เราจึงไม่ควรประมาทเช่นกัน และจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ด้านแผ่นดินไหวของไทยให้เพิ่มมากขึ้นควบคู่กับการเตรียมพร้อมในภาคประชาชาชน ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ในการเอาชีวิตรอดขณะที่เกิดแผ่นดินไหว การสร้างหรือปรับปรุงอาคารบ้านเรือนให้แข็งแรง สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยในการวางแผนรับมือแผ่นดินไหวและทำให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด" นักวิจัย สกว. กล่าวสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4