สถานการณ์แรงงานและข้อเสนอทางนโยบายเนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ

อังคาร ๐๓ พฤษภาคม ๒๐๑๖ ๑๓:๑๖
สถานการณ์แรงงาน อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำแม้นตัวเลขผู้ขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม เดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีจำนวน 123,087 คน คิดเป็นอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ก็ตาม แต่ภาพรวมอัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% ของกำลังแรงงานทั้งหมดและมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานมากขึ้นในบางภาคการผลิตจากการอพยพย้ายกลับภูมิลำเนาของแรงงานต่างด้าว ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพแรงงานให้ดีขึ้นโดยเฉพาะแรงงานวิชาชีพที่มีการเคลื่อนย้ายโดยเสรี แรงงานวิชาชีพไทยแปดสาขาที่มีการเปิดเสรีแข่งขันกับแรงงานในภูมิภาคได้ยกเว้นสาขาบัญชี การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือส่งผลทำให้จีดีพีไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.01% เกิดผลบวกต่อภาคบริการและอุตสาหกรรมมากกว่าภาคเกษตรกรรม ได้รับผลบวกต่อสวัสดิการโดยรวมของสังคม ทำให้ตัวแปรสวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (งานวิจัยของ ดนุพล อริยสัจจากร และ สมประวิณ มันประเสริฐ) ผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานมีทักษะระหว่างประเทศของไทย แรงงานมีทักษะของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะย้ายออกไปทำงานที่สิงคโปร์ (เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.98) และมาเลเซีย (เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.14) เสนอปฏิรูปกฎหมายแรงงานทั้งระบบเกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงานโดยตรง 11 ฉบับโดยยึดหลักการ 6 ประการ ปรับเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำผ่านระบบไตรภาคีให้เพียงพอต่อการดำรงชีพของผู้ใช้แรงงาน (340-360 บาทต่อวัน) ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ขอให้เร่งรัดในการแก้ไขปัญหาแรงงานทาสและจัดระเบียบการจ้างงานแบบเหมาช่วงให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานสากล เสนอให้จัดโครงการสินเชื่อเพื่อผู้ใช้แรงงาน ลดการกู้หนี้นอกระบบ

ที่มหาวิทยาลัยรังสิต เมืองเอก 13.30 น. 11 พ.ค. พ.ศ. 2559

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นเนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติและให้ข้อเสนอแนะทางนโยบาย ว่า แม้นเศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพและต่ำกว่าเป้าหมาย ก็ไม่ได้มีปัญหาการว่างงานจนน่าวิตก แม้นตัวเลขผู้ขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม เดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีจำนวน 123,087 คน คิดเป็นอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา อัตราการว่างงานโดยรวมเทียบกับกำลังแรงงานเพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยและยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% ปัญหาขาดแคลนแรงงานเพิ่มสูงขึ้นในบางภาคการผลิตเนื่องจากแรงงานต่างด้าวทะยอยกลับประเทศโดยเฉพาะแรงงานจากพม่าหลังจากพม่าเปิดกว้างทางการเมืองและเศรษฐกิจมากขึ้นทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับสูง สถานการณ์การเลิกจ้างล่าสุดยังอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 3 ปี และส่วนใหญ่เมื่อมีการเลิกจ้างแล้ว ผู้ใช้แรงงานสามารถหางานทำได้ในเวลาไม่นานนัก

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพแรงงานให้ดีขึ้นโดยเฉพาะแรงงานวิชาชีพที่มีการเคลื่อนย้ายโดยเสรี แรงงานวิชาชีพไทยแปดสาขาที่มีการเปิดเสรีแข่งขันกับแรงงานในภูมิภาคได้ยกเว้นสาขาบัญชี การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนส่งผลทำให้จีดีพีไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.01% เกิดผลบวกต่อภาคบริการและอุตสาหกรรมมากกว่าภาคเกษตรกรรม ได้รับผลบวกต่อสวัสดิการโดยรวมของสังคม ทำให้ตัวแปรสวัสดิการเพิ่มขึ้น 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (งานวิจัยของ ดนุพล อริยสัจจากร และ สมประวิณ มันประเสริฐ) ข้อตกลงการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพแปดสาขายังไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญนักเนื่องจากในแต่ละวิชาชีพจะเข้าไปทำงานในประเทศอื่นๆยังคงต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบและกติกาของสาขาวิชาชีพนั้นๆในแต่ละประเทศ ยังคงมีข้อจำกัดอยู่มาก ยังต้องมีการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพให้เป็นมาตรฐานกลางของอาเซียนมีความเป็นมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะทางด้านภาษายังคงเป็นอุปสรรคของแรงงานไทยในการไปทำงานในประเทศอื่นๆ

จากผลงานวิจัยของสำนักงานสนับสนุนการวิจัย พบอีกว่า ผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานมีทักษะระหว่างประเทศของไทย แรงงานมีทักษะของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะย้ายออกไปทำงานที่สิงคโปร์ (เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.98) และมาเลเซีย (เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.14) และย้ายไปทำงานประเทศอื่นๆในอาเซียนลดลง ขณะที่ ไทยจะเป็นผู้รับแรงงานทักษะเพิ่มขึ้นจากอาเซียนอื่นๆเพิ่มขึ้นร้อยละ4.48

ดร. อนุสรณ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต คาดการณ์ว่า หากมีการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะต่ำหรือไม่มีทักษะเพิ่มเติมภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การเปิดเสรีดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อไทยโดยภาพรวมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การผลิต การบริการและสวัสดิการสังคมโดยรวม เพราะไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานอยู่และต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านทำงานมากกว่า 3 ล้านคน การเปิดเสรียังลดการใช้อำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่จึงช่วยลดช่องทางในการทุจริตคอร์รัปชันได้ระดับหนึ่ง

ไทยยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศเกี่ยวกับปัญหาแรงงานทาสและการละเมิดสิทธิแรงงานซึ่งต้องเร่งแก้ไข ส่วนหนี้สินของผู้ใช้แรงงานปรับตัวสูงสุดในรอบ 8 ปีเป็นผลมาจากรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่จำเป็นในชีวิตและการก่อหนี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากการก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัว

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้เสนอแนะทางนโยบายเนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ ว่า

ข้อหนึ่ง ขอให้รัฐบาลปฏิรูประบบกฎหมายแรงงานโดยมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับแรงงานโดยตรง 11 ฉบับเพื่อจัดทำเป็นประมวลกฎหมายแรงงานและพระราชบัญญัติการบริหารแรงงานทั้งระบบ โดยยึดหลักการ 6 ประการ คือ หลักเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือหลักสิทธิมนุษยชน หลักความเสมอภาค หลักความเป็นธรรม หลักความมั่นคงในชีวิตของแรงงาน หลักผลิตภาพแรงงานและความสามารถในการแข่งขัน หลักการมีส่วนร่วมผ่านระบบไตรภาคี

ข้อสอง ขอให้มีการพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำผ่านระบบไตรภาคี โดยปรับเพิ่มขึ้นไปที่ 340-360 บาท

ข้อสาม ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการสมาคม สิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วมกัน ซึ่งทั่วโลกถือเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน

ข้อสี่ ขอเสนอให้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนสถานะของ "สำนักงานประกันสังคม" จากหน่วยราชการ เป็น องค์กรมหาชนที่บริหารงานโดยมืออาชีพและผู้แทนของสมาชิกองทุนประกันสังคม

ข้อห้า ขยายสิทธิผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการและรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนได้ รวมทั้งขยายสิทธิไปยังสมาชิกในครอบครัว (แต่ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่ม)

ข้อหก เพื่อลดการบิดเบือนจากการเบิกจ่ายจากกองทุนประกันสังคมกรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน รัฐบาลควรปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนให้สูงกว่ากองทุนประกันสังคม และควรยกสถานะ สำนักงานกองทุนเงินทดแทน เป็น หน่วยงานระดับกรม โดยรวมเอางานของสำนักปลอดภัยแรงงานเข้ามาอยู่ภายใต้หน่วยงานเดียวกัน

ข้อเจ็ด ด้านคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน หรือกองทุนอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการของผู้ใช้แรงงาน ควรให้ระบบคะแนนเสียงถ่วงน้ำหนักในการคัดเลือกตัวแทนนายจ้างและตัวแทนลูกจ้างที่เข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการบริหารกองทุน เพื่อให้ได้ตัวแทนนายจ้างที่เป็นตัวแทนของนายจ้างส่วนใหญ่ และ ตัวแทนลูกจ้างที่เป็นตัวแทนของลูกจ้างส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

ข้อแปด ควรส่งเสริมระบบบริการที่เน้นป้องกันโรคและอันตรายจากการทำงาน จัดสรรงบเพิ่มเติมในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันอันตรายของแรงงาน

ข้อเก้า การนำเงินกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนไปใช้ลงทุนในบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจใดๆ หรือ โครงการใดๆของรัฐบาล ต้องมีกระบวนการในการตัดสินใจที่โปร่งใสและกรรมการกองทุนประกันสังคมต้องตัดสินใจอย่างเป็นอิสระ อย่างมืออาชีพบนผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม

นอกจากนี้ต้องมีนโยบายและหลักเกณฑ์ต่างๆชัดเจนยิ่งขึ้นไม่ผันแปรตามผู้มีอำนาจทางการเมืองในแต่ละรัฐบาล ข้อสิบ ขอให้เร่งรัดในการแก้ไขปัญหาแรงงานทาสและจัดระเบียบการจ้างงานแบบเหมาช่วงให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานสากล

ดร. อนุสรณ์ กล่าวถึง หนี้สินของผู้ใช้แรงงานที่มีอยู่ในระดับสูงมากตอนนี้ ว่า รัฐบาลควรใช้ธนาคารของรัฐโดยเฉพาะธนาคารออมสินจัดตั้ง โครงการสินเชื่อเพื่อผู้ใช้แรงงาน หรือ ใช้โครงการธนาคารประชาชนซึ่งมีอยู่แล้ว ลดการกู้หนี้นอกระบบ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถกู้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและลงทุนเพื่อประกอบอาชีพเสริมได้ ในภาวะเศรษฐกิจขยายตัวไม่สูงนักและมีการพิจารณาลดการทำงานล่วงเวลาของสถานประกอบการต่างๆ ทำให้รายได้ผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยไม่พอกับรายจ่าย รัฐบาลควรจัดให้มีโครงการเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถประกอบอาชีพเสริมได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้