ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวที่ระดับ 3.2%

พฤหัส ๑๙ พฤษภาคม ๒๐๑๖ ๑๖:๔๑
ธนาคารออมสินได้จัดตั้งศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนงานวิจัยเชิงลึกด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก ให้แก่หน่วยงานภายในธนาคารออมสิน และให้บริการข้อมูลข่าวสาร/ผลการวิเคราะห์วิจัย โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นหน่วยงาน Think Tank ด้านเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 จะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3.0% จากนั้นจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2559 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังขยายตัวอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 3.5% ส่งผลทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ตลอดทั้งปี 2559 อยู่ที่ระดับ 3.2%

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2559 คือภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง การเบิกจ่ายงบลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ เช่น การเติมเงินให้กับกองทุนหมู่บ้าน มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุน การท่องเที่ยว/มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสงกรานต์ โครงการบ้านประชารัฐตลอดจนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (หรืองบกลางปี) ส่วนข้อจำกัด และปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2559 คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ได้คาดการณ์เอาไว้ ปัญหาภัยแล้ง/ฝนทิ้งช่วงยังคงมีความรุนแรงเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ประเทศคู่ค้าหลักใช้นโยบายการเงินที่แตกต่างกันส่งผลทำให้ค่าเงินบาทเกิดความผันผวน และเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การลงทุนใหม่ของภาคเอกชนยังคงมีความ ไม่แน่นอนสูง และสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงมีผลทำให้อำนาจซื้อของภาคครัวเรือนลดต่ำลง

ประชาชนฐานรากมองว่าภาวะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยอีกว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก ได้จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (Grassroots Economic Sentiment Index : GSI) เพื่อให้ธนาคารออมสิน และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ใช้ติดตามภาวะเศรษฐกิจฐานราก และใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้รับรู้ปัญหา และสามารถหาแนวทางในการป้องกัน/แก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที โดยดัชนีฯ ที่สร้างขึ้นจะเป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความรู้สึกของประชาชนในระดับฐานราก (หรือกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท) ที่มีต่อเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและในช่วง 6 เดือนข้างหน้า โดยหากค่าดัชนีสูงกว่าระดับ 50 แสดงว่าประชาชนในระดับฐานราก มีความเห็นว่าภาวการณ์ด้านนั้นๆ จะ "ดีขึ้นหรืออยู่ในระดับที่ดี" ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากค่าดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 แสดงว่าประชาชนในระดับฐานรากมีความเห็นว่าภาวการณ์ด้านนั้นๆ จะ "แย่ลงหรืออยู่ในระดับที่ไม่ดี"

สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก หรือ GSI ประจำเดือนเมษายน 2559 ได้ดำเนินการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ทั่วประเทศ จำนวน 1,580 ตัวอย่าง ผลที่ได้พบว่า GSI อยู่ที่ระดับ 44.9 โดยการที่ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในระดับฐานรากยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวไม่มากนัก โดยปัจจัยเรื่องปัญหาภัยแล้ง/ฝนทิ้งช่วงและราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ถือว่าเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นในระดับภาพรวมของประชาชนในระดับฐานราก ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากในปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 43.5 สะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานยังไม่ฟื้นตัวมากนัก และการที่ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากต่อสถานการณ์ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 46.2 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในระดับฐานรากมีความเชื่อมั่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมี ความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

เมื่อแยกตามองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ประชาชนระดับฐานรากมีความมั่นใจในความสามารถจับจ่ายใช้สอย และการหารายได้ในอนาคตสูงกว่าระดับ GSI โดยรวม อย่างไรก็ตาม ประชาชนระดับฐานรากยังคงมีความกังวลใจต่อภาวะเศรษฐกิจจากภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก คาดการณ์ว่าการบริโภคของประชาชนในระดับฐานรากจะฟื้นตัวได้ไม่มากนักในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากประชาชนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก แต่การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงกลางไตรมาสที่ 2 หากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและปัญหาภัยแล้งคลี่คลายได้เร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ ยังได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในระดับฐานรากที่มีต่อนโยบายของภาครัฐ โดยในส่วนของการได้รับประโยชน์จากมาตรการของรัฐนั้นพบว่าประชาชนในระดับฐานราก ส่วนใหญ่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายสำหรับพัฒนาตำบลละ 5 ล้านบาท มากที่สุด (ร้อยละ 76.6) รองลงมาคือ มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติปี 55-57 (สำรองจ่ายฉุกเฉิน) (ร้อยละ 72.9) มาตรการปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย (ร้อยละ 71.7) และมาตรการสินเชื่อสำหรับ SME ผ่านธนาคารออมสิน (ร้อยละ 70.8) ส่วนมาตรการที่ได้รับประโยชน์น้อยที่สุดคือ โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ (ร้อยละ 67.7) โดยมาตรการของรัฐมีผลบวกต่อครัวเรือนในเรื่องภาระหนี้ที่ลดลงมากที่สุด รองลงมา คือ ต้นทุนการผลิตลดลง และการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน เมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในระดับฐานรากว่าเศรษฐกิจของประเทศจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติและขยายตัวได้เมื่อใด ประชาชนในระดับฐานรากคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติและขยายตัวในช่วงหลังปี 2560 (ร้อยละ 42.2) รองลงมาคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะปกติและขยายตัวได้ในช่วงปี 2560 (ร้อยละ 30.8) และร้อยละ 27 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติและขยายตัวได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2559

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4