ผลการประชุมแก้ปัญหาท่องเที่ยว: ทัวร์ศูนย์เหรียญ/ นอมินี

พุธ ๐๑ มิถุนายน ๒๐๑๖ ๑๗:๔๕
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ป.กก.) ในฐานะประธานคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ได้กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาปัญหาที่เป็นผลกระทบต่อระบบการท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้งปัญหาเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ และปัญหาการใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพรางว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกรมการท่องเที่ยวได้ดำเนินการออกตรวจปฏิบัติตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ร่วมกับกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวในรอบ 6 เดือน พบผู้ประกอบอาชีพเป็นมัคคุเทศก์โดยไม่ได้รับอนุญาต (ไกด์เถื่อน) จำนวน 88 ราย เป็นคนไทย 42 ราย เป็นชาวต่างชาติ 46 ราย พบผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวซึ่งกระทำผิดกฎหมาย จำนวน 39 ราย และได้มีการลงโทษผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่กระทำผิดกฎหมาย โดยสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว จำนวน 23 ราย สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯ จำนวน 6 ราย

นอกจากนี้กรมการท่องเที่ยว ยังได้ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม และกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 เรื่องการแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (Nominee) ดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบ ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่เข้าข่ายพฤติกรรมต้องสงสัยว่าใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (Nominee) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พัทยา ภูเก็ต เกาะสมุย หัวหิน เชียงใหม่ จำนวน 79 ราย พบผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่เข้าข่ายประกอบธุรกิจนำเที่ยวใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (Nominee) จำนวน 6 ราย ซึ่งกองธรรมาภิบาล กรมพัฒนาธุรกิจการค้า อยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมข้อมูลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อดำเนินการต่อไป รวมถึงได้มีการจัดส่งรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวรายใหม่ และผู้ที่มายื่นเรื่องยกเลิกการประกอบธุรกิจนำเที่ยว จัดส่งให้กับกรมสรรพากร เป็นประจำทุกเดือน เพื่อดำเนินการตรวจสอบด้านภาษีอีกด้วย

นายพงษ์ภาณุ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า กรมการท่องเที่ยว ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีการดำเนินการอย่างจริงจังด้านการป้องกันและปราบปรามปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต่างๆ เช่น การประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เถื่อน ปัญหาการหลอกลวงนักท่องเที่ยว พาหนะ สถานประกอบการที่เอารัดเอาเปรียบกับนักท่องเที่ยว ปัญหายาเสพติดในแหล่งท่องเที่ยว และปัญหาอาชญากรข้ามชาติ รวมถึงได้มีการจัดตั้งอาสาสมัครช่วยเหลือนักท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในพื้นที่ 11 จังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวก ดูแลช่วยเหลือนักท่องเที่ยว สอดส่องพฤติกรรมผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ที่ไม่ดูแลเอาใจใส่นักท่องเที่ยว ส่วนการแก้ไขปัญหาทัวร์จีน ราคาต่ำกว่าทุนอย่างไม่มีเหตุผล ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน และสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว โดยมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาทัวร์จีนราคาต่ำกว่าทุนอย่างไม่มีเหตุผล (ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ) ปลัดท่องเที่ยวฯ กล่าวในที่สุด

สรุปมาตรการในการแก้ไขปัญหาธุรกิจนำเที่ยว หลอกลวงนักท่องเที่ยว

1. การประชาสัมพันธ์วิธีปฏิบัติในการเลือกซื้อทัวร์

- เผยแพร่ทางสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งภาษาไทยและสื่อสิ่งพิมพ์ที่ได้รับความนิยมที่เป็นภาษาต่างประเทศ

- ประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการจัดงานส่งเสริมการขายด้านการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ที่ขายบริการนำเที่ยวในงาน เพื่อคัดกรองและป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตฯ แฝงตัวเข้ามาขายทัวร์ในงาน

2. การจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน แก้ไขปัญหาธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ และผู้นำเที่ยว

เพื่อดำเนินการในการแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ และผู้นำเที่ยว ที่ให้บริการไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการถูกหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ เช่น การบังคับซื้อสินค้าในราคาที่สูงกว่าปกติ การเรียกเก็บค่าบริการนำเที่ยวเพิ่มเติมนอกเหนือจากรายการนำเที่ยว ที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า และการละทิ้งนักท่องเที่ยว โดยจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน แก้ไขปัญหาธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ และผู้นำเที่ยว ตั้งอยู่ที่ สำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยว เลขที่ตั้ง 154 ถ. พระรามที่1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

ช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียน มีดังนี้

1) ร้องเรียนด้วยตัวเองได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ สำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยว เลขที่ตั้ง 154 ถ.พระรามที่1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

2) แจ้งเรื่องร้องเรียน ทางโทรศัพท์ ที่หมายเลข 02 219 4010-7 ต่อ 401 333

3) แจ้งเรื่องร้องเรียน ผ่านทางเว็บไซต์ www.tourism.go.th

3. ตรวจสอบธุรกิจนำเที่ยวที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายของธุรกิจนำเที่ยวที่เคยมีประวัติ หรือพฤติกรรมหลอกลวงหรือฉ้อโกงนักท่องเที่ยว เพื่อตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป

4. สร้างเครือข่าย เพื่อการเฝ้าระวังการประกอบธุรกิจนำเที่ยว ซึ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย

5. มีกองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยว

ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเงินทดรองจ่ายให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับธุรกิจนำเที่ยว หรือตามที่ได้โฆษณาหรือรับรองไว้กับนักท่องเที่ยว สถานที่ติดต่อเพื่อรับเงินชดเชย กองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยว สำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ อาคาร 2 ชั้น 5 กรมการท่องเทียว

6. มีหนังสือไปยังผู้จัดงานส่งเสริมการขายด้านการท่องเที่ยว และมีการจัดประชุมกับผู้จัดงานส่งเสริมการขายด้านการท่องเที่ยว

เพื่อขอความร่วมมือ ในการตรวจสอบสถานะของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ก่อนมีการอนุญาตให้ขายทัวร์ในงานส่งเสริมการขายต่างๆ และให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจัดทำข้อมูลรายงานการขายบริการนำเที่ยว ให้แก่สำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวฯ เพื่อเป็นช่องทางการป้องกันปัญหาการหลอกลวงนักท่องเที่ยวและเป็นการสร้างความเชื่อให้แก่นักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง

7. มีการจัดโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551

เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ และบุคคลที่สนใจ ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551

8. มีการจัดตั้งสำนักทะเบียนสาขา เพิ่มจากเดิม 4 สาขา เป็น 15 สาขาประจำอยู่ทั่วประเทศ

เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนให้การติดต่อประสานงานต่างๆ เรื่องการจดทะเบียนขอใบอนุญาตต่างๆ รวมทั้งสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนฯ ได้

9. มีการดำเนินการร่วมกัน ระหว่าง สำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยว กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ในการตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่มีลักษณะการดำเนินการโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (NOMINEE) เพื่อป้องกันและปราบปรามคนต่างชาติเข้ามาใช้ธุรกิจนำเที่ยวเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ และสร้างความเสียหาย ต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ

10. ประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำในการจดทะเบียนประกอบธุรกิจนำเที่ยว

เพื่อให้ผู้ที่สนใจหรือผู้ที่ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ที่ทำธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับใบอนุญาต หรือผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวแล้ว แต่ยังประกอบธุรกิจนำเที่ยวผิดประเภท เนื่องจากยังพบว่ามีผู้ที่ประกอบธุรกิจนำเที่ยวอีกหลายราย ที่ประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่มีความรู้เรื่องการประกอบธุรกิจนำเที่ยว ยังประกอบธุรกิจนำเที่ยวผิดประเภท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้