รมว.ท่องเที่ยว สั่งการแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวเชิงรุก เร่งจัดระเบียบและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ตอกย้ำ “รายได้ต้องมาพร้อมคุณภาพ”

พฤหัส ๐๒ มิถุนายน ๒๐๑๖ ๑๒:๕๕
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่านโยบายด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยไทย มีหัวใจหลักคือมุ่งเน้นยกระดับคุณภาพของการท่องเที่ยวควบคู่กับการสร้างรายได้และสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้ได้ ถึงวันนี้จึงได้เวลาทบทวนแผนงานเชิงบูรณาการภายในกระทรวงในหลายมิติเพื่อเร่งให้เกิดการแก้ปัญหาทันเวลา และรับมือข้อร้องเรียนในด้านการท่องเที่ยวได้อย่างทันท่วงทีจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเกือบ 3 ล้านคนต่อเดือนในเวลานี้

นางกอบกาญจน์ กล่าวว่าได้มอบนโยบายเรื่องการเร่งดูแลภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยไปกับ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแล้ว ซึ่งมีการขานรับนโยบายดังกล่าวโดยจัดประชุมคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อหาทางคลี่คลายปัญหาต่างๆ พร้อมติดตามความก้าวหน้าของการปฏิบัติงาน โดยมีกรอบเวลาว่าจะต้องเร่งรัดการแก้ปัญหา 3 เรื่องสำคัญให้เกิดเป็นรูปธรรมและมีความชัดเจนเพื่อรายงานผลทุก 1 เดือนนับจากนี้

นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า สำหรับกรอบการทำงานเชิงบูรณาการที่จะต้องมีการปฏิบัติการรับเรื่อง ข้อร้องเรียนและดำเนินการแก้ไขปัญหาจะแบ่งออกเป็น 3 เรื่องสำคัญได่แก่ 1) การแก้ปัญหาเรื่องธุรกิจท่องเที่ยว นอมินี 2) การจัดการข้อร้องเรียน เรื่องต่างๆ ด้านการท่องเที่ยวในเชิงรุก และ 3) การเร่งประสานแก้ปัญหาป้องกันสภาพแวดล้อมทรัพยากรไม่ให้ทรุดโทรมในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อจัดทำตัวชี้วัดด้านรายได้ และคุณภาพที่แม่นยำ

กรอบการแก้ปัญหาเรื่อง ปัญหาการใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (Nominee)

กรมการท่องเที่ยว ร่วมกับกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ดำเนินการออกตรวจปฏิบัติตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 สัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยออกตรวจสอบในรอบ 6 เดือน ตั้งแต่พฤศจิกายน 2558 จนถึงเมษายน 2559 พบผู้ประกอบอาชีพเป็นมัคคุเทศก์โดยไม่ได้รับอนุญาต (ไกด์เถื่อน) จำนวน 88 ราย เป็นคนไทย 42 ราย เป็นชาวต่างชาติ 46 ราย พบผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวซึ่งกระทำผิดกฎหมาย จำนวน 39 ราย และได้มีการลงโทษผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่กระทำผิดกฎหมาย โดยสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว จำนวน 23 ราย สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯ จำนวน 6 ราย ซึ่งล่าสุดเดือนเมษายนที่ผ่านมาตำรวจท่องเที่ยวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อปราบปรามการประกอบธุรกิจนอมินี สามารถตรวจยึดสิ่งผิดกฎหมายและจับกุมผู้กระทำผิด พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวฯ ได้จำนวน 28 ราย

นางกอบกอบกาญจน์ กล่าวว่า ทั้งนี้กรมการท่องเที่ยว ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม และกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (Nominee) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557

และในวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ได้มีการดำเนินการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งประกอบด้วย กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน และสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ และปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้มีการดำเนินการร่วมกัน ระหว่าง สำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยว กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ในการตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่มีลักษณะการดำเนินการโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (NOMINEE) เพื่อป้องกันและปราบปรามคนต่างชาติเข้ามาใช้ธุรกิจนำเที่ยวเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ และสร้างความเสียหาย ต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ

รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำในการจดทะเบียนประกอบธุรกิจนำเที่ยวเพื่อให้ผู้ที่สนใจหรือผู้ที่ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ที่ทำธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับใบอนุญาต หรือผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวแล้ว แต่ยังประกอบธุรกิจนำเที่ยวผิดประเภท เนื่องจากยังพบว่ามีผู้ที่ประกอบธุรกิจนำเที่ยวอีกหลายราย ที่ประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่มีความรู้เรื่องการประกอบธุรกิจนำเที่ยว ยังประกอบธุรกิจนำเที่ยวผิดประเภท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต

"กรอบความร่วมมือต่างๆได้เกิดขึ้นเต็มรูปแบบแล้วแทบทุกด้าน เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะมีคำถามเข้ามามากว่าในขณะที่เราเพิ่มจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยว ธุรกิจคนไทย และประชาชนคนท้องถิ่นได้อะไร ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่ข้อมูลตรงนี้ต้องชัดเจน มอบหมายให้ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ต้องรายงานข้อมูลเข้ามาดูในเรื่องนี้ทุก 1 เดือนไว้ และหัวใจคือต้องเข้าไปแก้ที่ต้นตอปัญหาให้ได้ " นางกอบกาญจน์ กล่าว

2.) การจัดการข้อร้องเรียนเรื่องต่างๆด้านการท่องเที่ยวและรายงานแก้ไขในเชิงรุก

นางกอบกาญจน์ กล่าวว่าประเทศไทยมีการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน แก้ไขปัญหาธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ และผู้นำเที่ยว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าประชาชนอาจไม่ทราบว่ามีศูนย์นี้เกิดขึ้นมากนัก จำเป็นจะต้องมีการปรับรูปแบบการทำงานเพื่อให้สามารถทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวรู้สึกอุ่นใจในการท่องเที่ยวและมั่นใจว่าข้อร้องเรียนที่ถูกเอาเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ และผู้นำเที่ยว ที่ให้บริการไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการถูกหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ เช่น การบังคับซื้อสินค้าในราคาที่สูงกว่าปกติ การเรียกเก็บค่าบริการนำเที่ยวเพิ่มเติมนอกเหนือจากรายการนำเที่ยว ที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า และการละทิ้งนักท่องเที่ยว จะได้รับการตอบสนองและได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานราชการอย่างชัดเจน โดยในอนาคตกำลังศึกษารูปแบบว่าอาจจะมีการทำงานในเชิงรุก รับเรื่อง – แก้ไข – เร่งด่วน –รายงานสรุปผล เหมือนกับ ตู้ ปณ. 1111 ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้

โดยศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวดังกล่าว ตั้งอยู่ที่ สำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยว เลขที่ 154 ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

ช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียน มีดังนี้

1) ร้องเรียนด้วยตนเองได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ สำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยว เลขที่ 154 ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

2) แจ้งเรื่องร้องเรียนทางโทรศัพท์ ที่หมายเลข 02 219 4010-7 ต่อ 401 333

3) แจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ www.tourism.go.th

นางกอบกาญจน์ กล่าวว่าเรามีกองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยว ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเงินทดรองจ่ายให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับธุรกิจนำเที่ยว หรือตามที่ได้โฆษณาหรือรับรองไว้กับนักท่องเที่ยว สถานที่ติดต่อเพื่อรับเงินชดเชย กองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยว สำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ อาคาร 2 ชั้น 5 กรมการท่องเทียว ข้อมูลและช่องทางมากมายเหล่านี้ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้ทราบอย่างแพร่หลายและคิดถึงศูนย์นี้เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเพราะคาดหวังว่าจะได้รับการแก้ไขต่อไป

3.) การเร่งประสานแก้ปัญหาป้องกันสภาพแวดล้อมทรัพยากรไม่ให้ทรุดโทรมในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อจัดทำตัวชี้วัดด้านรายได้ และคุณภาพที่แม่นยำ

นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า ในข้อที่ 3 นี้จะเป็นประเด็นสำคัญที่จะอธิบายและเชื่อมโยงว่ามิติการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะต้องนำเอาเรื่องผลประโยชน์คนไทยที่มิใช่นอมินีมาแยกแยะตัวเลขและชี้วัดรายได้ที่กระจายสู่ท้องถิ่นและบริษัทสัญชาติไทยเพื่อกำหนดกรอบการพัฒนาให้ชัดเจน โดยแน่นอนว่ารายได้ในส่วนนี้ก็จะต้องนำเอาไปดูแลสภาพแวดล้อมต่างๆที่ เป็นต้นทุนทรัพยากรไทย ที่จะต้องรักษาไว้ไม่ให้การท่องเที่ยวเข้าไปทำลายระบบสมดุลสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยในท้ายที่สุดนั่นเอง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๖:๕๘ Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๖:๐๓ Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๖:๓๕ โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๖:๓๑ 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๖:๒๗ TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๖:๔๗ SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๖:๐๐ โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๖:๒๙ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๖:๒๘ คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital