พลังพี่เลี้ยงจุดพลังพลเมือง

พุธ ๒๙ มิถุนายน ๒๐๑๖ ๑๒:๒๖
กว่า 2 ปีที่โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก (Active Citizen) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดพื้นที่แห่งโอกาสแก่เด็กและเยาวชนให้เข้ามาเรียนรู้และพัฒนาตัวเองสู่การเป็นพลเมืองที่ดีของท้องถิ่น ผ่านการทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ซึ่งกลไกหนึ่งที่ค้นพบตลอดระยะเวลาของโครงการว่ามีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาเด็กและเยาวชนคือ "พี่เลี้ยง"

เพราะการทำงานด้านเด็กและเยาวชนที่ผ่านมามักเป็นแบบ อีเวนต์ (Event) ทำแล้วจบไป ทั้งที่การสร้างและพัฒนาเด็กเสมือนการปลูกต้นไม้ เมื่อใส่เมล็ดพันธุ์ ก็ต้องรดน้ำ พรวนดิน เพิ่มปุ๋ย คือต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง เข้าไปหนุนเสริมด้านความรู้ ทักษะ และคอยกระตุ้นชวนคิด ชวนคุย โดยทีมพี่เลี้ยงของโครงการพลังเด็กฯ ประกอบด้วย อ้วน-คำรณ นิ่มอนงค์ อาร์ต-สุทธิลักษณ์ โตกทอง โด่ง-อรรถชัย ณ บางช้าง และ นัท-ชนนท์ ภู่ระหงษ์ ทว่ากว่าจะมาเป็นพี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กฯ ใช่ว่าใครๆ จะเป็นได้ นอกจากการคัดเลือกแล้ว ยังมีกระบวนการเสริมความรู้ เพิ่มทักษะ และสร้างพลังให้พร้อมทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ในการทำงานกับเด็ก...เพื่อเด็กอีกหลากหลาย

"หลักๆ จะถามว่าอยากกลับมาอยู่บ้านไหม อยากทำอะไรที่บ้านหรือเปล่า ส่วนคุณสมบัติรับแค่จบ ม.6 พอ เพราะเคยคัดคุณสมบัติเยอะแล้วพบว่าไม่ช่วยอะไร จึงถามแค่เรื่องกลับบ้าน ส่วนเรื่องอื่นคิดว่าสามารถฝึกกันได้ นอกนั้นก็ดูท่าทีว่าพร้อมเรียนรู้หรือไม่ เล่างานให้ฟังคร่าวๆ แล้วให้กลับไปคิดว่าจะทำไหม"

ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้บริหารโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก บอกเล่าวิธีการคัดเลือก พี่เลี้ยงเด็กและเยาวชน ที่ไม่ซับซ้อนขอเพียงอยากทำงานในบ้านเกิด เพราะนี่คือโครงการที่จะสร้างเด็กมาเป็นกำลังพัฒนาท้องถิ่นในอนาคต หากเป็นคนท้องถิ่นเองย่อมเห็นคุณค่าของโครงการ และเปิดใจเรียนรู้ หลังเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงแล้ว จะต้องผ่านการฝึกฝนอย่างจริงจังและเรียนรู้แบบเข้มข้น เพื่อพัฒนาตัวเองสู่การเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการสร้างสำนึกพลเมืองแก่เด็กและเยาวชน

กระบวนการก่อร่างสร้างความเป็นพี่เลี้ยง คือการพาไปเรียนรู้จากเวทีประชุม เข้าอบรมพัฒนาทักษะทางสังคม การทำกิจกรรม และพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้คนหลากหลาย ซึ่งทำให้พี่เลี้ยงได้รับความรู้ใหม่ๆ เรียกว่าเป็นการสะสมชั่วโมงบิน ยิ่งได้เดินทางไปเรียนรู้ ตั้งคำถามต่อสิ่งที่เห็นเป็นประจำ หมั่นเพียรค้นหาคำตอบ จะยิ่งพัฒนา เมื่อโอกาสเหมาะสมก็สามารถดึงเรื่องราวที่อยู่ในเนื้อในตัวออกมาใช้ได้

ประเด็นในการเรียนรู้ทุกวาระที่พี่เลี้ยงต้องเก็บกลับมาคือ แก่นหรือเบื้องหลังและบริบทโดยรอบของกิจกรรมนั้นๆ เพื่อนำกลับมาประยุกต์ใช้ให้ถูกต้อง เพราะจะสร้างการเรียนรู้และทักษะที่สำคัญ ถ้าทำได้ก็เดินไปสู่เป้าหมายอย่างง่ายดาย และเมื่อรู้แล้วต้องรีบงัดออกมาใช้

ชิษนุวัฒน์เล่าถึงเรื่องนี้ว่า "วัฒนธรรมอย่างหนึ่งขององค์กรเราคือ ทุกครั้งที่น้องอบรมมา ผมจะตั้งคำถามว่าอบรมแล้วได้ใช้ไหม ถ้าไม่ใช้ทีหลังไม่ต้องไป เพราะฉะนั้นคุณต้องนำมาใช้ ซึ่งแต่ละคนจะมีสไตล์ปลีกย่อยของตัวเอง ดึงสิ่งที่อบรมมาประยุกต์ใช้ให้ตรงกับตัว ถ้าผมไปอบรมได้อะไรใหม่ๆ ก็มักนำมาทดลองใช้ทันที ไม่อย่างนั้นจะลืม แล้วนั่งถกกันว่าเครื่องมือเป็นอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ผมทำและถ่ายทอดว่าต้องเห็นคุณค่าของการไปอบรม"

นอกจากรับบทเรียนมาประยุกต์ใช้แล้ว พี่เลี้ยงยังต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางทักษะและความคิดด้วยการเรียนรู้กระบวนการคิดเชิงระบบ (System Thinking) ซึ่งเป็นหัวใจของการทำงานที่นี่ ซึ่งจะสอนผ่านการที่พี่ทำให้น้องดู แล้วมานั่งพูดคุยกันว่าเห็นอะไร เพราะเมื่อคิดเป็นระบบ ย่อมเห็นความสำคัญของการเตรียมตัวและวางแผน ที่ช่วยสร้างทิศทางการทำงาน โดยทุกคนจะเขียนแผนการทำงานทุกสัปดาห์ว่าจะทำอะไรบ้าง ชิษนุวัฒน์ อธิบายเพิ่มว่า ตัวเขามีหน้าที่คอยดูว่า พี่เลี้ยงแต่ละคนดำเนินงานตามแผนหรือไม่ หากไม่ เขาก็เข้าไปกระตุ้นบ้างตามจังหวะ เพราะการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่เด็ก ในภูมิสังคมภาคตะวันตกให้เกิดขึ้นจริงต้องมองออกถึงความเกี่ยวพันระหว่างเรื่องทุกเรื่อง

สำหรับการจัดสรรพี่เลี้ยงลงไปดูแลเด็กและเยาวชนแต่ละโครงการ จะเลือกตามความถนัด และพื้นที่บ้านเกิด เพื่อให้ตัวพี่เลี้ยงรู้จักบ้านเกิดของตัวเองมากขึ้น และเผื่ออนาคตข้างหน้าได้กลับไปเป็นฐานการทำงานให้พื้นที่บ้านเกิด

เมื่อลงสนามงานจริง พี่เลี้ยงจะมีบทบาทเป็น โคช (Coach) โดยเริ่มติดตามน้องตั้งแต่สมัครเข้ามา จนก้าวสู่กระบวนการเวิร์คช็อปและ ลงพื้นที่ติดตามการทำงาน เพื่อทบทวนความเข้าใจของน้องและสร้างการเรียนรู้จากชุมชน เพราะโครงการที่เด็กๆ จะทำเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาหรือต่อยอดภูมิปัญญาของชุมชน นอกจากนั้นต้องบริหารทีมที่มีเด็กต่างพื้นฐานให้ได้เรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งพี่เลี้ยงแต่ละคนก็มีเทคนิคเฉพาะตัวที่ได้จากการสังเกตพฤติกรรมของน้องผสมประสบการณ์ต่างๆ ที่เคยพบ

คำรณ นิ่มอนงค์ เล่าถึงเทคนิคส่วนตัวว่า "ผมจะมีการจดบันทึกพฤติกรรมเด็ก เพื่อให้เด็กทุกคนทำโครงการไปด้วยกันได้ ไม่ใช่เก่งเด่นขึ้นมาคนเดียว เพราะแต่ละคนต่างมีศักยภาพ จึงทำให้ผมเห็นพฤติกรรมเด็กเป็นรายคน แล้วนำมาออกแบบกิจกรรมได้เหมาะสม และพยายามมองทุกอย่างที่เข้ามา ทั้งความรู้และอุปสรรค เป็นโอกาสการเรียนรู้สำหรับน้อง"

รูปแบบการทำงานดังกล่าว คือวิธีเปิดโอกาสให้น้องได้คิดและลงมือทำด้วยตัวเอง ส่วนพี่เลี้ยงมีหน้าที่คอยหนุนเสริมในสิ่งที่น้องต้องการ ซึ่งทำให้พี่ต้องพัฒนาตัวเองเพื่อหาความรู้ กิจกรรม เทคนิคต่างๆ มาเติมให้น้องตลอดกระบวนการ จนกลายเป็นว่าพี่เลี้ยงกับน้องต่างค่อยๆ เติบโตไปด้วยกัน ดังเช่นที่ อรรถชัย ณ บางช้าง บอกว่า

"ผมรู้จักสายน้ำแม่กลองที่อยู่หน้าบ้านตัวเองมากขึ้นว่ามีความสำคัญอย่างไร จากการเป็นพี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กฯ เพราะได้เรียนรู้เรื่องราวของบ้านเกิด ร่วมกับน้องๆ ที่ทำโครงการ และเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นในเรื่องความอดทนและการช่างสังเกต จากการดูแลน้อง"

การเติบโตของบุคลากรย่อมส่งผลถึงองค์กร และแน่นอนต้องส่งผลต่อแนวคิด ความเชื่อ และเป้าหมายขององค์กร ที่ทำให้มีความหวังว่าเด็กและเยาวชนในภูมิสังคมภาคตะวันตกของวันนี้จะมาเป็นพลเมืองผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สังคมสู่ทางที่ดีขึ้นในอนาคต

"พวกเราเป็นองค์กรเล็ก ทำงานเล็กๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ และเริ่มเห็นแล้วว่าได้รับการยอมรับจากหลายที่ ทำให้เรามั่นใจว่ากำลังเดินมาถูกทาง งานต่อไปคืออยากจะตกผลึกความรู้เป็นคู่มือเพื่อให้คนทำงานด้านเด็กคนอื่นนำไปทำต่อได้เอง โดยเราจะสร้างจินตนาการบางอย่างที่มีพลังผลักให้เขาไปข้างหน้า ขณะเดียวกันคนทำงานก็ต้องเชื่อว่า เขาต้องพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือนการก้าวขึ้นบันได ภายใต้ต้นทุนการทำงานที่ประกอบด้วย คุณธรรม จริยธรรม การมีวินัยและความรับผิดชอบ ซึ่งจะเกื้อหนุนการทำงานให้สำเร็จ" ชิษนุวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4