ยูบีเอ็มหนุนผู้ประกอบการไทยรุกตลาดฮาลาลอินโดนีเซีย ชิงเค้กตลาดอาหาร 9,000 ล้านเหรียญ

ศุกร์ ๑๕ กรกฎาคม ๒๐๑๖ ๑๐:๑๔
ธุรกิจอาหาร ธุรกิจแห่งอนาคต : ปัจจุบันประเทศไทย เป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารในอันดับต้นๆ ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาด 6.3% จากทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชียรองจาก ประเทศจีน และจากการวิเคราะห์การค้าอาหารทั่วโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด เป็นผลสืบเนื่องจากจำนวนประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารไทยมีการส่งออกคิดเป็นมูลค่า 32,960 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกสินค้าอาหารช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปีนี้ มีมูลค่า 4,093 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 โดยอาหารส่งออกที่น่าสนใจและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ อาหารกลุ่ม ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูปมีมูลค่าการส่งออก 962 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 14.3%

หนุนไทยชิงส่วนแบ่งการตลาดด้วย R&D : การเพิ่มยอดการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารไทยนั้น หัวใจสำคัญคือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์อาหาร และการปรับประยุกต์ให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละประเทศ เพราะการนำวัตถุดิบมาแปรรูปแล้วส่งออกโดยขาดนวัตกรรมและกระบวนการคิดจะไม่ตอบสนองความต้องการของตลาดอีกต่อไป ดังนั้นนวัตกรรมและส่วนผสมอาหาร หรือ Food Ingredients ที่ช่วยเพิ่ม สี กลิ่น รักษารสชาติให้คงอยู่ รวมถึงสร้างปรากฏการณ์แปลกใหม่ให้อาหารจะสร้างความสนใจจากผู้บริโภคทั่วโลกได้ ซึ่งเมื่อรวมกับข้อได้เปรียบของประเทศไทยที่เป็นแหล่งวัตถุดิบชั้นดีของโลกอยู่แล้ว ก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจได้อย่างมหาศาล ซึ่งปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชน มุ่งส่งเสริมยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนา (R&D) มุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนา ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาใช้ในการพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการผลิต ให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลผ่านโครงการต่างๆ อาทิ การเชื่อมโยงงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคต

อินโดนีเซีย โอกาสทองของผู้ประกอบการไทย ประเทศอินโดนีเซียมีจำนวนประชากรสูงถึง 253.7 ล้านคน จัดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยราว 6% ต่อปี และยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะยังคงเติบโตและกลายเป็นอันดับที่ 11 ของโลกในปี 2020 หนึ่งในธุรกิจที่เติบโตมากในอินโดนีเซีย คือ ธุรกิจอาหาร โดยในช่วงปี 2558 - 2561 คาดว่าประชากรจะมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารเฉลี่ยต่อคนเติบโตเพิ่มขึ้นปีละ 8.2% เนื่องจากมีการขยายการลงทุนของภาครัฐ การเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยว และการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ นอกจากนี้อินโดนีเซียยังมีการนำเข้าสินค้าหมวดอาหารคิดเป็นมูลค่ามากถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากกำลังการผลิตและวัตถุดิบในประเทศยังไม่เพียงพอที่จะนำไปผลิตให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งในปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ รวมทั้งบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโคคา-โคล่า เป็บซี่ และดานอน ที่กำลังมีอิทธิพลในธุรกิจอาหารของอินโดนีเซียในตอนนี้ อินโดนีเซียจึงกลายประเทศที่น่าจับตามองและเป็นอีกโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยในการลงทุน

ตลาดฮาลาลน่าจับตา ประชากรมุสลิมทั่วโลกเพิ่ม 2 เท่า : การเติบโตของตลาดอาหารฮาลาล กลุ่มประชากรมุสลิมกำลังขยายตัว โดยคาดการว่าภายใน 10-20 ปีข้างหน้าประชากรมุสลิมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากปัจจุบันมีอยู่ 1,500-1,700 ล้านคน โดยอยู่ในตลาดอาเซียนถึง 30-40% ประกอบกับผู้ผลิตอาหารตามหลักฮาลาลยังมีอยู่น้อยราย ทำให้ตลาดเศรษฐกิจฮาลาลเป็นตลาดเกิดใหม่ที่ทรงอิทธิพลและมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วที่สุด และมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากไม่ต่ำกว่า 20% ต่อปี ทั้งในด้านการผลิตและการบริโภคสินค้าอาหารฮาลาลทั้งที่อินโดนีเซียผลิตเองได้และนำเข้า 90% จะเป็นอาหารฮาลาล นอกจากนี้กำลังซื้อของผู้บริโภคก็มีแนวโน้มสูงขึ้นตามความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะผู้บริโภคอินโดนีเซียมีกำลังซื้อสูงนั้นมีจำนวนประมาณ 15% ของประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะคนจีน-อินโดฯ ที่อาศัยอยู่ในเมืองจาการ์ตา สุราบายา และเมืองเมดาน ซึ่งเป็นเมืองหลักทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามสินค้าฮาลาลที่สามารถจัดจำหน่ายได้นั้นจะมีข้อกำหนดเฉพาะในแต่ละประเทศที่ผู้ประกอบการต้องติดตามและตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการตามเงื่อนไข อย่างไรก็ตามตลาดอาหารฮาลาลเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย เพราะมีมูลค่าตลาดมากถึง 6-8 ล้านล้านบาทต่อปี ขณะที่ไทยส่งออกอาหารฮาลาลน้อยมาก คิดเป็นเพียง 0.1% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาทางพัฒนาตลาดฮาลาล โดยหาพันธมิตรทางการค้า สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยไปสู่ระดับสากล

สร้างความร่วมมือทางวิชาการ มุ่งให้ความรู้ติดปีกผู้ประกอบการไทย : ล่าสุดยูบีเอ็ม เอเชีย นำโดย คุณมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ได้ขยายความร่วมมือไปยังภาคการศึกษา โดยร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับ ผศ.ดร.ธนะบูลย์ สัจจาอนันตกุล คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านงานวิจัย รวมถึงร่วมเป็นวิทยากรสำหรับงานสัมมนาของงาน Fi Asia ระหว่างปี 2559-2560 ทั้งนี้เพื่อยกระดับความรู้ การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์อาหาร แนวโน้มตลาดอาหาร พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ รวมถึงข้อกำหนดและโอกาสในการส่งออกอาหารในอาเซียน

12 เทรนด์อาหารมาแรง : ผศ.ดร.ชุติมา ไวศรายุทธ์ รองคณะบดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึง 12 เทรนด์อาหารมาแรงในปี 2016-2017 ดังนี้

1. Artificial public enemy NO.1 : ปัจจุบันผู้บริโภคต้องการอาหารจากธรรมชาติและอาหารหารที่ผ่านกระบวนการน้อยๆ เทรนด์อาหารนี้จึงทำให้บริษัทและหน่วยงานผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มต้องลบส่วนผสมสังเคราะห์ที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติออกจากส่วนผสม เพราะสารเคมีสังเคราะห์ต่างๆ กลายเป็นศัตรูอันดับ 1 ของผู้บริโภคไปเรียบร้อยแล้ว

2. Eco is the new reality : ภัยแล้ง ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ และความกังวลเกี่ยวกับอาหารที่ถูกทิ้ง (Food Waste) ที่มีผลวิจัยรายงานว่าทั่วโลกมีอาหารที่ถูกทิ้ง ถึง 1,300 ล้านตัน หรือราว 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นทั่วโลกนั้น ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ปัญหาเหล่านี้กระทบต่อการเตรียมการและกระบวนการผลิตด้วย ในปี 2016 นี้ การพัฒนาอย่างยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกและกระบวนการผลิตนั้นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้ผลิตต้องหันมาให้ความสำคัญ

3. Alternatives everywhere : เบอร์เกอร์ผักและนมที่ไม่ได้มาจากสัตว์ เป็นหนึ่งในบรรดาผลิตภัณฑ์มาแรงที่ทดแทนแหล่งโปรตีนเดิม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเลี่ยงการทานเนื้อสัตว์และผู้ทานมังสวิรัติ ซึ่งแหล่งโปรตีนทางเลือกเหล่านี้กำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก จนมีแนวโน้มว่าแหล่งโปรตีนทางเลือกเหล่านี้อาจจะกลายเป็นโปรตีนกระแสหลัก และแทนที่โปรตีนจากเนื้อสัตว์ในอนาคต

4. Fat sheds stigma : ปัจจุบันผู้บริโภคมีความรู้เกี่ยวกับที่มาของไขมันดีและไขมันเลวมากยิ่งขึ้นนำไปสู่การเปลี่ยนกรอบความคิดเกี่ยวกับไขมันที่ว่าไขมันเป็นตัวการสำคัญที่คำลายสุขภาพ

5. Table for one : ผู้บริโภคในปัจจุบัน มีแนวโน้มอยู่อาศัยและใช้ชีวิตเพียงคนเดียวมากขึ้น บางครั้งจึงรับประทานอาหารเพียงคนเดียว ส่งผลให้แนวโน้มอาหารที่บรรจุสำหรับ 1 ท่าน 1 มื้อ จะได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับร้านอาหารต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มพื้นที่สำหรับลูกค้าเพียงคนเดียวมากขึ้น

6. Eat with your eyes : นวัตกรรมอาหารนั้นกลายเป็นสีสันและมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างความอยากรับประทานอาหารการสร้างแพคเกจจิ้งที่สวยงามมีจุดเด่นจึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้น รวมถึงการออกแบบอาหารให้มีความน่าสนใจและสวยงามสำหรับเผยแพร่ลงโซเชียลมีเดียก็มีความน่าสนใจเช่นกัน

7. Good enough to tweet : การเพิ่มขึ้นของสื่อด้านอาหาร ได้จุดประกายความน่าสนใจของการทำอาหารให้มากขึ้น ทำให้การทำอาหารในปัจจุบันไม่ได้สนใจเพียงสารอาหารที่ครบถ้วนอย่างเดียว แต่รวมถึงภาพลักษณ์ที่สวยงามและสร้างสรรค์ เพื่อเผยแพร่ลงใน Social Media อีกด้วย

8. E-revolution from carts to clicks : การซื้อสินค้าออนไลน์ แอปพลิเคชัน และบริการจัดส่ง กำลังเปลี่ยนโฉมช่องทางเข้าถึงของผู้บริโภคไปยังการซื้อขายต่างๆ ข้อเสนอแบบเฉพาะเจาะจง หรือแม้แต่มื้ออาหารเต็มรูปแบบ ขณะที่อินเทอร์เน็ตยังไม่ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์การซื้อสินค้าชำมากนัก นวัตกรรมต่างๆ ก็ส่งเสริมให้ผู้บริโภคคิดนอกเหนือไปจากบรรดาร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้านแบบดั้งเดิม

9. Diet by DNA : ในปัจจุบันให้ความสำคัญจากอาหารที่ได้จากธรรมชาติ ซูเปอร์ฟู้ด เพราะมีความเชื่อว่าอาหารมีความเชื่อมโยงกับพันธุกรรมโดยตรง ไม่แม้กระทั่งการลดน้ำหนัก ซึ่งในปัจจุบันมีความพยายามที่จะออกแบบอาหารลดน้ำหนักให้เหมาะกับ DNA ของแต่ละคน

10. Based on a true story : พฤติกรรมการซื้อสินค้าในยุคนี้ ส่วนใหญ่ผู้ซื้อมักต้องการทราบข้อมูล ที่มาของแหล่งผลิต ที่ระบุได้และน่าเชื่อถือได้

11. For Every Body : กระแสออกกำลังกายและรักสุขภาพที่กำลังมาแรงนั้นส่งผลให้ผู้บริโภคต้องการโชว์รูปร่างและผลลัพธ์การออกกำลังกายที่ดี และสิ่งที่มาควบคู่กับการออกกำลังกาย คือ อาหาร และเครื่องดื่มที่ช่วยให้การออกกำลังกายนั้นดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน คุ้นเคยกับ โภชนาการทางกีฬา รวมถึงอาหารช่วยให้พลังงาน โปรตีน ซึ่งเหล่านี้ สร้างโอกาสในการสื่อสาร และ การขยายไลน์สินค้าให้แตกต่างเหมาะกับเป้าหมายและระดับการออกกำลังกายของผู้บริโภคในแต่ละช่วงมากขึ้น

12. From the inside-out : แนวคิดสุขภาพและความงามที่เริ่มต้นจากภายในนั้น กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะผู้บริโภคตระหนักดีว่า อาหารมีผลต่อภาพลักษณ์และความรู้สึก ดังนั้นอาหารในยุคนี้จะเน้นภาพลักษณ์ที่ชัดเจนผ่านแพคเกจจิ้ง ว่ามีส่วนผสมที่บำรุงเรื่องด้านใดได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นลักษะทางกายภาพต่างๆ ไปจนถึงการบำรุงเพื่อสุขภาพ ซึ่งถือเป็นโอกาสให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมจากวิตามิน เกลือแร่ และสารสำคัญต่างๆ ได้รับความนิยม

โอกาสและความท้าทายผู้ประกอบการไทยอาเซียนและอินโดนีเซีย : การส่งออกอาหารของไทย 59.8% อยู่ในเอเชีย โดย 14% อยู่ที่ญี่ปุ่น รองลงมาคือประเทศกลุ่ม CLMV 13. 7% โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์อาหารไทยในเวทีอาเซียน คือคุณภาพสินค้า รสชาติ แต่ขณะเดียวกันก็มีความท้าทายจากรสนิยม และวัฒนธรรมที่แตกต่าง ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องศึกษาความต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างดีที่สำคัญคือการรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการนำเข้า การจดสิทธิบัตร และข้อบังคับในการประกอบธุรกิจ และการเลือกผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ของตนที่มีศักยภาพ มีเครือข่ายที่ดีและมีความน่าเชื่อ สำหรับประเทศอินโดนีเซียผู้นำเข้าสินค้ามักมองว่าผลิตภัณฑ์อาหารไทยมีจุดเด่นในเรื่องของตราสินค้าและคุณภาพสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่น และผู้บริโภคให้การยอมรับ พร้อมกับสามารถแข่งขันด้านราคาจากภูมิประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ส่งผลต่อต้นทุนโลจิสติกส์ แต่สิ่งที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมคือ การรับรองเครื่องหมายฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับ เพราะในปัจจุบันอินโดนีเซียยอมรับมาตรฐานฮาลาลของประเทศมาเลเซียมากกว่าประเทศไทย เนื่องจากข้อได้เปรียบจากการเป็นประเทศมุสลิม แต่อย่างไรก็ตามหากไทยเดินหน้ารักษามาตรฐานฮาลาล และมองว่าฮาลาลเป็นระบบประกันกระบวนการผลิตประเภทหนึ่ง ก็จะสร้างการยอมรับได้ในที่สุด

Food Ingredient Asia 2016 ในประเทศอินโดนีเซีย : นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการธุรกิจ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย(ประเทศไทย) กล่าวเพิ่มเติมว่า "นอกจากโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดกับนักธุรกิจในแวดวงอาหารและเครื่องดื่มแล้ว ผู้ประกอบการสามารถพบนวัตกรรมอาหารที่ภาคเอกชนนั้นได้ทำการพัฒนาเพื่อสร้างความแตกต่างในการนำไปใช้ การวิจัยพัฒนาสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภค และตามลักษณะการผลิตเพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปพัฒนาสินค้าอาหารแปรรูป ซึ่งจะเน้นเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ การนำเสนออาหารให้น่ารับประทาน การใช้ส่วนผสมให้เหมาะกับการเก็บรักษา และการผลิตอาหารที่ปัจจุบันเน้นอาหารประเภทอาหารพร้อมรับประทาน และภายในงานยังมีกิจกรรมอื่นๆ อาทิ สัมมนาอาหารฮาลาลนานาชาติ สัมมนาการศึกษาการเตรียมความพร้อมเพื่อขยายสินค้าไปตลาดอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ในงาน Fi Asia ยังได้สร้างความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือการจัดแสดงผลงานและนวัตกรรมชิ้นเด่นในช่วงปี 2558 จากทั่วโลก ซึ่งเรียกว่า "Innovation Zone (โซนแสดงนวัตกรรม)" เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการค้นคว้าวิจัยเพิ่มมากขึ้น โดยงานฟู้ด อินกรีเดียนส์ เอเชีย 2016 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 กันยายน 2559 ณ จาการ์ตาอินเตอร์เนชั่นแนลเอ็กซ์โป อินโดนีเซีย ซึ่งตัวเลขการเติบโตของงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้นเพิ่มสูงขึ้นถึง 25 % นับตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน และในปีนี้ ผู้ร่วมแสดงสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านส่วนผสมอาหารเข้าร่วมแสดงสินค้าแล้วกว่า 650 บริษัท จาก 40 ประเทศทั่วโลก ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยในการชมเทคโนโลยีส่วนผสมอาหาร สร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และสำรวจความต้องการผู้บริโภคอินโดนีเซียไปพร้อมกัน

ยูบีเอ็มรุกอาเซียนกระตุ้นการลงทุน : นางสาวรุ้งเพชร กล่าวเพิ่มเติมว่า "ปัจจุบันยูบีเอ็มเป็นหนึ่งในธุรกิจบริการขนาดใหญ่ที่มีบทบาทเชื่อมโยงผู้ซื้อและผู้ขายในภาคการผลิตและการลงทุนเข้าด้วยกัน สิ่งหนึ่งที่เรามองเห็น คือ ศักยภาพการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน เพราะทำได้ง่ายขึ้น และสภาพเศรษฐกิจของอาเซียนโดยรวมยังมีความแข็งแกร่ง และเพื่อรองรับการเติบโตและการเปิดประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ เราได้ขยายการลงทุนในอาเซียนค่อนข้างมาก และครอบคลุมการจัดงานในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น งานแสดงเทคโนโลยีส่วนผสมอาหารแห่งเอเชีย ( Food Ingredient Asia ) ที่จัดขึ้นในไทย อินโดนีเซีย และ เวียดนาม งานแสดงเทคโนโลยีด้านปศุสัตว์และสัตว์น้ำ (Livestock Asia) ที่จัดขึ้นในเวียดนาม มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ โดยยูบีเอ็มมุ่งสร้างความเป็นเลิศจากธุรกิจจากการเน้นขยายฐานกลุ่มลูกค้า มุ่งมั่นพัฒนา ศึกษา ค้นคว้าวิจัย ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของโลก เพื่อนำมาเชื่อมโยงและต่อยอดให้เกิดการสร้างเครือข่ายธุรกิจ และยกระดับอุตสาหกรรมต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๑ ALLY ผนึก Mural ลงทุนซื้อหุ้นสมาคมมวยปล้ำสเปน หวังผลักดันมวยปล้ำสเปนขึ้นแท่นลีกหลักในยุโรปและลาตินอเมริกา
๑๖:๓๙ โอกาสจองซื้อหุ้นกู้บริษัทชั้นนำ ช.การช่าง เสนอขายช่วงวันที่ 25 - 29 เมษายน 2567 ชูผลตอบแทน 3.40 - 4.10% ต่อปี อันดับความน่าเชื่อถือ A- ติดต่อผ่าน ธ.กรุงเทพ และ ธ.กรุงไทย
๑๖:๕๔ บางจากฯ สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาเยาวชนในทักษะแห่งอนาคต ผ่านโครงการ SI Sphere: Sustainable Intelligence-based Society Sphere โดย UN Global Compact Network
๑๕:๑๓ เปิดไลน์อัพ 10 ศิลปินหน้าใหม่มาแรงแห่งปีจาก Spotify RADAR Thailand 2024
๑๕:๐๘ อาร์เอส กรุ๊ป เดินหน้ากลยุทธ์ Star Commerce ยกทัพศิลปิน-ดารา เป็นเจ้าของแบรนด์ และดันยอดขายด้วย Affiliate Marketing ประเดิมส่งศิลปินตัวแม่ ใบเตย อาร์สยาม
๑๕:๒๐ กสิกรไทยผนึกกำลังเจพีมอร์แกน เปิดตัวโปรเจกต์คารินา ดึงศักยภาพบล็อกเชน ลดระยะเวลาธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ
๑๕:๐๖ สเก็ตเชอร์ส จัดกิจกรรม SKECHERS PICKLEBALL WORKSHOP ส่งเสริมสุขภาพและขยายคอมมูนิตี้กีฬา Pickleball ในไทย
๑๕:๕๖ SHIELD จับมือแอสเซนด์ มันนี่ และ Money20/20 Asia จัดกิจกรรมระดมเงินบริจาคแก่มูลนิธิรามาธิบดี
๑๕:๔๓ 'ASW' เตรียมโอนกรรมสิทธิ์ 4 คอนโดฯ ใหม่ ไตรมาส 2 ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และภูเก็ตมูลค่ารวมกว่า 6,600 ล้านบาท
๑๕:๔๑ โก โฮลเซลล์ สนับสนุนเกษตรกรไทย ปูพรมจำหน่ายผลไม้ฤดูกาล สดจากสวนส่งตรงถึงมือคุณ