ระบบทุนนิยมที่เอื้อเฟื้อต่อกัน: สิ่งที่มุ่งหวังและเป็นจริงได้

อังคาร ๑๖ สิงหาคม ๒๐๑๖ ๑๔:๔๒

คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

หลายคนอาจมองว่าระบบทุนนิยมเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุด สำหรับการจัดสรรทรัพยากรและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยความเป็นจริงแล้ว การแพร่กระจายของระบบทุนนิยมนั้น ก่อให้เกิดความก้าวหน้าในหมู่ชนชั้นกลางมาตลอดช่วง 2-3 ศตวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม รูปแบบทุนนิยมที่ไม่มีการควบคุมกลับถูกหาว่าเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจต่าง ๆ และความผันผวนที่มากเกินปกติ ทำให้ทรัพยากรสูญสิ้นและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย สร้างความมั่งคั่งให้แก่คนกลุ่มเล็ก ๆ ทำให้ช่องว่างของรายได้ยิ่งถ่างออกไป ผู้คนนับล้านจึงยังคงหิวโหยและยากจนเช่นเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปีพ.ศ. 2540 และระหว่างปีพ.ศ. 2550-2551 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระบวนการและผลพวงจากระบบทุนนิยมที่ขาดการตรวจสอบ

ความโลภเป็นตัวผลักดันให้คนที่จ้องหาประโยชน์ใช้ช่องโหว่ทุกช่องในระบบทุนนิยม จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างใหญ่หลวงแก่ผู้อื่น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีโมเดลระบบทุนนิยมที่ยึดหลักความพอเพียง เข้ามาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เอื้อเฟื้อต่อกันมากขึ้น เพื่อช่วยสร้างโลกให้ยุติธรรมและยั่งยืนกว่าเดิม

"ข้อสมมุติฐานหนึ่งที่ถูกเชื่อมาโดยตลอดคือ เศรษฐศาสตร์เป็นแว่นขยายที่จับต้องได้เพียงชิ้นเดียว ที่สามารถสอดส่องความเป็นไปของโลกใบนี้ได้ชัดเจน" ผศ.ดร.ประสพโชค มั่งสวัสดิ์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวและเล่าต่อว่า "บางคนอาจอ้างได้ว่าการพิจารณาดัชนีทางเศรษฐกิจ อาทิ อัตราการเติบโตของจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ราคาหุ้น อัตราแลกเปลี่ยน และผลกำไรของกิจการ เป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม พวกเราล้วนตระหนักดีว่า เรื่องที่สำคัญกับชีวิตนั้นมีมากกว่าเพียงแค่ตั้งหน้าตั้งตาหาเงิน โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ครอบครัว ชุมชน ศาสนา และการอยู่อย่างเป็นสุข เป็นต้น รัฐบาลในหลายประเทศมีดัชนีประเมินภาวะเศรษฐกิจหลายตัว แต่ดัชนีอย่าง Gross National Happiness ที่ภูฏานใช้นั้นยังไม่ค่อยมีการประเมินกัน ทั้งนี้ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ย้อนกลับมาใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ได้แสดงให้เห็นว่าการพึ่งพิงทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ มากเกินไป และโมเดลด้านตลาดที่ผิดเพี้ยน ที่มิได้คำนึงถึงความสำคัญด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ นั้น อาจส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้คน องค์กร ประเทศต่าง ๆ และโลกของเราโดยรวมได้"

"เป็นที่เข้าใจได้ว่า ผู้คนมากมายโดยเฉพาะในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่นั้น พยายามที่จะ "ไล่ตาม" ให้ทันกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศอื่นที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมักจะเลือกนำรูปแบบของระบบทุนนิยมต่าง ๆ เข้ามาใช้โดยไม่มองถึงจุดบกพร่องหรือความล้มเหลวที่ปรากฎ ทางแก้ต่อปัญหานี้หาใช่การยกเลิกระบบทุนนิยม แต่ควรเป็นการ "ยกระดับ" ให้ระบบนี้มีความเป็นอารยะมากขึ้น ด้วยการคำนึงถึงความต้องการทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และกล่อมเกลาด้วยการใส่ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และความรอบคอบเข้าไป"

หากจะอธิบายให้ชัดเจน หลักฐานที่เป็นรูปธรรมเด่นชัดที่สุดของระบบทุนนิยม มิใช่ผลที่เกิดขึ้นตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง แต่เป็นความเป็นเหตุเป็นผลของแนวคิดที่ได้บิดเบือนไป คือหลักการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างกันได้อย่างเสรี ที่คณะกรรมาธิการรัฐสภาสหราชอาณาจักรด้านมาตรฐานการธนาคาร ได้ศึกษาและค้นพบว่า ภาคการธนาคารในโลกล้วนมีส่วนในการชักใยตลาดต่าง ๆ ให้แรงจูงใจ และตอบแทนการประพฤติมิชอบของนักการธนาคารในรูปแบบต่าง ๆ รับความเสี่ยงมากเกินไป และมีการปล่อยปละละเลยในการบริหาร ทั้งในช่วงก่อนและระหว่างวิกฤตการณ์ทางการเงินโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์ใดเป็นการเฉพาะ แต่เป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับความล้มเหลวทางศีลธรรมที่สืบเนื่องมาจากระบบธรรมาภิบาลไม่ดี แรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม การบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่มีประสิทธิภาพ การขาดการกำกับควบคุม รัฐบาลและรัฐสภาเพิกเฉยในหน้าที่และความรับผิดชอบ กลไกต่าง ๆ ไม่มีประสิทธิผล และตลาดที่ไร้ระเบียบ

ลักษณะโดดเด่นประการที่สองของระบบตลาดคือ ความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส โทมัส พิเก็ตตี้ ได้วิเคราะห์ไว้ในหนังสือของเขาเรื่อง "Capital in the Twenty First Century" ว่า ความไม่เท่าเทียมกันในสหรัฐอเมริกา อาจถือได้ว่ามีอัตราสูงกว่าในสังคมประเทศอื่น ๆ ในอดีต ไม่ว่าจะที่ใดในโลก โดยพบว่ามีเพียงประชากรอเมริกันเพียงร้อยละ 1 ที่ครองความมั่งคั่งมูลค่ารวม 3 ใน 4 ของทั้งประเทศ ในขณะที่ประชากรร้อยละ 1 ในทวีปยุโรปนั้น ครองความมั่งคั่งเพียง 1 ส่วน 4"

เข้าควบคุมระบบทุนนิยมอีกครั้ง

ในขณะที่พิเก็ตตี้นำเสนอว่า ระบบทุนนิยมก่อให้เกิดการฉวยโอกาสและความไม่เท่าเทียม ซึ่งไม่ยั่งยืน แต่เขาก็มิได้เสนอให้ขจัดระบบทุนนิยมออกไป เช่นเดียวกับ โจเซฟ สติกลิกซ์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลในปีพ.ศ. 2544 นักเศรษฐศาสตร์ต่างสำนักเหล่านี้แนะนำว่า เราจำเป็นต้องมีการควบคุมระบบทุนนิยม และทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีการคำนึงถึงสาธารณะประโยชน์เป็นอันดับแรก ซึ่งน่าสนใจว่า พิเก็ตตี้เองก็ไม่เลือกที่จะใช้ระบอบทางเลือกอื่น ๆ เช่น สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์

พันธกิจนี้จึงเป็นการพัฒนาระบบทุนนิยมให้ดีขึ้น โดยเริ่มจากการขจัด หรืออย่างน้อยก็ลดปัญหาความยากจนให้ได้เสียก่อน ซึ่งในระดับสากลนั้น ได้มีมาตรการบรรเทาปัญหาความยากจนลงแล้ว เห็นได้ชัดในประเทศจีน และยังรวมถึงในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย และเวียดนาม

ระบบทุนนิยมที่เอื้อเฟื้อต่อกัน

"ข่าวดีก็คือ รูปแบบของทุนนิยมที่เอื้อเฟื้อต่อกันนั้นมีอยู่จริง เป็นรูปแบบที่ความมั่งคั่งและผลประโยชน์ต่างๆ ได้รับการจัดสรรอย่างเท่าเทียมในสังคม และส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ตัวอย่างเช่นเมื่อนึกถึงกลุ่มประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ที่ถือเป็นผู้นำของโลก ด้วยดัชนีในด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม แนวทางที่ประเทศต่าง ๆ ได้พัฒนาและนำระบบทุนนิยมมาใช้นั้น ส่งผลที่เด่นชัดต่อภาวะเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศนั้น ๆ ดังนั้น แทนที่จะตำหนิทฤษฏีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเสียทั้งหมด การระบุแนวทางหลัก ๆ ที่ประเทศเหล่านี้ได้นำทฤษฎีไปใช้พัฒนา น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า จากนั้นจึงค่อยมาพิจารณาข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบต่าง ๆ ในแต่ละกรณีไป"

ทั้งนี้ ได้มีแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นเกิดขึ้นควบคู่กันไปด้วย ดังเช่น ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเน้นไปที่การใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างชาญฉลาด และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อคนรุ่นหลัง รวมถึงสร้างความสามารถในการปรับตัวยืดหยุ่น ให้แก่องค์กรและระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีเศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยความสุข (Happiness Economics) ที่ให้ความสำคัญกับสาระสำคัญต่าง ๆ ในชีวิต อาทิ ค่านิยมที่ดี เสรีภาพ ศาสนา และตัวตนของบุคคล เน้นที่ความมั่นคงมากกว่าการแสวงหาเงินทองอย่างเดียว

"เห็นได้ชัดว่าระบบเศรษฐกิจและตลาดจะถูกปรับให้เข้ากับความต้องการในโลกและผู้คนที่อยู่อาศัยมากกว่าปัจจัยอื่น ซึ่งเป็นที่น่าประหลาดใจ แต่ก็ไม่ถึงกับเกินความคาดหมาย ที่พบว่าประเทศต่าง ๆ ที่ได้คะแนนสูงในด้านการคุ้มครองการว่างงาน และให้สิทธิประโยชน์ในภาวะว่างงานดี จะเป็นประเทศเดียวกันกับกลุ่มที่มีดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ในระดับสูง"

ประเทศเหล่านั้นยังมักมีดัชนีจีนี (Gini Index) ในระดับที่ดี ซึ่งเป็นมาตรวัดถึงรายได้ ความมั่งคั่ง และความไม่เท่าเทียมในรูปแบบอื่น ๆ ทั้งนี้ ในจำนวนทั้งสิ้น 116 ประเทศ พบว่าประเทศใน 10 อันดับแรกที่มีดัชนีจีนีน้อยที่สุด (หรือมีสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำดีที่สุด) นั้น ล้วนเป็นประเทศในยุโรปที่ใช้ระบบทุนนิยมทั้งสิ้น เรียงลำดับได้ดังนี้ สวีเดน ฮังการี เดนมาร์ก นอร์เวย์ สโลวาเกีย ออสเตรีย ฟินแลนด์ เยอรมนี เบรารุส และเบลเยียม (ที่มา: ธนาคารโลก พ.ศ. 2555) ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มที่เห็นได้ชัดคือ มี 7 ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทุนนิยม และอีก 3 ประเทศที่เคยเป็นรัฐหนึ่งในระบอบคอมมิวนิสต์มาก่อน ส่วนประเทศที่มีดัชนีความเหลื่อมล้ำไม่ดี เป็นประเทศในกลุ่มทุนนิยม (สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และบราซิล) ผสมกับอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ เช่น รัสเซีย และประเทศคอมมิวนิสต์ เช่น จีน เวียดนามและลาว

ระบบทุนนิยมนั้น สามารถใช้เป็นแนวทางการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยพัฒนาผลิตภาพและเศรษฐกิจให้เติบโตได้ก้าวหน้ามากที่สุด อย่างไรก็ดี ระบบนี้ก็ยังมีช่องโหว่หากเป็นทุนนิยมแบบสุดโต่ง เช่นอาจทำให้เกิดความวุ่นวายทางเศรษฐกิจ ความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม และความไม่สงบสุขในสังคม สิ่งเหล่านี้มีต้นทุนสูงและก่อให้เกิดความเสียหายมาก โดยเฉพาะกับบุคคลภายนอก อันตรายต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นจากความโลภของบุคคลที่ต้องการตักตวงผลประโยชน์จากช่องโหว่ในระบบ โดยไม่สนใจว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายและเดือดร้อนต่อคนทั่วไป อีกส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มนักการเมืองที่ถูกอิทธิพลครอบงำและ/หรือฉ้อฉล เชื่อถือคนพาลและยึดเป็นสรณะว่า ระบบตลาดจะเป็นตัวแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว กลับตรงกันข้าม เพราะความไม่เท่าเทียมกันและความขัดแย้งทางสังคมได้ปะทุหนักขึ้น โลกใบนี้กำลังเดือดร้อนทุกข์ทรมาน เกิดความยากจนไปทุกหย่อมหญ้า ผู้คนมากมายยังไม่สามารถเข้าถึงอาหารและน้ำสะอาด เห็นได้ชัดว่าโลกของเราจำเป็นต้องมีทุนนิยมในรูปแบบอื่นเป็นทางเลือก เป็นรูปแบบที่มีจริยธรรมมากขึ้น

"นี่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ระบบทุนนิยมที่มีจริยธรรมมากกว่าเดิมนั้น มีการนำไปใช้ในหลายภาคส่วนของยุโรป เช่น ในเยอรมนี ที่นำระบบทุนนิยมแบบไรน์ (Rhineland Capitalism) ไปใช้จนประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างสูง ซึ่งเป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านตลาด สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับสวีเดนและฟินแลนด์นั้น ใช้ระบบทุนนิยมที่มีจริยธรรมเป็นเรื่องปกติสามัญ ซึ่งประเทศเหล่านี้ต่างประสบความสำเร็จมากในการพัฒนาประเทศ ซึ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (The Philosophy of Sufficiency Economy) จะเป็นตัวกลั่นกรองความรู้สึกผิดชอบชั่วดีให้กับทุกคน ได้ฉุกคิดขึ้นมาทุกครั้งที่ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับทางธุรกิจหรือไม่ก็ตาม และควรเป็นสิ่งที่ทุกคนพิจารณาเป็นทางเลือกอันทรงประสิทธิภาพ ในการผลักดันให้ระบบทุนนิยมทำงานได้ดีขึ้น และยังประโยชน์ให้แก่ทุกผู้คน" ผศ.ดร.ประสพโชค กล่าวสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๑ ALLY ผนึก Mural ลงทุนซื้อหุ้นสมาคมมวยปล้ำสเปน หวังผลักดันมวยปล้ำสเปนขึ้นแท่นลีกหลักในยุโรปและลาตินอเมริกา
๑๖:๓๙ โอกาสจองซื้อหุ้นกู้บริษัทชั้นนำ ช.การช่าง เสนอขายช่วงวันที่ 25 - 29 เมษายน 2567 ชูผลตอบแทน 3.40 - 4.10% ต่อปี อันดับความน่าเชื่อถือ A- ติดต่อผ่าน ธ.กรุงเทพ และ ธ.กรุงไทย
๑๖:๕๔ บางจากฯ สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาเยาวชนในทักษะแห่งอนาคต ผ่านโครงการ SI Sphere: Sustainable Intelligence-based Society Sphere โดย UN Global Compact Network
๑๕:๑๓ เปิดไลน์อัพ 10 ศิลปินหน้าใหม่มาแรงแห่งปีจาก Spotify RADAR Thailand 2024
๑๕:๐๘ อาร์เอส กรุ๊ป เดินหน้ากลยุทธ์ Star Commerce ยกทัพศิลปิน-ดารา เป็นเจ้าของแบรนด์ และดันยอดขายด้วย Affiliate Marketing ประเดิมส่งศิลปินตัวแม่ ใบเตย อาร์สยาม
๑๕:๒๐ กสิกรไทยผนึกกำลังเจพีมอร์แกน เปิดตัวโปรเจกต์คารินา ดึงศักยภาพบล็อกเชน ลดระยะเวลาธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ
๑๕:๐๖ สเก็ตเชอร์ส จัดกิจกรรม SKECHERS PICKLEBALL WORKSHOP ส่งเสริมสุขภาพและขยายคอมมูนิตี้กีฬา Pickleball ในไทย
๑๕:๕๖ SHIELD จับมือแอสเซนด์ มันนี่ และ Money20/20 Asia จัดกิจกรรมระดมเงินบริจาคแก่มูลนิธิรามาธิบดี
๑๕:๔๓ 'ASW' เตรียมโอนกรรมสิทธิ์ 4 คอนโดฯ ใหม่ ไตรมาส 2 ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และภูเก็ตมูลค่ารวมกว่า 6,600 ล้านบาท
๑๕:๔๑ โก โฮลเซลล์ สนับสนุนเกษตรกรไทย ปูพรมจำหน่ายผลไม้ฤดูกาล สดจากสวนส่งตรงถึงมือคุณ