กระทรวงอุตสาหกรรมเผยเหมืองแร่โพแทชช่วยเกษตรกรไทยได้ใช้ปุ๋ยถูกลงร้อยละ 20 พร้อมตั้งเป้าลดการนำเข้าปุ๋ย 700,000 ตันต่อปี

พฤหัส ๐๑ กันยายน ๒๐๑๖ ๑๔:๓๑
กระทรวงอุตสาหกรรมเผยโครงการเหมืองแร่โพแทช สามารถผลิตปุ๋ยโพแทชได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ด้วยกำลังการผลิตแร่โพแทช 1.2 ล้านตันต่อปี สามารถทดแทนการนำเข้าปุ๋ยโพแทชกว่า 700,000 ตันต่อปี ช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้ใช้ปุ๋ยถูกลงร้อยละ 20 เพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรของไทยพร้อมกำกับดูแลและตรวจสอบการประกอบการตามเงื่อนไขและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด รวมทั้งต้องจัดทำประกันภัยเพื่อเป็นหลักประกันความเสียหายจากการทำเหมือง

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่โพแทชจำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท อาเซียนโปแตช ชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) จังหวัดชัยภูมิ และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้มีกำลังการผลิตแร่โพแทช 1.2 ล้านตันต่อปี อุตสาหกรรมเหมืองแร่โพแทชเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกและกำลังก้าวสู่การเป็นครัวของโลก โดยปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่สำหรับการเกษตรกรรมประมาณ 105 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 32.7 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีการนำเข้าปุ๋ยปีละประมาณ 4 ล้านตัน มูลค่า 60,000 ล้านบาท เป็นปุ๋ยโพแทชเซียมประมาณ 700,000 ตัน คิดเป็น 9,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ แร่โพแทชที่ผลิตได้จากโครงการเหมืองแร่โพแทชในประเทศไทยประมาณร้อยละ 90-95 จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตเป็นปุ๋ยโพแทชเพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไทยได้ใช้ปุ๋ยโพแทชในราคาที่ถูกลงประมาณร้อยละ 20-25 และจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันด้านสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้อย่างมีศักยภาพสำหรับแร่โพแทชส่วนที่เหลือสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นได้อีก เช่น อุตสาหกรรมสบู่ อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมฟอกย้อม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยได้อีกทางหนึ่งนอกจากนี้ หากประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตแร่โพแทชในภูมิภาคอาเซียน จะทำให้มีอำนาจต่อรองในการจัดหาปุ๋ยฟอสเฟต ปุ๋ยยูเรีย ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

นางอรรชกา กล่าวต่อว่า ในส่วนของผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากโครงการเหมืองแร่โพแทชนั้นนอกจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ผู้รับประทานบัตรจะต้องจ่ายประมาณ 15,000 ล้านบาทแล้วยังมีค่าภาคหลวงแร่เป็นเงินประมาณ16,600 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการโดยจะส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน 6,640 ล้านบาท และจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9,960 ล้านบาทซึ่งส่วนนี้ก็จะแบ่งให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของโครงการ 3,320 ล้านบาท องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลที่มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ตามประทานบัตร 3,320 ล้านบาท องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลอื่นที่อยู่ภายในจังหวัดที่มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ประทานบัตร 1,660 ล้านบาท และองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลในจังหวัดอื่น 1,660 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีรายได้จากเงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐประมาณ 3,400 ล้านบาทและจะมีการจัดให้มีกองทุนด้านสิ่งแวดล้อม 740 ล้านบาท กองทุนสุขภาพของประชาชน 57.5ล้านบาท และกองทุนพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่เหมือง 325 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนปุ๋ยโพแทชราคาถูกเพื่อเกษตรกรไทย ซึ่งจะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้ใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพสูงราคาถูกตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาลต่อไป

ด้าน นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่าประเทศไทยมีการประเมินเชิงศักยภาพแหล่งแร่ มีปริมาณสำรองประมาณ 407,000 ล้านตัน แบ่งเป็นแร่โพแทชคุณภาพดีหรือแร่โพแทชชนิดซิลไวท์ประมาณ 7,000 ล้านตัน และแร่โพแทชคุณภาพรองลงมาหรือแร่โพแทชชนิดคาร์นัลไลท์ประมาณ 400,000 ล้านตัน ทั้งนี้ปริมาณสำรองแร่ที่สำรวจพบดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยแบ่งเป็น 2 แอ่ง ได้แก่ แอ่งสกลนครครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 17,000 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่จังหวัดสกลนคร นครพนม หนองคาย และอุดรธานีและแอ่งโคราช ครอบคลุมพื้นที่ 33,000 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่โพแทชให้แก่ผู้ประกอบการจำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) จังหวัดชัยภูมิ มีกำลังการผลิตแร่โพแทช 1.1 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาทต่อปี และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา มีกำลังการผลิตแร่โพแทช 1 แสนตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1,100 ล้านบาทต่อปี โดยทั้ง 2 บริษัทอยู่ในระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างเหมืองแร่โพแทชใต้ดินซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตแร่โพแทชได้ในปี 2562

อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีผู้ยื่นขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่โพแทชเพิ่มอีก 1 ราย คือ บริษัท เอเซีย แปซิฟิคโปแตชคอร์ปอเรชั่น จำกัด จังหวัดอุดรธานี โดยยื่นคำขอประทานบัตรรวมเนื้อที่ 26,446 ไร่ ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 36,000 ล้านบาท โดยบริษัทดังกล่าวมีแผนการผลิตปริมาณ 2 ล้านตันต่อปี จากปริมาณสำรองแร่ที่สำรวจพบประมาณ 267 ล้านตันทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างพิจารณาคำขอประทานบัตรดังกล่าว

ในส่วนของ นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) มีการกำกับดูแลโครงการเหมืองแร่โพแทชซึ่งเป็นการทำเหมืองใต้ดินให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎ ระเบียบเงื่อนไขและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยจะเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียของโครงการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลและตรวจสอบการทำเหมืองร่วมกับหน่วยงานภาครัฐด้วย อย่างไรก็ตามนอกจากมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว กพร. มีนโยบายให้ผู้ถือประทานบัตรจัดทำข้อมูลฐานเปรียบเทียบ (Baseline data) สำหรับใช้ในการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการทำเหมือง เพื่อใช้ในการตรวจสอบและกำกับดูแล รวมถึงใช้เป็นข้อมูลในการชี้แจงต่อสังคมได้อย่างชัดเจน และที่สำคัญโครงการเหมืองแร่โพแทชจะต้องจัดทำการประกันภัยเพื่อเป็นหลักประกันหากเกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินจากการทำเหมืองในเขตพื้นที่ประทานบัตร พร้อมทั้งต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสียหายความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินการเยียวยาให้กับผู้มีส่วนได้เสียทันที

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการเหมืองแร่โพแทชเพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของโครงการเหมืองแร่โพแทช เมื่อเร็วๆ นี้ ณ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดชัยภูมิ

สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2202-3555 หรือเข้าไปที่ www.dpim.go.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐:๕๙ ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
๒๐:๓๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐:๕๒ Vertiv เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ไมโครโมดูลาร์รุ่นใหม่ที่มี AI ในเอเชีย
๒๐:๐๙ พิธีขึ้นเสาเอก เปิดไซต์ก่อสร้าง โครงการ แนชเชอแรล ภูเก็ต ไพรเวท พูลวิลล่า บ้านเดี่ยวบนทำเลทองใจกลางย่านเชิงทะเล
๒๐:๔๖ เขตบางพลัดประสาน รฟท.-กทพ. ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าสถานีรถไฟบางบำหรุ
๒๐:๕๘ ร่วมแสดงความยินดีแก่อธิบดีกรมยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๒๐:๐๓ กทม. เดินหน้าจัดกิจกรรมริมคลองโอ่งอ่าง ส่งเสริมอัตลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว
๒๐:๔๙ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พาคุณไปสัมผัสการนวดเพื่อสุขภาพจาก 4 ภูมิภาคของไทย
๒๐:๒๔ Digital CEO รุ่นที่ 7 เรียนรู้เข้มข้นต่อเนื่อง จากวิทยากรชั้นนำของวงการ
๒๐:๒๔ เด็กไทย คว้ารางวัลระดับโลก โดรนไทย ชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ UAV ณ กรุงเจนีวา