CMMU ชี้คอนเซปต์ “Entrepreneurial University” กับ 7 กลไกยกระดับชาติอย่างยั่งยืน พร้อมเผยต้นแบบความสำเร็จของมหาวิทยาลัยระดับโลก

จันทร์ ๒๖ กันยายน ๒๐๑๖ ๑๙:๓๖
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เปิดมิติใหม่มหาวิทยาลัยไทยกับแนวคิด "มหาวิทยาลัยนักคิดแบบผู้ประกอบการ" (Entrepreneurial University) พลิกบทบาทมหาวิทยาลัยไม่ให้เป็นเพียงแค่ ตลาดความรู้ แต่ส่งเสริมสู่การเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศผ่านการพัฒนาผู้ประกอบการระดับพื้นฐาน ผ่าน 7 กลไก ได้แก่ 1. นโยบายและกลยุทธ์การบริหาร 2. สมรรถนะขององค์กร บุคลากร และสิ่งจูงใจ 3.หลักพัฒนาแนวคิดผู้ประกอบในการเรียนการสอน 4.เส้นทางสู่การเป็นผู้ประกอบการ 5.ความเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้กับภาคธุรกิจ 6.ความเป็นสถาบันระหว่างประเทศ 7.การวัดผลกระทบการเปลี่ยนแปลง พร้อมเผยตัวอย่างมหาวิทยาลัยระดับโลกที่ประสบความสำเร็จ อาทิ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือเอ็มไอที (Massachusetts Institute of Technology - MIT) มีความร่วมมือกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และแพทยศาสตร์ ทำให้เกิดนวัตกรรมในการรักษาคนไข้แบบใหม่ และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) มีการกำหนดให้นักศึกษาปีที่ 3 สร้างประสบการณ์ด้านผู้ประกอบการ โดยกระจายตัวออกไปไปร่วมงานกับสตาร์ทอัพทั่วโลก

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ www.cmmu.mahidol.ac.th

ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) และผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในยุคที่เยาวชนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับกระแสสตาร์ทอัพ และต้องการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจของตนเองกันอย่างล้นหลาม ประกอบกับนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ของทางรัฐบาลที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าทางการตลาด บทบาทของภาคการศึกษาโดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกันไป โดยต้องเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เน้นสร้างงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริงและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง โดยสิ่งเหล่านี้จะทำให้มหาวิทยาลัยไทย เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศผ่านการพัฒนาผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญต่อนวัตกรรม ซึ่งจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แนวคิดดังกล่าวประสบความสำเร็จ มหาวิทยาลัยต้องมุ่งเน้นสร้าง ระบบความคิดแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) ปลูกฝังให้ผู้เรียนเป็นนักคิด เริ่มต้นคิดค้นหาปัญหาที่เกิดขึ้นจริง จากนั้นจึงมองหาวิธีการแก้ไขแบบร่วมมือกัน (Co-creation) การยกระดับมหาวิทยาลัยสู่การเป็น "มหาวิทยาลัยนักคิดแบบผู้ประกอบการ" จะช่วยผลักดันรูปแบบทั้งการเรียน การสอน และการทำวิจัยที่จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม ที่จะช่วยยกระดับทั้งด้าน สังคม เศรษฐกิจ และประเทศ

ดร.ภูมิพร กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวคิด "มหาวิทยาลัยนักคิดแบบผู้ประกอบการ" หรือ Entrepreneurial University เป็นแนวคิดที่กลุ่มนักวิชาการ นักวิจัย และสถาบันการศึกษาฝั่งตะวันตกได้ปรับรูปแบบการทำงานของมหาวิทยาลัยในช่วง 10 กว่าปี ที่ผ่านมา จากสาเหตุหลักที่ว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษาไม่ควรเป็นเพียงแค่ตลาดความรู้ แต่ควรเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ช่วยให้เกิดการสร้างรายได้และการจ้างงาน และเป็นตัวส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค นักวิจัยจำนวนมากพยายามศึกษาถึงตัวแปรที่สำคัญในการทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็น "มหาวิทยาลัยนักคิดแบบผู้ประกอบการ" และในปี 2555 องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD – Organization for Economic Co-operation and Development) ได้พัฒนากรอบแนวทางสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนักคิดแบบผู้ประกอบการ ที่ประกอบด้วย 7 ตัวแปรหลัก ได้แก่

1. นโยบายและกลยุทธ์การบริหาร (Leadership and Governance) นโยบายและทิศทางการบริหารต้องสนับสนุนการเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการอย่างแท้จริง อาทิ มีแผนกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างผู้ประกอบการภายในมหาวิทยาลัย ตลอดจนเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาผู้ประกอบการในสังคม

2. สมรรถนะขององค์กร บุคลากร และสิ่งจูงใจ (Organizational Capacity, People and Incentives) ลดข้อจำกัดต่างๆขององค์กรในการสนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการ อาทิ มหาวิทยาลัยสนับสนุนเงินทุนจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการ

3. หลักพัฒนาแนวคิดผู้ประกอบในการเรียนการสอน (Entrepreneurship Development in Teaching and Learning)โครงสร้างหลักสูตรออกแบบเพื่อรองรับการพัฒนาผู้ประกอบการ มีแนวทางที่เหมาะสมในการสร้างความรู้และฝึกทักษะ อาทิ มีการผลักดันให้ผู้เรียนคิดแบบผู้ประกอบการ ร่วมงานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในสถานการณ์จริง

4. เส้นทางสู่การเป็นผู้ประกอบการ (Pathways for Entrepreneurs) มีหลักรองรับกิจกรรมการพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการ ตั้งแต่การบ่มเพาะไอเดีย ไปจนถึงการเพิ่มมูลค่าการเติบโตในตลาด มีศูนย์บ่มเพาะธุรกิจมี Co-Working space

5. ความเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้กับภาคธุรกิจ (University – business/external relationships for knowledge exchange) สร้างความสัมพันธ์กับภาคธุรกิจภายนอกเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการเรียนรู้ อาทิ มีเครือข่ายที่เข้มแข็งกับศูนย์บ่มเพาะ อุทยานวิทยาศาสตร์ และอื่นๆเพื่อสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้

6. ความเป็นสถาบันระหว่างประเทศ (The Entrepreneurial University as an International Institution) มีการแลกเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการสร้างธุรกิจกับสถาบันในต่างประเทศทั้ง มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และบริษัท

7. การวัดผลกระทบการเปลี่ยนแปลง (Measuring the Impact of the Entrepreneurial University) มีการประเมินวัดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ทั้งในมุมมองของบุคลากรภายใน และผลกระทบที่มีต่อธุรกิจในท้องถิ่น และสังคม

ดร.ภูมิพร กล่าวเสริมถึงกรณีศึกษาตัวอย่างมหาวิทยาลัยระดับโลกที่ประสบความสำเร็จอย่างสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือเอ็มไอที (Massachusetts Institute of Technology - MIT) มหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับว่าเป็น มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก โดยทุกองค์ประกอบของเอ็มไอทีเอื้ออำนวยต่อการศึกษาแบบร่วมมือกัน (Collaboration) ทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และแพทยศาสตร์ จนกลายเป็นนวัตกรรมในการรักษาคนไข้แบบใหม่ รวมถึงอีกหนึ่งตัวอย่างมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ หรือเอ็นยูเอส (National University of Singapore - NUS) มีการกำหนดให้นักศึกษาปีที่ 3 สร้างประสบการณ์ด้านผู้ประกอบการ โดยกระจายตัวออกไปไปร่วมงานกับสตาร์ทอัพทั่วโลก

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบของธุรกิจให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจสตาร์ทอัพที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา ได้ถูกขยายความและให้คำนิยามที่แตกต่างกันออกไป บางความหมายและคำแนะนำถูกถ่ายทอดอย่างคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อันจะนำไปสู่ความเข้าใจผิด ซึ่งสุดท้ายจะกลายเป็น "กับดัก" ที่น่ากลัวสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ ฉะนั้นผู้ที่สนใจควรหาข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างรอบด้าน คิดค้นหาปัญหา (pain point) ที่คนจำนวนมากประสบร่วมกัน และหาแนวทางออกที่ดีควบคู่ไปกับการประยุกต์เชิงพาณิชย์เข้าสู่แผนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ดร.ภูมิพร กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ www.cmmu.mahidol.ac.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๖:๕๘ Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๖:๐๓ Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๖:๓๕ โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๖:๓๑ 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๖:๒๗ TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๖:๔๗ SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๖:๐๐ โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๖:๒๙ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๖:๒๘ คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital