กรมการค้าต่างประเทศนำทัพผู้ประกอบการไทยบุกตลาด จัดกิจกรรม 'Thailand Festival @ Battambang’

อังคาร ๒๗ กันยายน ๒๐๑๖ ๑๖:๐๐
สยายปีกการค้าชายแดนไทย กรมการค้าต่างประเทศนำทัพผู้ประกอบการไทยบุกตลาด จัดกิจกรรม 'Thailand Festival @ Battambang' เปิดประวัติศาสตร์การค้า ไทย-กัมพูชา ณ ด่านชายแดนจันทบุรี-พระตะบอง

การค้าชายแดนไทยแนวโน้มรุ่ง กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นำทัพผู้ประกอบการไทย นับ 150 ราย เปิดประวัติศาสตร์การค้า ไทย-กัมพูชา จัดงานแสดงสินค้า 'Thailand Festival @ Battambang' ณ จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา

กรมการค้าต่างประเทศได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการส่งเสริมศักยภาพด้านการตลาดให้กับสินค้าไทยไปสู่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศกัมพูชาที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความนิยมในสินค้าที่ผลิตจากประเทศไทยเป็นอย่างมาก กรมการค้าต่างประเทศจึงร่วมกับจังหวัดพระตะบอง จังหวัดไพลิน หอการค้าจังหวัดพระตะบอง และหอการค้าจังหวัดไพลิน จัดงานแสดงสินค้าไทย 'Thailand Festival @ Battambang' ขึ้น ระหว่างวันที่ 23-27 กันยายน2559 ณ ตลาดปุปุย จังหวัดพระตะบอง โดยมีผู้ประกอบการและผู้จำหน่ายสินค้าไทยจากทั่วประเทศเข้าร่วมงานในครั้งนี้มากถึง 150 บูท

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า นับเป็นการจัดงานมหกรรมการค้าชายแดนครั้งที่ 2 ที่มีการจัดนอกประเทศไทย คือในเขตประเทศเพื่อนบ้าน โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่เมืองตองยี รัฐฉาน ประเทศเมียนมา เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม การจัดงานแสดงสินค้าไทย 'Thailand Festival @ Battambang' ในครั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศได้เชิญนักธุรกิจจากหอการค้า ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาเข้าร่วมประชุม และลงนามความร่วมมือทางการค้า (MOU) และการจับคู่ธุรกิจ (Matching) ร่วมกัน โดยผู้ร่วมประชุมฝ่ายไทย ประกอบด้วย ภาครัฐจากกรมการค้าต่างประเทศ จังหวัดจันทบุรี ภาคเอกชนจากหอการค้าจังหวัดจันทบุรี สมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา และเครือข่ายธุรกิจบิสคลับจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดระยอง ฝ่ายกัมพูชาประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดพระตะบอง ผู้ว่าราชการจังหวัดไพลิน หอการค้าจังหวัดพระตะบอง และหอการค้าจังหวัดไพลิน

ปัจจุบันการค้าโลกมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ และสินค้าไทยเริ่มทำตลาดยากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่การค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นกลับเป็นไปด้วยดี มีมูลค่าการค้าสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มความสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้น ที่ผ่านมากรมการค้าต่างประเทศจึงเร่งผลักดันเรื่องการค้าชายแดนเป็นการทดแทน ซึ่งจากตัวเลขการค้ากับประเทศกัมพูชานั้น พบว่ามีมูลค่าการค้าระหว่างกันค่อนข้างสูง โดยในปีที่ผ่านมไทยและกัมพูชามีมูลค่าการค้าระหว่างกันประมาณ 1 แสน 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งร้อยละ 70 เป็นการค้าชายแดน

"ที่ผ่านมาเวลาพูดถึงการค้าชายแดนกับกัมพูชา เรามักจะเน้นไปที่ด่านจังหวัดสระแก้วเป็นหลัก คือด่านอรัญประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงกับด่านปอยเปตของกัมพูชา แต่หลังจากที่กรมการค้าต่างประเทศได้ลงสำรวจพื้นที่ก็พบว่า ด่านทางด้านจังหวัดจันทบุรีนั้นมีความน่าสนใจมาก ซึ่งจันทบุรีมีด่านที่เชื่อมโยงกับกัมพูชาถึง 2 ด่าน คือ ด่านบ้านแหลม ที่เชื่อมตรงมาที่จังหวัดพระตะบอง และด่านบ้านผักกาด ซึ่งเชื่อมตรงไปที่จังหวัดไพลิน และเมื่อพิจารณาถึงตัวเลขการค้าชายแดนของจังหวัดจันทบุรี ก็พบว่ามูลค่าการค้าชายแดนของทั้งสองด่านนั้น รวมกันมีมูลค่าประมาณร้อยละ 4 ของมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา แม้จะเป็นตัวเลขที่น้อยเมื่อเทียบกับทางสระแก้ว แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดจะพบว่า มีศักยภาพสูงมาก กรมการค้าต่างประเทศจึงเลือกที่จะมาจัดงานส่งเสริมศักยภาพการค้าชายแดนตรงจุดนี้ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับด่านตรงนี้ จึงถือเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยรู้จักด่านที่จันทบุรีมากขึ้นด้วย"

รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศยังเปิดเผยอีกว่า ในช่วงปี 2558 นั้น มูลค่าการค้าชายแดนของจันทบุรีมายังประเทศกัมพูชา มีการเติบโตถึงร้อยละ 7.4 และในปี 2559 นี้ เพียงช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค.-ก.ค.) ทั้งสองด่านที่จันทบุรีก็มีมูลค่าการค้าชายแดนรวมกันมากกว่า 8,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างไทยและกัมพูชาโดยรวมนั้น ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 (ม.ค.–มี.ค.) พบว่ามีมูลค่าการค้ารวม 36,323.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.12 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่มีมูลค่า 34,887.33 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออก มูลค่า 28,103.51 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.38) และการนำเข้ามูลค่า 8,219.67 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.23) ซึ่งประเทศไทยได้ดุลการค้าถึง 19,883.84 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญจากไทยไปกัมพูชา ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบฯ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ โดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องดื่ม พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก น้ำตาล และขนมทำจากน้ำตาลของไทยนั้น เป็นที่ต้องการและได้รับความนิยมมากจากชาวกัมพูชา เนื่องจากมีความคุ้นเคยกับสินค้าไทย และเมื่อเทียบกับสินค้าจากประเทศจีนและประเทศเวียดนามแล้ว สินค้าของไทยถือว่ามีคุณภาพ มีราคาสมเหตุสมผล และมีอายุการใช้งานมากกว่า

"จากการพูดคุยกับตัวแทนจากฝ่ายภาครัฐและเอกชนของทั้งจังหวัดไพลินและพระตะบอง พบว่าชาวกัมพูชามีความชื่นชอบในสินค้าไทย จังหวัดพระตะบองนั้นถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของกัมพูชา มีการทำเกษตรมากมายไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง งา พริกไทย แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ และเศรษฐกิจที่ดี ทำให้มีกำลังซื้อสินค้าไทย นอกจากนี้ในฝั่งกัมพูชาเองยังไม่มีอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ทำให้สินค้าประเภทเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ จึงต้องนำเข้าจากฝั่งไทยและเป็นที่นิยมมาก สินค้าแบรนด์ไทยสำหรับชาวกัมพูชานั้นถือว่าภาพลักษณ์ดีมาก"

การมาจัดงานแสดงสินค้าไทย 'Thailand Festival @ Battambang' ณ จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา ในครั้งนี้จึงถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้าไทยเพิ่มมากขึ้น และยังเชื่อมโยงธุรกิจของผู้ประกอบการจากสองประเทศ รวมทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วย ซึ่งแนวโน้มการทำการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ในปลายปีนี้กรมการค้าต่างประเทศจึงเตรียมจัดงานมหกรรมการค้าชายแดน 3 แผ่นดิน ซึ่งจะจัดโดยเชื่อมโยงระหว่างด่านบ้านแหลม จังหวัดพระตะบองและประเทศเวียดนาม

การจัดงานในครั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศคาดว่าจะช่วยส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการค้าชายแดน และเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทย-กัมพูชาในการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจการค้า และการใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้าในอนุภูมิภาค รวมทั้งเพื่อพัฒนาตลาดการค้าชายแดน เพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดของสินค้าและบริการของไทยในกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดพระตะบองและจังหวัดไพลิน ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการค้าโดยรวมระหว่างกันเพิ่มสูงขึ้น และนอกจากเรื่องการค้าชายแดนแล้วยังจะมีการเชื่อมโยงเรื่องการท่องเที่ยวระหว่างกัมพูชาและไทยอีกด้วย

ด้าน ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า นับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์การค้าของไทย-กัมพูชาขึ้นอีกครั้ง ซึ่งประตูการค้าสู่กัมพูชาที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นการเปิดผ่านชายแดนบ้านแหลม และด่านผักกาดจังหวัดจันทบุรี สู่จังหวัดพระตะบอง ซึ่งเป็นจังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็น "ชามข้าวแห่งกัมพูชา" คือเป็นจังหวัดใหญ่ลำดับที่ 5 ของกัมพูชา และมีจำนวนประชากรมากเป็นลำดับที่ 4 ของประเทศ จังหวัดพระตะบองมีประชากรประมาณ 1.2 ล้านคน ในด้านเศรษฐกิจของจังหวัดพระตะบองก็กำลังพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีการค้าชายแดนกับประเทศไทยเป็นมูลค่าสูงเพิ่มขึ้นทุกปี และประชาชนกัมพูชาก็ให้ความสนใจนิยมชมชอบสินค้าไทยมาโดยตลอด การจัดงานแสดงสินค้าไทยเปิดประวัติศาสตร์การค้าผ่านด่านบ้านแหลมและด่านผักกาด จังหวัดจันทบุรี ในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดพระตะบอง กรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่ดีและจะประสบความสำเร็จเหมือนเช่นที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นการสร้างสัมพันธ์การค้าที่ดีระหว่างประเทศทั้งสอง เพื่อปูทางไปสู่ความร่วมมือทางการค้าอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๗ เกษตรเขต 2 ภาคตะวันตก ร่วมเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ตามโครงการบรรพชาสามเณร เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28
๑๒:๒๖ 24WASH แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก 24ชั่วโมง มุ่งมั่นสร้างความแตกต่าง ด้วยแนวคิด Green Laundromat - ซักที่นี่
๑๒:๑๓ PIMO-ไพโม่ รับอานิสงส์เปลี่ยนแดดเป็นพลังงานไฟฟ้าด้วย Solar Cell
๑๒:๔๑ กลับมาอีกครั้ง!! NICE CAR AUCTION งานประมูลรถสวย คัดพิเศษที่ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ จัดเต็ม แจกทอง ผู้ประมูลสูงสุด 19 - 21 เมษายนนี้ ลานกิจกรรม MBK AVENUE โซน
๑๒:๑๒ ส่องไอเทมสุดฮอตกับคอลเล็กชั่นล่าสุด เอ็กซ์คลูซีฟเจแปนแบรนด์ จากสยาม ทาคาชิมายะ ห้างญี่ปุ่นหนึ่งเดียวในไทย ณ
๑๒:๔๐ โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา 12 แห่ง ผ่านการรับรองของ Bureau Veritas คว้า มาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จาก GSTC
๑๑:๐๑ เสิร์ฟวัตถุดิบท้องถิ่นนครปฐม รังสรรค์เมนูจานอร่อย 16 ร้านอาหารชั้นนำ กับ ปฐมบทใหม่ของความอร่อย ที่ เซ็นทรัล
๑๑:๔๘ นีเวีย ชวนสร้างพลังใจแบ่งความห่วงใยผ่านโครงการ นีเวีย ชวนแชร์ ส่งต่อความห่วยใยสร้างพลังใจแก่ผู้ป่วยมะเร็ง NIVEA Supporting Moment of
๑๑:๑๕ เฮงลิสซิ่ง สาดความสุข รับเงินก้อนใหญ่ ยกขบวนแจกความชุ่มฉ่ำ ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ 2567
๑๑:๕๒ บุญถาวร จัดงาน Builder Talk ชวน ลุงช่าง แชร์ไอเดียการสร้างตัวตน ผ่าน โซเชียลมีเดีย กับ งานก่อสร้าง