ความยั่งยืนและความรับผิดชอบทางสังคมของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในประเทศไทย มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังมีความท้าทายเรื่องการจัดหาปลาทูน่าจากการทำประมงที่ไม่ยั่งยืน ความโปร่งใสและมาตรฐานต่างระดับ

อังคาร ๒๗ ธันวาคม ๒๐๑๖ ๑๒:๓๕
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยการจัดอันดับความยั่งยืนและความรับผิดชอบทางสังคมของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง ประจำปี 2559 ระบุว่า บริษัทปลาทูน่ากระป๋องในประเทศไทย โดยรวมมีแนวโน้มการพัฒนาด้านความยั่งยืนในทางที่ดีขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ยังต้องปรับปรุงในเรื่องการจัดหาปลาทูน่าจากการทำประมงที่ไม่ยั่งยืนและความโปร่งใสในการให้ข้อมูลต่อผู้บริโภค

รายงาน "จากทะเลสู่กระป๋อง: การจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2559" จัดทำขึ้นเป็นปีที่สองโดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพิจารณาถึงห่วงโซ่อุปทานของบริษัทผลิตปลาทูน่ากระป๋องและความสอดคล้องต้องกันของห่วงโซ่อุปทาน และใช้เกณฑ์ประเมิน 7ข้อ ประกอบด้วย การตรวจสอบย้อนกลับ ความยั่งยืน ความถูกต้องตามกฎหมาย ความเป็นธรรม นโยบายการจัดหาแหล่งวัตถุดิบ ความโปร่งใสและข้อมูลเพื่อผู้บริโภค และการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ผลการประเมินประเมินผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า 12 แบรนด์ พบ 1 แบรนด์อยู่ในเกณฑ์

"ควรปรับปรุง" และ 11 แบรนด์อยู่ในเกณฑ์ "พอใช้" แบรนด์ที่อยู่ในเกณฑ์ "ควรปรับปรุง" คือ อะยัม และเป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีแบรนด์ปลาทูน่ากระป๋องแบรนด์ใดเลยที่ถูกจัดอันดับอยู่ในเกณฑ์ "ดี" ถึงแม้ว่าการจัดอันดับครั้งนี้เป็นการจัดอันดับเป็นปีที่ 2 ก็ตาม

เป็นที่น่าสังเกตว่า การจัดอันดับผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องปี 2559 นี้ แบรนด์ปลาทูน่ากระป๋องในประเทศไทยมีความสนใจให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมมากขึ้นซึ่งถือเป็น จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนของธุรกิจอุตสาหกรรมปลาทูน่า "

แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเลือกชนิดพันธุ์ปลาทูน่าและการใช้เครื่องมือจับทูน่า เช่น เครื่องมือล่อปลา (FADs) นั้นยังคงเป็นข้อกังวล

อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำสำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า "ปริมาณปลาทูน่าที่เหลืออยู่ทั่วโลกขณะนี้น่าวิตก และบริษัทปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่หลายบริษัทยังคงใช้ทูน่าบางชนิดพันธุ์ที่ตกอยู่ในความเสี่ยง ในการสูญพันธุ์สูง"

ปริมาณปลาทูน่าที่ลดน้อยลงในปัจจุบันบ่งบอกสถานะของการทำประมงเกินขนาด บัญชีแดงของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ได้ขึ้นทะเบียนปลาทูน่าครีบยาว (Thunnus alalunga)และ ปลาทูน่าครีบเหลือง (T. albacares) อยู่ในสถานะ "ใกล้ถูกคุกคาม" และ ปลาทูน่าตาโต(T. obesus) อยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์ นอกจากนี้ รายงานของกรีนพีซยังระบุถึงบริษัทปลาทูน่ากระป๋องหลายแห่ง และเป็นส่วนใหญ่ที่ยังจับปลาทูน่าสายพันธุ์ที่สุ่มเสี่ยงเหล่านี้อยู่

ผลจากการสำรวจเพื่อจัดอันดับนี้พบว่าบางบริษัทใช้มาตรฐานต่างระดับซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีตลาดปลายทางเป็นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายในประเทศไทยมักจะไม่ค่อยมีข้อมูลว่าในกระป๋องนั้นบรรจุปลาทูน่าชนิดใด ในขณะที่เมื่อส่งออกไปยังประเทศอังกฤษ บริษัทเดียวกันนี้จะทำทุกวิถีทางที่จะทำให้แน่ใจว่าทุกกระป๋องมีข้อมูลทุกๆ อย่างบนฉลาก ซึ่งรวมถึงชนิดของปลาทูน่า แหล่งทำประมง และวิธีการทำประมง ผู้บริโภคในประเทศไทยควรจะได้รับข้อมูลเช่นเดียวกันกับผู้บริโภคในตลาดอื่นๆ

"บริษัทผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องต้องเปิดเผย โปร่งใส และประชาสัมพันธ์ข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมให้ผู้บริโภค กล่าวง่ายๆคือ ผู้บริโภคควรต้องรู้และสืบหาด้วยตัวเองด้วยว่า ปลาทูน่ากระป๋องแบรนด์โปรดนั้นน่าเชื่อถือมากแค่ไหน และบริษัทผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องแบรนด์โปรดนั้นมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคมมากเพียงใด" อัญชลี กล่าวเพิ่มเติม

กรีนพีซเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องในประเทศไทยดำเนินการจัดการให้มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่สาธารณชนเข้าตรวจสอบได้ภายในปี 2563หรือเร็วกว่านั้น เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลการประมงให้ผู้บริโภคได้รับรู้ให้มากขึ้นถึงแหล่งจับปลาทูน่า ทำประมงที่ไหนและเมื่อไหร่ ด้วยเรือประเภทใด และนำขึ้นฝั่งแปรรูปที่ไหนและเมื่อไหร่

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๑๑ เปิดโพล! สงกรานต์ คนไทยยังอยาก รวย อวย Soft Power เสื้อลายดอก-กางเกงช้าง ต้องใส่สาดน้ำ
๑๖:๓๖ ฮีทสโตรก : ภัยหน้าร้อน อันตรายถึงชีวิต
๑๖:๐๐ STX เคาะราคา IPO 3.00 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อ 18,19 และ 22 เม.ย. นี้ ปักธงเทรด mai 26 เมษายน 67
๑๗ เม.ย. ถอดบทสัมภาษณ์คุณอเล็กซานเดอร์ ฟาบิก (Alexander Fabig) และคุณปีเตอร์ โรห์เวอร์ (Peter Rohwer) ผู้เชี่ยวชาญ
๑๗ เม.ย. HIS MSC จัดงานสัมมนา The SuperApp ERP for Hotel
๑๗ เม.ย. ที่สุดแห่งปี! ครบรอบ 20 ปี TDEX (Thailand Dive Expo) มหกรรมธุรกิจท่องเที่ยวดำน้ำระดับเอเชีย งานเดียวที่นักดำน้ำรอคอย
๑๗ เม.ย. เคทีซีเสนอดอกเบี้ยพิเศษ 19.99% ต่อปี แบ่งเบาภาระสมาชิกใหม่บัตรกดเงินสด เคทีซี พราว
๑๗ เม.ย. ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง CHAO เตรียมเสนอขาย IPO ไม่เกิน 87.7 ล้านหุ้น ระดมทุนเข้าจดทะเบียนใน SET
๑๗ เม.ย. แอร์เอเชีย บิน สุวรรณภูมิ-หาดใหญ่ เริ่มต้น 1,000 บาทต่อเที่ยว* เสริมทัพหาดใหญ่ บินเลือกได้ทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิ!
๑๗ เม.ย. YONG จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2567 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ อนุมัติจ่ายเงินปันผล ในอัตรา 0.08 บาท/หุ้น