ประชาชน 72.66% รู้สึกกลัวอุบัตเหตุเวลาใช้บริการรถตู้โดยสาร ร้อยละ 71.25 ระบุรถตู้โดยสารส่วนใหญ่ขับขี่หวาดเสียวน่ากลัว ขณะที่ร้อยละ 71.87 เห็นด้วยที่จะนำรถบัสขนาดเล็กมาให้บริการแทนรถตู้โดยสารสาธารณะ

พุธ ๑๑ มกราคม ๒๐๑๗ ๑๒:๐๓
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นต่อการใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4 ถึง 9 มกราคม พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,141 คน

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า รถตู้โดยสารสาธารณะจัดเป็นบริการขนส่งประเภทหนึ่งที่เป็นทางเลือกให้กับผู้คนได้ใช้เดินทางทั้งการเดินทางระหว่างจังหวัดหรือการเดินทางจากชานเมือง/เขตปริมณฑลเข้าสู่บริเวณใจกลางเมือง ทั้งนี้เนื่องจากเป็นบริการที่รวดเร็ว เข้าถึงจุดหมายได้อย่างสะดวก และราคาค่าบริการไม่แพงจนเกินไป รวมถึงยังมีบริการเข้าถึงจุดหมายปลายทางที่ไม่มีระบบบริการขนส่งอื่นเข้าถึง รถตู้โดยสารสาธารณะจึงได้รับความนิยมจากผู้คนเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามมีข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดกับรถตู้โดยสารสาธารณะปรากฏอยู่เป็นระยะ ซึ่งบ่อยครั้งที่อุบัติเหตุเหล่านั้นได้สร้างความสูญเสียให้กับชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย เช่น สภาพความสมบูรณ์ของยานพาหนะ มาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะ การบรรทุกผู้โดยสารจำนวนมาก รวมถึงเกิดจากพฤติกรรมการขับขี่และสภาพความพร้อมของผู้ขับขี่เอง ถึงแม้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจะพยายามกำหนดมาตรการออกมาบังคับใช้เพื่อควบคุมป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงมาตรการเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการให้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ แต่อุบัตเหตุที่เกิดกับรถตู้โดยสารสาธารณะก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นต่อการใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งมีอายุ 15 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.74 และเพศชายร้อยละ 49.26 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 5 อันดับที่กลุ่มตัวอย่างใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะคือ เดินทางได้สะดวกรวดเร็วคิดเป็นร้อยละ 83.35 เข้าถึงจุดหมายปลายทางได้สะดวกคิดเป็นร้อยละ 81.07 ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะอื่นให้บริการคิดเป็นร้อยละ 77.65 เวลา/ความถี่ในการให้บริการเหมาะสมคิดเป็นร้อยละ 73.88 และปริมาณพาหนะที่ให้บริการมีมากคิดเป็นร้อยละ 68.36

ในด้านความคิดเห็นต่อการใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.25 มีความคิดเห็นว่าผู้ขับขี่รถตู้โดยสารสาธารณะส่วนใหญ่ขับขี่ในลักษณะหวาดเสียวน่ากลัว/ใช้ความเร็วสูงเกินไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.27 มีความคิดเห็นว่ารถตู้โดยสารสาธารณะที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันบรรทุกผู้โดยสารต่อเที่ยวมากเกินไป นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.73 มีความคิดเห็นว่าสภาพของรถตู้โดยสารสาธารณะที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยเพียงพอ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 72.66 ระบุว่าทุกครั้งที่ใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะตนเองรู้สึกกลัวการเกิดอุบัติเหตุที่เป็นอันตรายกับชีวิต/ทรัพย์สิน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.34 ระบุว่าตนเองไม่รู้สึกกลัว

เมื่อเปรียบเทียบปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุกับรถตู้โดยสารสาธารณะระหว่างพฤติกรรม/สภาพความพร้อมของผู้ขับขี่กับสภาพความสมบูรณ์ของยานพาหนะ ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุกับรถตู้โดยสารสาธารณะ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.09 มีความคิดเห็นว่าเกิดจากพฤติกรรม/สภาพความพร้อมของผู้ขับขี่มากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.04 มีความคิดเห็นว่าเกิดจากสภาพความไม่สมบูรณ์ของยานพาหนะมากกว่า โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 27.87 มีความคิดเห็นว่าเกิดจากทั้งสองปัจจัยพอๆกัน

นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.45 มีความคิดเห็นว่าการจำกัดชั่วโมงการขับขี่ต่อวันของผู้ขับขี่รถตู้โดยสารสาธารณะจะมีส่วนช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดกับรถตู้โดยสารสาธารณะได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.41 มีความคิดเห็นว่าเจ้าหน้าที่/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีการเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับควบคุมตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะมากกว่าในปัจจุบัน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.71 มีความคิดเห็นว่าควรมีการเพิ่มบทลงโทษกับผู้ประกอบการ/ผู้ขับขี่รถตู้โดยสารสาธารณะที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุให้สูงกว่าในปัจจุบัน และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.87 เห็นด้วยที่จะมีการกำหนดให้นำรถบัสโดยสารขนาดเล็ก (micro bus) มาให้บริการแทนรถตู้โดยสารสาธารณะ และหากมีบริการขนส่งสาธารณะอื่น เช่น รถไฟฟ้า รถบัสโดยสาร ไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการไป กลุ่มตัวอย่างถึงสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.09 ยอมรับว่าจะเลือกใช้บริการระบบขนส่งอื่นๆแทน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24.89 ระบุว่าจะยังคงใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐:๕๙ ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
๒๐:๓๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐:๕๒ Vertiv เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ไมโครโมดูลาร์รุ่นใหม่ที่มี AI ในเอเชีย
๒๐:๐๙ พิธีขึ้นเสาเอก เปิดไซต์ก่อสร้าง โครงการ แนชเชอแรล ภูเก็ต ไพรเวท พูลวิลล่า บ้านเดี่ยวบนทำเลทองใจกลางย่านเชิงทะเล
๒๐:๔๖ เขตบางพลัดประสาน รฟท.-กทพ. ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าสถานีรถไฟบางบำหรุ
๒๐:๕๘ ร่วมแสดงความยินดีแก่อธิบดีกรมยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๒๐:๐๓ กทม. เดินหน้าจัดกิจกรรมริมคลองโอ่งอ่าง ส่งเสริมอัตลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว
๒๐:๔๙ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พาคุณไปสัมผัสการนวดเพื่อสุขภาพจาก 4 ภูมิภาคของไทย
๒๐:๒๔ Digital CEO รุ่นที่ 7 เรียนรู้เข้มข้นต่อเนื่อง จากวิทยากรชั้นนำของวงการ
๒๐:๒๔ เด็กไทย คว้ารางวัลระดับโลก โดรนไทย ชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ UAV ณ กรุงเจนีวา