ส.อ.ท. จับมือ นิด้า MOU สำรวจความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประเดิมโพลแรก แถลง “ผลการสำรวจ CEO Survey ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2560

อังคาร ๑๗ มกราคม ๒๐๑๗ ๑๖:๔๕
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จับมือ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "การสำรวจความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม" ระหว่าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พร้อมแถลงข่าวผลการสำรวจ CEO Survey ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2560 เมื่อวันอังคารที่ 17 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ณ ห้อง Boardroom 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มีความร่วมมือในการสำรวจความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผลการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวได้สะท้อนมุมมองของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นมุมมองที่ได้รับความสนใจทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทย รวมทั้งสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการดำเนินงาน วางแผน หรือปรับตัวให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจได้ โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสำรวจความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมครั้งนี้ ทั้ง 2 องค์กร ยังคงมีเจตนารมย์ร่วมกันที่จะดำเนินการสำรวจความคิดเห็น เพื่อสะท้อนมุมมองของผู้ประกอบการที่มีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนความร่วมมือทางวิชาการที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมในการวางแผนการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่มีความพร้อมด้านฐานข้อมูลภาคอุตสาหกรรม ผ่าน 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 12 คลัสเตอร์ และ 10 สถาบันด้านอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" เป็นองค์การที่มีความเชี่ยวชาญวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการบริหารธุรกิจ ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน อีกทั้งจะเป็นการสร้างเครื่องมือที่จะสะท้อนภาพความคิดเห็นของผู้ประกอบการได้อย่างชัดเจน

ด้าน ผลการสำรวจ CEO Survey ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2560 โดยสอบถามความคิดเห็นจากผู้บริหารระดับสูง (CEO) ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ กระจายทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้นจำนวน 49 ราย เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2560 ในมุมมองของผู้บริหาร (Chief Executive Officer: CEO) รศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2560 พบว่า ผู้บริหารระดับสูง ร้อยละ 34.69 ระบุว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัว ร้อยละ 48.98 ระบุว่า ทรงตัว และร้อยละ 16.33 ระบุว่า หดตัว โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวนั้น ร้อยละ 70.59 ระบุว่า จะขยายตัว 1% – 5% ร้อยละ 5.88 ระบุว่า ขยายตัว 6% – 10% ร้อยละ 5.88 ระบุว่า ขยายตัวมากกว่า 10% ขึ้นไป และร้อยละ 17.65 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ส่วนในจำนวนผู้ที่ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะหดตัวนั้น ร้อยละ 37.50 ระบุว่า จะหดตัว 1% – 10% ร้อยละ 25.00 ระบุว่า หดตัว 11% – 20% ร้อยละ 12.50 ระบุว่า หดตัวมากกว่า 20% ขึ้นไป และร้อยละ 25.00 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านการคาดการณ์ของผู้บริหารระดับสูงต่อทิศทางแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรม ในปี 2560 พบว่า ผู้บริหารระดับสูง ร้อยละ 30.61 ระบุว่าทิศทางแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรม ในปี 2560 จะขยายตัว ร้อยละ 46.94 คาดว่าจะทรงตัว และร้อยละ 22.45 ระบุว่า จะหดตัว โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่าทิศทางแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรม ในปี 2560 จะขยายตัวนั้น ร้อยละ 66.67 ระบุว่า จะขยายตัว 1% – 5% ร้อยละ 13.33 ระบุว่า ขยายตัว 6% – 10% ร้อยละ 13.33 ระบุว่า ขยายตัวมากกว่า 10% ขึ้นไป และร้อยละ 6.67 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ส่วนในจำนวนผู้ที่ระบุว่า ทิศทางแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรม ในปี 2560 จะหดตัวนั้น ร้อยละ 45.45 ระบุว่า จะหดตัว 1% – 10% ร้อยละ 27.28 ระบุว่า หดตัว 11% – 20% ร้อยละ 9.09 ระบุว่า หดตัวมากกว่า 20% ขึ้นไป และร้อยละ 18.18 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับปัจจัยที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 พบว่า ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 57.14 ระบุว่า ปัจจัยที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ปี 2560 คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รองลงมา ร้อยละ 51.02 ระบุว่า เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐฯ ร้อยละ 38.78 ระบุว่า เป็นภาคการท่องเที่ยว ร้อยละ 30.61 ระบุว่า เป็นนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ร้อยละ 26.53 ระบุว่า เป็นสถานการณ์การเมือง ร้อยละ 20.41 ระบุว่า เป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น, กำลังซื้อภายในประเทศที่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น, และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุนภาคเอกชน ในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 12.24 ระบุอื่นๆ ได้แก่ การขยายตัวของภาคการส่งออก, การลงทุนด้านภาคการเกษตร, ราคาพืชผลทางการเกษตร, อุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีและดิจิตอล, และค่าแรงที่สูงขึ้น

เมื่อถามถึงปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงมีความกังวลในการดำเนินกิจการในช่วงปี 2560 พบว่า ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.86 ระบุว่า เป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รองลงมา ร้อยละ 40.82 ระบุว่า เป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลกจากความไม่แน่นอนของนโยบายของสหรัฐฯ ภายหลังการเลือกตั้ง และกระบวนการในการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร รวมถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่ยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 34.69 ระบุว่า เป็นความเข้มงวดของธนาคารในการให้สินเชื่อ ร้อยละ 32.65 ระบุว่าเป็นการขาดแคลนแรงงานฝีมือ ร้อยละ 30.61 ระบุว่า เป็นปัญหาสภาพคล่องของกิจการ ร้อยละ 24.49 ระบุว่า เป็นการขาดเทคโนโลยีในการผลิตและการพัฒนานวัตกรรม ร้อยละ 22.45 ระบุว่า เป็นสถานการณ์การเมือง และร้อยละ 18.37 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นโยบายของภาครัฐ, ปัจจัยการนำเข้าและการส่งออก, ต้นทุนการผลิตและค่าแรงขั้นต่ำ, อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินบาท, และการก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0

ด้านการวางแผนของผู้บริหารระดับสูงในการดำเนินกิจการในช่วงปี 2560 พบว่า ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ ร้อยละ 91.84 ระบุว่ามีการวางแผน และมีแนวทางในการรับมือ ขณะที่ ร้อยละ 8.16 ระบุว่า ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนแผนมากนักจากช่วงครึ่งหลังของปี 2559 โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่ามีการวางแผนและมีแนวทางในการรับมือนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.44 ระบุว่า มีการวางแผนโดยปรับปรุงเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต รองลงมา ร้อยละ 37.78 ระบุว่า เป็นการพัฒนาศักยภาพของแรงงาน ร้อยละ 28.89 ระบุว่า เป็นการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มฐานลูกค้า ร้อยละ 26.67 ระบุว่า เป็นการชะลอการลงทุน ร้อยละ 24.44 ระบุว่า เป็นการเจาะตลาด Niche Market ร้อยละ 20.00 ระบุว่า เป็นการเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ร้อยละ 15.56 ระบุว่า เป็นการขยายการลงทุน ร้อยละ 11.11 ระบุว่า เป็นการขยายฐานการผลิตและการลงทุนไปยังต่างประเทศ ร้อยละ 6.67 ระบุว่า เป็นการลดการจ้างงาน ร้อยละ 2.22 ระบุว่า เป็นการเพิ่มการจ้างงาน และร้อยละ 15.56 ระบุอื่นๆ ได้แก่ การปรับตัวให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจของโลก, การจัดทำแผนดัชนีตัวชี้วัดความก้าวหน้าของบริษัท, การลดต้นทุนการผลิต, และการหาหุ้นส่วนเพิ่มเติม

ด้านความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อสาเหตุที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ไม่มากเท่าที่ควร พบว่า ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.58 ระบุว่า เกิดจากการขาดความเชื่อมั่น ต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ รองลงมา ร้อยละ 45.83 ระบุว่า เกิดจากการขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 39.58 ระบุว่า เกิดจากภาคการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง ร้อยละ 29.17 ระบุว่า เกิดจากสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนและนโยบายกระตุ้นและเร่งรัดการลงทุนยังไม่เอื้ออำนวยเพียงพอ ร้อยละ 22.92 ระบุว่า เกิดจากภาคเอกชนยังมีกำลังการผลิตเหลือค่อนข้างมาก และร้อยละ 18.75 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ กำลังซื้อภายในประเทศ สถาบันการเงินไม่ตอบสนองเรื่องการลงทุนของเอกชน, นโยบายการสนับสนุนของภาครัฐ, และสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ

เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะของผู้บริหารระดับสูงเพื่อให้การลงทุนภาคเอกชนของไทยสามารถขยายตัวได้ดีและเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจไทยต่อไป สามารถสรุปได้ ดังนี้ 1) รัฐบาลควรพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และก้าวเข้าสู่ Industries 4.0 2) หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายจากภาครัฐ การส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ความยืดหยุ่นของการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาสำหรับผู้ประกอบการ 3) รัฐบาลควรเร่งพัฒนาวางระบบโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม

สำหรับสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเร่งดำเนินการ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2560 พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.43 ระบุว่า ภาครัฐควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ รองลงมา ร้อยละ 48.98 ระบุว่า ภาครัฐควรเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ร้อยละ 40.82 ระบุว่า ภาครัฐควรสนับสนุนการขยายตลาดเข้าสู่หัวเมืองรองในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อขยายฐานลูกค้าและกระจายสินค้าให้มากขึ้น ร้อยละ 32.65 ระบุว่า ภาครัฐควรเร่งเจรจาการค้ากับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อขยายตลาด ลดอุปสรรคทางการค้าและมาตรการกีดกันสินค้าที่มิใช่ภาษี และเพิ่มช่องทางการส่งออก ร้อยละ 30.61 ระบุว่า ภาครัฐควรพัฒนาการค้าและการขนส่งชายแดนและผ่านแดนเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าตามแนวชายแดน และร้อยละ 24.49 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การเพิ่มช่องทางตลาดใหม่ๆ, การคงอัตราค่าแรงขั้นต่ำ, การปรับปรุงกฎหมายที่ซ้ำซ้อน, การสนับสนุนนโยบายจากภาครัฐ, การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและภาคเอกชน, และการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs

ด้านความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อทิศทางภาวะเศรษฐกิจโลก ภายหลังจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คนที่ 45 ของสหรัฐฯ พบว่า ผู้บริหาร ร้อยละ 22.45 ระบุว่า ทิศทางภาวะเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว ร้อยละ 40.82 ระบุว่า ทรงตัว ร้อยละ 26.53 ระบุว่า หดตัว ขณะที่ร้อยละ 10.20 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่าทิศทางภาวะเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวนั้น ร้อยละ 45.45 ระบุว่า ขยายตัว 1% – 5% ร้อยละ 9.09 ระบุว่า ขยายตัว 6% – 10% ร้อยละ 18.18 ระบุว่า ขยายตัวมากกว่า 10% ขึ้นไป และร้อยละ 27.28 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจว่าจะขยายตัวเท่าใด ขณะที่ผู้ที่ระบุว่าทิศทางภาวะเศรษฐกิจโลกจะหดตัวนั้น ร้อยละ 30.77 ระบุว่า หดตัว 1% – 10% ร้อยละ 23.08 ระบุว่า หดตัว 11% – 20% และร้อยละ 46.15 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจว่าจะหดตัวเท่าใด

สำหรับความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อนโยบายของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย พบว่า ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.04 ระบุว่า เป็นนโยบายการกีดกันทางการค้าสำหรับสินค้านำเข้าจากจีน และเม็กซิโก ที่จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและปริมาณการค้าโลก รองลงมา ร้อยละ 50.00 ระบุว่า เป็นการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีนเป็นร้อยละ 45 และดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ กลับไปผลิตในสหรัฐฯ เพื่อสร้างการจ้างงานในสหรัฐฯ ให้เพิ่มขึ้น จะกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ร้อยละ 34.78 ระบุว่า เป็นการสนับสนุนกฎหมายเพื่อลดการจ้างงานแรงงานผิดกฎหมาย และผลักดันแรงงานผิดกฎหมายกว่า 11 ล้านคน ออกนอกประเทศ หากนโยบายดังกล่าวมีการนำมาใช้จริงอาจจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้ ขณะที่ ร้อยละ 2.17 ระบุว่า ไม่มีความกังวลต่อนโยบายใดๆ ของ นายโดนัลด์ ทรัมป์

ด้านผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย จากนโยบายเรื่องการค้าที่ว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะกีดกันการค้าจากจีน พบว่า ร้อยละ 4.08 ระบุว่า น่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมากที่สุด ร้อยละ 22.45 ระบุว่า ส่งผลมาก ร้อยละ 48.98 ระบุว่า ส่งผลปานกลาง ร้อยละ 18.37 ระบุว่า ส่งผลน้อย ร้อยละ 4.08 ระบุว่า ส่งผลน้อยที่สุด และร้อยละ 2.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2560 สามารถสรุปได้ ดังนี้ 1) ผู้ประกอบการต้องเข้าใจและปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ของโลก โดยเฉพาะ Thailand 4.0 ที่จะทำให้ผู้ประกอบการตื่นตัวมากขึ้น 2) ส่งเสริมการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน 3) สนับสนุนสินเชื่อเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น รวมทั้งมีมาตรการที่เกี่ยวกับการลดภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนให้กับภาคเอกชน 4) เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในปี 2560 รวมทั้ง การเบิกจ่ายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจระดับจังหวัดวงเงิน 1 แสนล้านบาท ตามนโยบายประชารัฐสร้างไทยของภาครัฐ 5) ต้องการให้วิเคราะห์และหาทางแก้ไขอุปสรรคที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การออกสิทธิบัตร อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล การควบคุมคุณภาพสินค้านำเข้า การส่งเสริมอุตสาหกรรม Automation

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 53.06 เป็นผู้ประกอบการจากภาคกลาง ร้อยละ 8.16 เป็นผู้ประกอบการจากภาคเหนือ ร้อยละ 10.20 เป็นผู้ประกอบการจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 12.24 เป็นผู้ประกอบการจากภาคตะวันออก ร้อยละ 10.20 เป็นผู้ประกอบการจากภาคใต้ และร้อยละ 6.12 ไม่ระบุภูมิภาค โดยตัวอย่าง ร้อยละ 10.20 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น ร้อยละ 20.41 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ร้อยละ 14.29 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องจักรกล ร้อยละ 8.16 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 18.37 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและยา ร้อยละ 4.08 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน ร้อยละ 18.37 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน และร้อยละ 6.12 ไม่ระบุกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก

ด้านขนาดกิจการของกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 26.53 เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก S (จำนวนแรงงาน น้อยกว่า 49 คน) ร้อยละ 26.53 เป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง M (จำนวนแรงงาน 50 – 199 คน) ร้อยละ 40.82 เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ L (จำนวนแรงงานมากกว่า 200 คน) และร้อยละ 6.12 ไม่ระบุขนาดอุตสาหกรรม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4