ประชาชน 69.34% ระบุอาหารริมทาง (street food) ช่วยให้หาซื้ออาหารรับประทานได้ง่ายขึ้น แต่ร้อยละ 65.07 ยอมรับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้ตนเองซื้ออาหารริมทางน้อยลง ขณะที่ 3 อันดับเมนูอาหารริมทางที่นิยมซื้อคือ ข้าวราดแกง อาหารประเภทเส้น และข้าวผัดต่างๆ

พฤหัส ๐๙ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๗ ๑๕:๐๗
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นต่อการซื้ออาหารริมทาง (street food) ของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30 มกราคม ถึง 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,171 คน

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า การซื้ออาหารริมทาง (street food) ถือเป็นวัฒนธรรมการซื้ออาหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันของคนไทยทั่วไปโดยเฉพาะในสังคมเมืองอย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีประชากรอยู่หนาแน่นและมีการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบ เนื่องจากอาหารริมทางมีจำหน่ายอยู่ทั่วไปทั้งตามริมถนนสายหลักและภายในตรอกซอกซอยต่างๆซึ่งผู้คนหาซื้อได้อย่างสะดวก ประกอบกับอาหารริมทางมีราคาที่ไม่แพงเกินไป มีปริมาณที่เหมาะสม หาซื้อได้ตลอดทั้งวัน รวมถึงมีประเภทของอาหารให้เลือกได้อย่างหลากหลาย จึงทำให้อาหารริมทางได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วไปในการซื้อหามารับประทาน และในปัจจุบันอาหารริมทางในกรุงเทพมหานครได้กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติจากการสำรวจของนิตยสารด้านการท่องเที่ยวต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามผู้คนในสังคมได้วิพากษณ์วิจารณ์และแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับคุณภาพและความสะอาดปลอดภัยของอาหารริมทางที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปรวมถึงราคาที่อาจสูงเกินไปและมีปริมาณน้อยเกินไปไม่เหมาะสมกับราคาจำหน่าย

จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นต่อการซื้ออาหารริมทาง (street food) ของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ศ.ศรีศักดิ์กล่าวว่าจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.81 และเพศชายร้อยละ 49.19 อายุ 15 ปีขึ้นไปสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านพฤติกรรมการซื้ออาหารริมทางรับประทานนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 34.59 นิยมซื้ออาหารริมทางในช่วงเวลา 18:00 – 21:59 น. บ่อยที่สุด รองลงมานิยมซื้อในช่วงเวลา 10:00 – 13:59 น. และ 06:00 – 09:59 น. บ่อยที่สุดซึ่งคิดเป็นร้อยละ 26.73 และร้อยละ 19.13 ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.72 นิยมซื้ออาหารริมทางในช่วงเวลา 22:00 – 05:59 น. บ่อยที่สุด และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.83 นิยมซื้อในช่วงเวลา 14:00 – 17:59 น. สำหรับประเภทของอาหารริมทางที่กลุ่มตัวอย่างนิยมซื้อรับประทานมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ ข้าวราดแกง/ข้าวหน้า/ข้าวมันต่างๆคิดเป็นร้อยละ 85.23 อาหารประเภทเส้นต่างๆคิดเป็นร้อยละ 82.75 ข้าวผัดประเภทต่างๆคิดเป็นร้อยละ 80.36 ข้าวต้ม/โจ๊กคิดเป็นร้อยละ 77.71 และอาหารประเภทขนมหวานคิดเป็นร้อยละ 73.95

เมื่อเปรียบเทียบสถานที่ในการรับประทานอาหารริมทางกลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 49.36 ระบุว่าตนเองนิยมรับประทานที่ร้านเลยมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.84 ระบุว่าตนเองนิยมซื้อนำกลับไปรับประทานในที่พักมากกว่า โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29.8 ระบุว่านิยมรับประทานทั้งสองสถานที่พอๆกัน และสำหรับค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในการซื้ออาหารริมทางรับประทานนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 35.44 มีค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารริมทางโดยเฉลี่ยต่อครั้งประมาณ 30 – 60 บาท รองลงมามีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณ 61 – 100 บาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 28.01 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.85 และร้อยละ 11.44 มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณ 101 – 150 บาท และต่ำกว่า 30 บาทตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.26 มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยมากกว่า 150 บาท

ในด้านความคิดเห็นและความรู้สึกต่อการซื้ออาหารริมทางรับประทานนั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50.3 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันอาหารริมทางส่วนใหญ่มีราคาแพงเกินไป อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 47.14 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันอาหารริมทางส่วนใหญ่มีปริมาณต่อจาน/ถุง/แก้วไม่น้อยเกินไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.73 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันอาหารริมทางส่วนใหญ่ไม่มีความสะอาด ปลอดภัย และถูกสุขอนามัยเพียงพอ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.18 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกกลัวอันตรายที่จะเกิดกับสุขภาพจากการซื้ออาหารริมทางรับประทาน

ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.34 มีความคิดเห็นว่าอาหารริมทางมีส่วนช่วยให้ตนเองสามารถซื้ออาหารรับประทานในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.07 มีความคิดเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลให้ตนเองซื้ออาหารริมทางรับประทานน้อยลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.08 ระบุว่าการเพิ่มขึ้นของห้างสรรพสินค้า/ร้านสะดวกซื้อในปัจจุบันไม่ส่งผลให้ตนเองซื้ออาหารริมทางน้อยลง และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 71.22 เห็นด้วยที่จะมีการจัดพื้นที่เป็นการเฉพาะให้สามารถจำหน่ายอาหารริมทางได้ตลอด 24 ชั่วโมงเลย ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest