นักวิทยาศาสตร์ มธ. โชว์ "เครื่องตรวจวัดความหวานเรียลไทม์" รู้หวาน หรือ จืดจาง รับวาเลนไทน์ '60

พฤหัส ๐๙ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๗ ๑๓:๔๓
นักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โชว์ "เครื่องตรวจวัดความหวานเรียลไทม์" นวัตกรรมช่วยตรวจวัดค่าความหวานเพื่อสุขภาพที่ดีของคนที่คุณรักรับเทศกาลวาเลนไทน์ สามารถบริโภคของหวานได้อย่างสบายใจ ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน หมดกังวลเรื่องโรคร้ายต่างๆ โดยเครื่องตรวจวัดฯ ดังกล่าวผสมผสานการทำงานระหว่างชุดปริซึม โทรศัพท์มือถือและส่งไปยังคอมพิวเตอร์เพื่อแสดงผลแบบเรียลไทม์ พร้อมกันนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้ต่อยอดในอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร การแพทย์ และอื่นๆ มากมาย ล่าสุด นวัตกรรมดังกล่าว ได้รับรางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ประเภทรางวัลประกาศเกียรติคุณ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2560 และอยู่ในขั้นตอนดำเนินการจดทะเบียนสิทธิบัตร รวมทั้งทำการพัฒนารูปแบบให้สวยงาม ใช้งานได้ง่ายขึ้น พร้อมเร่งพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนให้สามารถวิเคราะห์ผลการวัดได้แบบเรียลไทม์ โดยไม่ต้องผ่านคอมพิวเตอร์

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. หมายเลขโทรศัพท์ 02-564- 4440-59 ต่อ 2010 หรือเข้าไปที่ www.sci.tu.ac.th

ดร.ปกรณ์ ปรีชาบูรณะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องการบริโภคความหวานมากเกินไปเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างช้านาน จากการศึกษาพบว่า พฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลของคนไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์สูงมาก คือ มากกว่า 20 ช้อนชาต่อวัน (80 กรัม) เกินจากปริมาณน้ำตาลที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประชาชนบริโภคต่อวันถึง 3 เท่า (ที่มา: เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลงานรื่นเริง มีอัตราการบริโภคของหวาน ผ่านอาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช็อคโกแลต 1 แท่งขนาด 35 กรัม มีค่าเฉลี่ยน้ำตาลสูงถึง 5 ช้อนชา (20 กรัม)ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่นๆ มากมาย โดยจากสถิติ ปี 2556 – 2558 พบผู้ป่วยชาวไทยที่เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานต่อประชากรหนึ่งแสนคน เป็นจำนวนสูงถึงร้อยละ 14.93 17.53 และ 17.83 ตามลำดับ (ที่มา: สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข)

ดร.ปกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากปัญหาดังกล่าว ทำให้นักวิทยาศาสตร์คิดค้นและพัฒนาเครื่องมือวัดความหวาน ซึ่งเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย โดยในปัจจุบันประเทศไทยยังต้องอาศัยการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูง ระบบซับซ้อน และมีขนาดใหญ่ จึงทำให้เกิดเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ 2 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยทักษิณ (ดร.ศุภลักษณ์ อำลอย) ในการร่วมมือกันพัฒนา "เครื่องตรวจวัดความหวานเรียลไทม์" โดยได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าเครื่องมือดังกล่าวจากต่างประเทศ และสามารถขยายผลสู่ประชาชนในระดับชุมชน ชาวบ้านและผู้บริโภคทั่วไปสามารถเข้าถึงนวัตกรรมดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง

ดร. ปกรณ์ กล่าวเสริมว่า กลไกการทำงานของเครื่องตรวจวัดความหวานแบบพกพา เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 อุปกรณ์ คือ ชุดปริซึม (Prism) สมาร์ทโฟน (Smartphone) และคอมพิวเตอร์ โดยจะเริ่มขั้นตอนการทำงานได้ เพียงนำชุดอุปกรณ์ปริซึมที่รวมเลนส์อยู่ในชิ้นเดียวกัน ประกอบเข้าที่บริเวณหน้าจอของโทรศัพท์มือ พร้อมเปิดแอปพลิเคชันพิเศษที่ได้รับการพัฒนาให้ใช้แสงจากหน้าจอเป็นแหล่งกำเนิดแสงและจับภาพจากปริซึมดังกล่าว จากนั้นหยดสารละลายที่ต้องการทดสอบลงบนปริซึม โดยกล้องบนสมาร์ทโฟนจะบันทึกภาพแสงสะท้อนที่ได้ เพื่อส่งไปประมวลและแสดงผลบนจอคอมพิวเตอร์ในทันที โดยผลงานดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาแอปพลิเคชันให้สามารถคำนวณและแสดงผลบนหน้าจอโทรศัพท์ได้แบบเรียลไทม์ โดยไม่ต้องเชื่อมต่อผ่านคอมพิวเตอร์เพื่อให้สะดวกแก่การใช้งานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เครื่องตรวจวัดความหวานแบบพกพา เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างฟิสิกส์ และคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันเครื่องดังกล่าวสามารถบอกระดับความเข้มข้นของน้ำตาล ความเข้มข้นของเกลือ และความเข้มข้นของแอลกอฮอลล์ได้ โดยสามารถแสดงผลเป็นตัวเลขและกราฟบอกระดับความเข้มข้นของสาร และบอกค่าความหวานระหว่าง 0 – 20 บริกซ์ได้ ทำให้นวัตกรรมดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างมากกับอุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร การแพทย์ และอุตสาหกรรมอื่นๆอีกมากมาย โดยล่าสุด เครื่องตรวจวัดความหวานแบบพกพาดังกล่าว ได้รับรางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ประเภทรางวัลประกาศเกียรติคุณ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2560 โดยผลงานดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนดำเนินการจดทะเบียนสิทธิบัตร และทำการพัฒนารูปแบบให้สวยงาม และใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น เพื่อสามารถประยุกต์ต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นดร.ปกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. หมายเลขโทรศัพท์ 02-564- 4440-59 ต่อ 2010หรือเข้าไปที่ www.sci.tu.ac.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๒๒ เสนา ตอกย้ำความสำเร็จ ในการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร
๐๙:๑๑ EP พร้อมเดินหน้ารับรู้รายได้โรงไฟฟ้าพลังงานลม ดันผลงานปี67โตทะยาน 4 เท่า หลังได้รับการสนับสนุนเงินกู้ Project Finance จาก
๐๙:๓๘ BEST Express บุก บางบัวทอง เปิดแฟรนไซส์ขนส่งสาขาใหม่ มุ่งศึกษาพื้นที่ เจาะกลุ่มลูกค้าที่แตกต่าง ตอบความต้องการตรงจุด
๐๙:๑๗ ผถห.TQR โหวตจ่ายปันผลปี 66 อีก 0.226 บ./หุ้น รวมทั้งปี 0.40 บ./หุ้น ลุยพัฒนาโปรดักส์ประกันภัยต่อรูปแบบใหม่เต็มสปีด
๐๙:๓๗ CPANEL APM ร่วมต้อนรับคณะนักธุรกิจชาวกัมพูชา พร้อมนำเยี่ยมชมกระบวนการผลิต Precast จ.ชลบุรี
๐๘:๒๒ SCGP ทำกำไรไตรมาสแรก 1,725 ล้านบาท เดินหน้ากลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ
๐๘:๐๑ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดบ้านต้อนรับนักเรียนมัธยม โชว์หลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์
๐๘:๔๗ ค่ายสมหวัง สร้างโอกาส รุ่นที่ 4 ขยายความรู้ทางการเงินสู่เครือข่ายคนรุ่นใหม่ต่อเนื่อง
๐๘:๕๓ ส่องสัญญาณฟื้นตัว ตลาดรับสร้างบ้านไตรมาส 2 รับผลบวกมาตรการรัฐกระตุ้นกำลังซื้อ - ยอดสั่งสร้าง
๐๘:๕๕ RSP จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห.ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.13 บ./หุ้น กำหนดจ่าย 15 พ.ค. นี้