“วิถีมละบริภูฟ้า” อ.บ่อเกลือ จ.น่าน จากชนเผ่าเร่ร่อน สู่สังคมเกษตรกรรม แห่งแรกของโลก

พุธ ๐๑ มีนาคม ๒๐๑๗ ๑๖:๑๕
เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ลงฝังตัวในพื้นที่ภูฟ้า ปฏิบัติงานพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มมละบริภูฟ้า ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ตามพระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เข้าส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถชนเผ่า หยุดเร่ร่อน เปลี่ยนวิธีคิดจากเก็บของป่าล่าสัตว์ หันมาอยู่กับที่ ดำรงชีพด้วยการทำเกษตรปราณีต ปลูกข้าว และเลี้ยงสัตว์ แห่งแรกของโลก อีกหนึ่งผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวมละบริภูฟ้าให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมปัจจุบันได้อย่างเสมอภาค

50 ปีก่อนมละบริกลุ่มชาติพันธุ์เร่ร่อน อาศัยอยู่ในเขตชายแดนระหว่างป่ากับเมืองกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ราว 400 คน พื้นฐานของชาวมละบริจะไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง แต่จะย้ายถิ่นฐานทั้งเครือญาติไปเรื่อยๆ ตามความสมดุลของป่า หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการ ล่าสัตว์ เก็บของป่ามาขายหรือแลกของ บ้างรับจ้างใช้แรงงาน ซึ่งชาวมละบริมักจะถูกเอาเปรียบจากนายจ้างอยู่เสมอ และเนื่องด้วยน้ำพระทัยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานพื้นที่ในศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน จำนวน 800 ไร่ จากทั้งหมด 2,000ไร่ เพื่อให้เป็นสถานที่บ่มเพาะการใช้ชีวิตปรับตัวเข้ากับโลก โดยมีความเป็นตัวตนของมละบริ พัฒนา และสร้างเป็นรูปแบบการพัฒนาบนฐานภูมิปัญญาของมละบริอย่างยั่งยืน ตามพระราชดำริ " พัฒนาให้เขา เป็นเขา รู้เท่าทันโลก โดยยังคงรักษาความเป็นมละบริไว้ได้ดังเดิม"

นายนรชาติ วงศ์วันดี นักวิจัยและผู้ประสานงานศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พื้นที่จังหวัดน่าน กล่าวว่า เป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้วที่ มจธ. ได้มีโอกาสปฏิบัติงานตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเข้าไปส่งเสริมและร่วมเรียนรู้ในการสร้างความสามารถในการเพาะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประกอบอาชีพเสริมแทนการเก็บของป่าล่าสัตว์ ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของชาวมละบริที่ออกจากป่ามาอยู่ในพื้นที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา เพื่อให้อยู่ร่วมกับสังคมเมืองปัจจุบันได้อย่างเสมอภาค

"เราเข้าไปทำงานกับมละบริภูฟ้าประมาณ 78 คน ซึ่งเป็นเพียงกลุ่มหนึ่งของประเทศเท่านั้น สิ่งสำคัญของการทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์คือเราต้องเข้าใจเรื่องมนุษยวิทยา สังคมวิทยาของเขาด้วย เพราะเขาไม่ชอบทำตามคำสั่ง และไม่ชอบถูกบังคับ ดังนั้นสิ่งที่ มจธ. ทำเป็นอันดับแรกคือการเข้าไปฝังตัวร่วมทำงานไปกับชาวมละบริ ไปทำความเข้าใจในตัวเขา เรียนรู้วิธีคิด และเรียนรู้ธรรมชาติของเขา มจธ. ใช้เวลาอยู่กับเรื่องนี้เป็นปีๆ และให้เขารวบรวมสิ่งที่อยากทำมากที่สุด แล้วนำมาพัฒนาให้เป็นอาชีพที่เหมาะกับมละบริ เริ่มจากการสร้างสิ่งที่เป็นแรงจูงใจที่จะทำให้เขาใช้ชีวิตอยู่เป็นหลักแหล่งเหมือนคนทั่วไปให้ได้ ต้องเพิ่มความสามารถในการทำงานให้เขา และทำให้เขาคิดเองเป็น ทำงานเป็น วางแผนเป็น และเมื่อเขามีความสามารถมากขึ้น เขาก็ต้องบอกได้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นผิดถูกอย่างไรเพื่อที่จะเรียนรู้และแก้ปัญหาต่อไป เพราะถ้าวันไหนที่เราไม่อยู่เขาก็ต้องดำรงชีวิตต่อกันเองได้ ซึ่งตอนนี้ชาวมละบริที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาเก่งขึ้น และเรียนรู้ที่จะปรับตัวอยู่เสมอ"

คุณนรชาติกล่าวต่ออีกว่า ตอนนี้ชาวมละบริที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาประกอบอาชีพที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างจากหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ ส่วนเวลาที่ว่างเว้นจากการเป็นลูกจ้างก็ทำเกษตรประณีต ทำนา ปลูกผักตามฤดูกาลหลากชนิด และปลูกสตรอเบอรี่ ซึ่งสตรอเบอรี่ของที่นี่มีความแตกต่างจากที่อื่นเพราะช่วงเวลาในการออกผลนั้นจะเร็วกว่าที่อื่น ซึ่งจะตรงกับช่วงเทศกาลท่องเที่ยวปีใหม่พอดีเป็นผลจากการรับเอาเทคโนโลยีจาก มจธ. ไปปรับใช้ นอกจากนั้น ยังมีการเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ พัฒนาเรื่องหัตถกรรม ซึ่ง มจธ. เองก็พยายามหาตลาดและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของชาวมละบริไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพ และบรรจุภัณฑ์

ปัจจุบันชาวมละบริมีการแต่งตั้งกรรมการหมู่บ้าน และมีการแบ่งกลุ่มกันดูแลการผลิต โดยผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ ทั้งการทำนา การปลูกผักปลอดสารพิษ และการเลี้ยงสัตว์ อาทิ เลี้ยงไก่ และเลี้ยงปลา นำมาขายกันเอง ทำให้เงินหมุนเวียนภายในหมู่บ้าน แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่มละบริต้องซื้อข้าวจากนอกหมู่บ้านปีละประมาณ 10 ตันสำหรับคนทั้งหมู่บ้านเป็นเงินรวมกว่า 130,000 บาทต่อปี แต่ 2 ปีที่ผ่านมานี้ชาวมละบริได้รับเอาเทคโนโลยีที่ มจธ. ถ่ายทอดให้ผสมผสานกับความตั้งใจทำให้ชาวมละบริมีฝีมือในการทำเกษตรประณีตทำให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น และล่าสุดชาวมละบริที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนายังสามารถปลูกข้าวกินเอง ได้ผลผลิตข้าวสูงถึง 9 ตันต่อปี ทำให้เสียเงินซื้อข้าวเพิ่มอีกเพียงแค่ 1 ตันเท่านั้นก็เพียงพอที่จะกินกันได้ทั้งหมู่บ้าน ซึ่งหลังจากที่พวกเขาทำบัญชีรายรับรายจ่ายแล้วพบว่าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายต่อปีไปได้อีกมาก

" มจธ.นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตของชาวมละบริ โดยเฉพาะเรื่องการเกษตร ปลูกผัก ปลูกข้าว เป็นสิ่งที่ชาวมละบริไม่เคยทำมาก่อนเลยในชีวิต ชาวมละบริจะรับองค์ความรู้ที่เราป้อนให้ได้ดีกว่าชาวบ้านทั่วไป เพราะมละบริเริ่มต้นจากศูนย์จึงไม่มีข้อโต้แย้งแต่เขาพร้อมที่จะเรียนผิดเรียนแก้ไปพร้อมกับเรา ปัจจุบันชาวมละบริที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาไม่หนีเข้าป่าแล้ว และยังถือเป็นครั้งแรกของโลกที่ชาวมละบริสามารถทำการเกษตรเพื่อพึ่งพาตนเองได้ เปลี่ยนการเก็บของป่าแลกอาหารและสิ่งของมาเป็นเงินแทน อย่างน้ำผึ้งป่าของดีอีกอย่างของมละบริที่นี่ก็เก็บมาบรรจุขวดขายให้แก่นักท่องเที่ยว เรียนรู้ที่จะทำงานหาเงิน เรียนรู้วิธีการบริหารจัดการกันเองภายในหมู่บ้าน และการจัดทำรายรับ-รายจ่ายของหมู่บ้าน อีกประเด็นหนึ่งเรื่องที่ มจธ. พยายามส่งเสริมและกำลังมีแนวโน้มไปในทางที่ดีคือ 'การศึกษา' เราย้ำกับเขาตลอดว่าหมู่บ้านจะเข้มแข็งและพวกเขาจะพึ่งพาตัวเองได้ตลอดไปนั้นจะต้องเกิดจากคนภายในหมู่บ้านเองไม่ใช่เพราะ มจธ. หรือใครก็ตาม ซึ่งอาวุธสำคัญที่จะช่วยพัฒนาตัวเองได้ดีก็คือ ความรู้ที่จะทำให้เอาตัวรอดในสังคมได้โดยไม่ถูกเอาเปรียบ และจากที่ชาวมละบริไม่เคยเรียนหนังสือ แต่วันนี้ชีวิตของชาวมละบริที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาเปลี่ยนไป เด็กทุกคนได้เข้าโรงเรียน และล่าสุดมีชาวมละบริศึกษาถึงระดับปริญญาตรีแล้วถึง 6 คน โดยมี นางอรัญวา ชาวพนาไพร เป็นชาวมละบริคนแรกของโลกที่ศึกษาระดับปริญญาตรีได้สำเร็จ ในสาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช" นายนรชาติกล่าวทิ้งท้าย

จากนี้ไปชาวมละบริที่เคยใช้ชีวิตเป็นคนป่า ย้ายถิ่นฐานอยู่ตลอดเวลา ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ชาวมละบริแต่ละครอบครัวเริ่มเรียนรู้ที่จะวางแผนอนาคตในทุกเรื่องของชีวิต ตั้งแต่การทำงานหาเงินมาใช้จ่าย เก็บเงินส่งลูกเรียน และการคุมกำเนิด ตลอดจนเรื่องของที่อยู่อาศัย เป็นต้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4