มูลนิธิสยามกัมมาจล 3 กูรู ชี้…การเรียนรู้นอกห้องเรียน ช่วยเสริมประสบการณ์ชีวิต ความคิด และทักษะของเยาวชนรุ่นใหม่ ที่ไม่ใช่แค่ความรู้อยู่ในตำราเรียน

พฤหัส ๐๒ มีนาคม ๒๐๑๗ ๑๓:๑๙
จากทัศนคติด้านการศึกษาแบบเดิมที่ พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และครูส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อที่ว่า…การเรียนที่อยู่ในห้องเรียนนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการเรียนรู้นอกห้องเรียน เพราะอยากให้บุตรหลานได้ใบเบิกทาง…สู่เส้นทางการทำงานมั่นคง และรายได้ที่ดี…อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ออกมาชี้ประเด็นสำคัญในเรื่องการเรียนรู้นอกห้องเรียนนั้น ย่อมมีสำคัญกับคนในศตวรรษที่ 21 ด้วยเช่นกัน

นายชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้บริหารโครงการศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า "…จากประสบการณ์การทำงานในโครงการ Active Citizen เป็นระยะเวลากว่าสองปี พบว่ากระบวนการเรียนรู้โดยพาเด็กเรียนรู้วิถีชุมชนของตนเอง หรือ การทำCommunity Project นั้น ไปช่วยเสริมการเรียนรู้ของเด็กในห้องเรียน ไม่ว่าจะในระดับมหาวิทยาลัย มัธยม รวมถึงประถม ส่งให้ผลการเรียนโดยรวมดีขึ้นเพราะว่าเด็กเหล่านี้ได้ฝึกทักษะเรื่องการฟัง พูด คิด ถาม เขียน ดังนั้น การพัฒนาคนรุ่นใหม่จึงเป็นหัวใจสำคัญของการที่จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการที่เราจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในอนาคต คนรุ่นใหม่ในยุคต่อไปจะต้องเท่าทันกับสถานการณ์และสามารถที่จะนำเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อที่เราจะก้าวไปสู่การยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศไทย 4.0 ยกตัวอย่างเช่น เยาวชนในโครงการฯ ที่ทำเรื่องของการฟื้นฟูหรือการยกระดับการทำนาเกลือ เดิมทีเขาก็ไม่อยากที่จะทำนาเกลือ แต่พอน้องเข้ามาร่วมโครงการกับเรา เขากลับเห็นคุณค่าของอาชีพนาเกลือ รู้ที่จะดึงเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไปใช้ในการที่จะพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์จากเกลือ ไปทำเป็นเกลือสปา ไปทำเกลือสำหรับการแปรรูปเกลือที่มีคุณภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกันเขาก็ไปชักชวนเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยและอาจารย์มาเรียนรู้คุณค่าของนาเกลือในพื้นที่ ซึ่งอันนี้เขาคงไม่ได้แค่พัฒนาได้กับตัวเองแต่ว่ามันจะนำไปสู่การยกระดับของการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเกลือซึ่งในอนาคตอาจจะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเกลือให้ไปเชื่อมโยงสู่การรักษาอาชีพการทำนาเกลือซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนที่นี่ได้ เป็นต้น"

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า"ในสังคมไทยขณะนี้มีอยู่ 2 มิติ อันแรก คือ เด็กเรียนรู้ในห้องเรียนแล้วไปเรียนรู้นอกห้องเรียน นั่นคือ การไปติววิชา นี่คือ ความคิดของคนส่วนใหญ่เพื่อหวังให้ลูกตัวเองเก่งกว่าคนอื่น รู้เทคนิคการสอบ แล้วสามารถเรียนต่อได้ แต่อีกกระบวนการหนึ่งที่ผมคิดว่าตอบโจทย์ทั้ง 2 ส่วน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและดิจิตอลอีโคโนมี (Digtial Economy) คือ กระบวนการเรียนรู้ลงสู่ชุมชน ไปพัฒนาโจทย์วิจัย ไปร่วมออกแบบพูดคุยกับครูภูมิปัญญา ปราชญ์ท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กแล้วเริ่มคิดวิเคราะห์ มองหาข้อมูลเป็น สรุป แล้วก็เพิ่มทักษะ จากเด็กที่ขี้อายไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะถูกพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ การออกแบบลักษณะนี้มันผ่านกระบวนการและกิจกรรมของเด็กที่ผ่านกิจกรรม เขาจะมีสิ่งที่แตกต่างจากเด็กที่ไปกวดวิชาก็คือเขารู้จักคุณค่า รักท้องถิ่นตัวเอง แล้วมีความภาคภูมิใจในสิ่งที่เขาฝัน เขาจินตนาการ เขามุ่งมั่นแล้วเขาทำสำเร็จ ในขณะที่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งมันเป็นความสำเร็จเชิงปัจเจก มันไม่ได้คิดเพื่อส่วนรวม ไม่ได้คิดเพื่อท้องถิ่น ไม่ได้คิดเพื่อคนอื่น เพราะฉะนั้นคน 2 กลุ่ม ในอนาคตผมคิดว่าเราจะมีความขัดแย้งกันในระดับที่มีวิธีการคิดแตกต่าง…ผมจึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ตระหนักถึงการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับไทยแลนด์ 4.0 มาคุยกันว่า ทั้งสองเรื่องนี้ เราสามารถทำให้ไปในทิศทางเดียวกันได้หรือไม่ หรือมีความต่างกันอย่างไร เพราะว่าถ้าเราจะดึงเด็กไปทางดิจิตอลอีโคโนมี (Digtial Economy) เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีรากฐานของชุมชน สังคมเลย จะทำให้เราสูญเสียพลเมืองที่ดี (active citizen)กลับมีแต่พลเมืองที่คิดแต่เรื่องประโยชน์ของตนเอง ซึ่งถ้าเราสามารถสร้างความเข้าใจหลักการที่ถูกต้อง ทำให้ทั้งสองส่วนสอดคล้องกลมกลืนอย่างชัดเจน แล้วออกแบบกระบวนการเรียนรู้ผ่านครู ผ่านโรงเรียนที่ดีๆ แล้วพาเด็กออกไปเรียนรู้ชุมชน สังคม ตั้งโจทย์ไปสร้างแรงบันดาลใจ ก็จะทำให้ประเทศไทยมีเยาวชนที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลกแน่นอน

ด้านนางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "…ยังมีผู้ปกครองที่ยังมีค่านิยมของการที่บอกว่าเด็กเก่งต้องเรียนเก่ง เด็กเก่งต้องสอบโอเน็ตได้ดี เด็กเก่งต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ดี แต่ก็อยากผู้ปกครองหลายๆคนมองว่า เมื่อบุตรหลานของเราจบจากมหาวิทยาลัย เขาจะไปทำอะไร และเมื่อจบมา ลูกเราหลานเราซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนหลักหมื่นที่มีการแข่งขันเข้าสู่ตลาดแรงงาน เข้าสู่บริษัทใหญ่ๆ พวกเขาจะมีโอกาสถึง 1% หรือไม่ เพราะฉะนั้นพ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องคิดใหม่ว่า เด็กเองนอกจากเรียนรู้จากตำราแล้ว ต้องเรียนรู้จากชีวิต ที่มาจากโจทย์จริง…ยิ่งเขาเรียนรู้โจทย์จริงในชีวิตหรือในชุมชนเร็วเท่าไหร่ เขาจะพัฒนาความเข้าใจชุมชน พัฒนาศักยภาพ วิธีทำงาน แล้วก็มีจิตใจที่ยิ่งใหญ่ ที่ไม่ใช่คิดถึงตัวเอง ถ้าเด็กมีคุณลักษณะแบบนี้ ทำงานเป็น รู้จักสังคม เข้าใจเพื่อน ทำงานเป็นทีมได้ นี่แหละคือคุณสมบัติที่ผู้ประกอบการทั้งหลายมองหา และรู้จักเอาความรู้ไปปรับใช้ แล้วการทำงานเป็นทีมเวิร์คได้นั้นมันก็ยิ่งส่งผลให้เขาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าและเป็นที่ต้องการของสังคมต่อไป"

จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน ได้ลงความเห็นว่า ความรู้ในห้องเรียนยังมีความสำคัญอยู่แต่การเรียนรู้นอกห้องเรียนก็สำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน ด้านการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ พัฒนาทักษะ จากการที่เขาค้นหาคำตอบด้วยตนเอง เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เยาวชนได้เรียนรู้และเกิดความเข้าใจในเรื่องนั้นๆได้อย่างลึกซึ้ง นี่อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้คุณครูยุคใหม่ พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง เปลี่ยนความเชื่อเดิมๆ จากการหาความรู้ที่อยู่มีในตำราเรียน สู่การเรียนรู้ในรูปแบบการเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตของคนในยุคศตวรรษที่ 21

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4