ประชาชน 73.67% ยอมรับเคยทิ้งขยะลงในสถานที่สาธารณะ ร้อยละ 58.06 ระบุสาเหตุสำคัญที่สุดในการทิ้งขยะในสถานที่สาธารณะคือความขี้เกียจมักง่าย

พฤหัส ๑๖ มีนาคม ๒๐๑๗ ๑๖:๓๙
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อพฤติกรรมการทิ้งขยะในสถานที่สาธารณะ ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 ถึง 7 มีนาคม พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,185 คน

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ได้ลงประกาศ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 และให้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยมีใจความสำคัญว่า หน่วยงานส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดแยก เก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการ รวมทั้งกำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจนำสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยที่จัดเก็บได้ ไปใช้ประโยชน์หรือหาประโยชน์ได้ รวมถึงได้กำหนดบทลงโทษกับผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดต่างๆที่ออกโดยท้องถิ่น ขณะเดียวกันได้มีการกำหนดอัตราทำเนียมในการจัดการขยะไว้ซึ่งสำหรับครัวเรือนทั่วไปต้องเสียค่าทำเนียม 150 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ปัญหาขยะมูลฝอยถือเป็นปัญหาสำคัญในเมืองใหญ่ต่างๆทั่วโลกรวมถึงกรุงเทพมหานครและในจังหวัดใหญ่อื่นๆของประเทศไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามกำหนดมาตรการต่างๆมาบังคับใช้เพื่อลดปัญหาขยะมูลฝอยที่นับวันจะมีมากขึ้น เช่น การกำหนดอัตราค่าจัดการขยะครัวเรือน การกำหนดบทลงโทษผู้ที่ทิ้งขยะในสถานที่สาธารณะต่างๆ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงการทิ้งขยะให้เป็นที่ หรือการแบ่งแยกถังขยะสำหรับขยะแต่ละประเภทเพื่อให้สะดวกในการทิ้งและการนำไปจัดการต่อไป แต่ปัญหาขยะมูลฝอยยังคงไม่หมดไป โดยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือพฤติกรรมของผู้คนในสังคมบางส่วนที่ไม่เห็นสำคัญของการทิ้งขยะให้เป็นที่และความมักง่ายในการทิ้งขยะ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อพฤติกรรมการทิ้งขยะในสถานที่สาธารณะ โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 ถึง 7 มีนาคม พ.ศ. 2560

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.55 เพศชายร้อยละ 49.45 อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป สามารถสรุปผลได้ดังนี้ สำหรับสถานที่สาธารณะที่กลุ่มตัวอย่างพบเห็นขยะมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ บริเวณโคนต้นไม้/ในพุ่มไม้/กระถางต้นไม้คิดเป็นร้อยละ 84.73 พื้นถนน/บาทวิถี/สะพานลอยคิดเป็นร้อยละ 82.36 บริเวณที่มีการจัดงาน/กีฬา/คอนเสิร์ตต่างๆคิดเป็นร้อยละ 80.08 บนเก้าอี้/ม้ายาวในสถานที่สาธารณะคิดเป็นร้อยละ 76.96 และข้างเสาไฟฟ้า/ตู้โทรศัพท์/ตู้ไปรษณีย์คิดเป็นร้อยละ 73.5

ในด้านพฤติกรรมการทิ้งขยะในสถานที่สาธารณะ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.03 ยอมรับว่าตนเองไม่เคยอ่านป้าย/สัญลักษณ์บอกประเภทขยะที่ติดอยู่ข้างถังขยะก่อนทิ้งขยะเลย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26.08 ระบุว่าเคยอ่านก่อนบ้างเป็นบางครั้ง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 17.89 ระบุว่าเคยอ่านก่อนทุกครั้ง

นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 81.35

ยอมรับว่าตนเองเคยทิ้งขยะลงในถังขยะสาธารณะที่ตั้งอยู่ใกล้ตนเองที่สุดโดยไม่ได้คำนึงว่าเป็นถังสำหรับประเภทขยะที่ทิ้งหรือไม่ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างถึงเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 73.67 ยอมรับว่าตนเองเคยทิ้งขยะลงในสถานที่สาธารณะ เช่น พื้นถนน/บาทวิถี ใต้ต้นไม้/กระถางต้นไม้ ข้างเสาไฟฟ้า ในท่อระบายน้ำ เป็นต้น ในกรณีที่ไม่พบถังขยะสาธารณะในบริเวณที่ตนเองอยู่

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการทิ้งขยะลงในสถานที่สาธารณะ เช่น พื้นถนน/บาทวิถี โคนต้นไม้/ในพุ่มไม้/กระถางต้นไม้ ข้างเสาไฟฟ้า พื้น/เก้าอี้ในอาคารสาธารณะ ในท่อระบายน้ำ บริเวณการจัดงานต่างๆ เป็นต้น นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.06 มีความคิดเห็นว่าเกิดจากความขี้เกียจมักง่ายมากที่สุด ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างไม่ถึงหนึ่งในห้าซึ่งคิดเป็นร้อยละ 19.75 ระบุว่าไม่มีถังขยะ/มีถังขยะไม่เพียงพอ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.05 และร้อยละ 8.02 ระบุว่าถังขยะอยู่ไกลและไม่มีถังขยะสำหรับประเภทขยะที่จะทิ้งตามลำดับ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 3.12 ระบุว่าเกิดจากสาเหตุอื่นๆ

ในด้านความคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการจัดการขยะนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.13 มีความคิดเห็นว่าหากมีการจัดจุดทิ้งขยะขนาดใหญ่เป็นการเฉพาะให้จะมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะขนาดใหญ่ เช่น ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ ที่ถูกทิ้งลงแม่น้ำลำคลองได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.89 มีความคิดเห็นว่าการเพิ่มอัตราโทษกับผู้ที่ทิ้งขยะในสถานที่สาธารณะให้หนักขึ้นจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้คนนำขยะไปทิ้งลงในถังขยะมากขึ้น อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.08 มีความคิดเห็นว่าการเพิ่มอัตราค่าเก็บขยะสำหรับครัวเรือนให้สูงขึ้นจะไม่มีส่วนช่วยลดปริมาณขยะลงได้

ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 49.11 มีความคิดเห็นว่าหากมีการกำหนดอัตราค่าจัดเก็บขยะ 150 บาทต่อเดือนสำหรับแต่ละครัวเรือนเป็นอัตราที่ไม่แพงเกินไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.59 ระบุว่าแพงเกินไป ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.3 ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมระหว่างการกำหนดอัตราค่าเก็บขยะอัตราเดียวทุกครัวเรือนกับการกำหนดอัตราค่าเก็บขยะตามปริมาณขยะในแต่ละครัวเรือน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 62.28 มีความคิดเห็นว่าการคิดอัตราค่าเก็บขยะตามปริมาณขยะของแต่ละครัวเรือนมีความเหมาะสมมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.72 มีความคิดเห็นว่าการคิดอัตราค่าเก็บขยะอัตราเดียวทุกครัวเรือนเหมาะสมกว่า

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๘ เม.ย. Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๘ เม.ย. Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๘ เม.ย. โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๘ เม.ย. 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๘ เม.ย. TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๘ เม.ย. SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๘ เม.ย. โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๘ เม.ย. หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๘ เม.ย. คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital