STC พร้อมเป็นพี่เลี้ยง 10 รร.หวังช่วยพัฒนาความรู้-สร้างสื่อการเรียนการสอน

จันทร์ ๒๐ มีนาคม ๒๐๑๗ ๑๒:๒๑
จากนโยบายด้านการอุดมศึกษาของ นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาในการปฏิรูปการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพ และมีมาตรฐานเสมอภาคอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษาหรือโรงเรียนในท้องถิ่น โดยให้สถาบันอุดมศึกษาในแต่ละพื้นที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่สถานศึกษาหรือโรงเรียนพัฒนาการศึกษาในท้องถิ่น ซึ่งได้แบ่งเครือข่ายอุดมศึกษาเป็น 9 ภูมิภาค เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนสถานศึกษาหรือโรงเรียนในท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง ผ่านโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง

วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) เป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อหวังพัฒนาสถานศึกษาหรือโรงเรียนในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ ในปีการศึกษา 2559 นี้ STC จะขยายการเข้าพัฒนาสถานศึกษาหรือโรงเรียนในท้องถิ่นเป็น 10 โรงเรียน หวังสร้างคุณภาพทางการศึกษาให้เกิดขึ้น

อาจารย์จรวยพร นิลโบราณ หัวหน้าฝ่ายบริการวิชาการ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) กล่าวถึงการเข้าร่วมโครงการว่า "STC ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 แล้ว เราอยู่ในเครือข่ายอุดมศึกษาภาคกลางตอนล่าง โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นประธานเครือข่าย"

โครงการแรกที่ STC ทำเมื่อปีการศึกษา 2558 คือ การพัฒนาโรงเรียนวัดยางงาม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี สังกัดสพป. ราชบุรีเขต 1 เหตุผลที่เลือกพัฒนาให้กับโรงเรียนวัดยางงาม เนื่องจาก STC มีสนามบินโพธาราม อยู่ที่จังหวัดราชบุรี จึงเลือกทำกับโรงเรียนใกล้สนามบิน

ปีการศึกษา 2558 ที่ STC เข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น (1 สถาบันต่อ 1 โรงเรียน) ได้พัฒนาโรงเรียนวัดยางงามโดยการนำทีมอาจารย์วิทยาลัยนานาชาติของ STC พัฒนาด้านกิจกรรมการสื่อสารภาษาอังกฤษในการใช้ชีวิตประจำวันจนทำให้นักเรียนโรงเรียนวัดยางงามเกิดแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างมากจนนักเรียนเกิดทักษะและเกิดความกล้าแสดงออกในการสื่อสารภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังได้นำผลงานการจัดกิจกรรมสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงของ STC มาสร้างเป็นโมเดลกิจกรรมจากการสื่อสารในชีวิตประจำวันของนักเรียนไปนำเสนอเพื่อประเมินในระดับตำบลจนทำให้ได้รับรางวัล "โรงเรียนดีประจำตำบล แบบยั่งยืน"

ด้าน STC ได้นำโมเดลการไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนวัดยางงามไปนำเสนอผลการพัฒนาให้กับสถาบันอุดมศึกษากลุ่มเครือข่ายภาคกลางตอนล่าง จำนวน 10 สถาบัน จากผลงานดังกล่าวทำให้ปีการศึกษา 2560 STC ได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

ในปีการศึกษา 2559 นั้น STC จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานศึกษาหรือโรงเรียนในท้องถิ่น 10 โรงเรียน โดยโรงเรียนวัดยางงามเป็นโครงการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ส่วนอีก 9 โรงเรียนใหม่ ได้แก่ โรงเรียนวัดท่าพระ โรงเรียนวัดบางเสาธง โรงเรียนวัดโพธิ์เรียง โรงเรียนวัดดีดวด โรงเรียนวัดประดู่ในทรงธรรม โรงเรียนฤทธิณรงค์รอน โรงเรียนธนบุรีวรเทพีพลารักษ์ โรงเรียนวัดประดู่ฉิมพลี และโรงเรียนวัดเจ้ามูล

สำหรับระยะเวลาโครงการจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 มีนาคม–พฤษภาคม 2560 ระยะที่ 2 มิถุนายน–สิงหาคม 2560 และระยะที่ 3 พฤศจิกายน 2560–กุมภาพันธ์ 2561 โดยโครงการที่ STC จะเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้มีทั้งหมด 7 กิจกรรม คือ 1.กิจกรรมยกระดับความรู้ภาษาต่างประเทศ 2.กิจกรรมยกระดับความรู้ภาษาไทย 3.การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน (โตไปไม่โกง รู้เท่าทันสื่อ ไม่เป็นเหยื่อของสังคม) 4.กิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มการเรียนรู้ 5.กิจกรรมพัฒนาครู 6.การจัดการเรียนการสอนสเต็มในสถานศึกษา และ 7.อื่นๆ ตามความต้องการของโรงเรียน

"แต่ละสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นพี่เลี้ยงต้องมีกิจกรรมดำเนินการพัฒนาแต่ละโรงเรียนอย่างน้อย 2 ใน 7 กิจกรรม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมยกระดับความรู้ภาษาต่างประเทศ และกิจกรรมพัฒนาครูด้วยรูปแบบการเรียนการสอนสเต็มศึกษา ในส่วนของการยกระดับความรู้ภาษาต่างประเทศ STC มีความชำนาญ เพราะเรามีวิทยาลัยนานาชาติมาเป็นผู้ขับเคลื่อนกิจกรรม ส่วนของการพัฒนาครูนั้นได้ทางคณะเทคโนโลยี ศูนย์คอมพิวเตอร์ และคณะศิลปศาสตร์เข้ามาร่วมกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนสเต็ม เราทำเรื่องนี้เพราะเรามีความชำนาญเรื่องนวัตกรรม และเทคโนโลยีอยู่แล้ว เรายังได้รับความร่วมมือจากบริษัท แกรมมาโก้ (ไทยแลนด์) จำกัด ในการสนับสนุนอุปกรณ์การสอน"

สำหรับโครงการสเต็มเพื่อการศึกษานั้น STC จะส่งบุคลากรเข้าไปให้ความรู้กับครู เพื่อช่วยพัฒนาระบบการเรียนการสอน หรือจัดทำคู่มือประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และให้เขาไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนต่อไป

โครงการสเต็มเพื่อการศึกษามีเป้าหมายที่จะสอนให้นักเรียนได้รู้จักกระบวนการคิด การวิเคราะห์ การออกแบบ และการสร้างนวัตกรรม โดยใช้เลโก้เป็นสื่อการเรียน ถ้าเป็นนักเรียนระดับประถมศึกษาก็จะเป็นการสร้างเลโก้แบบง่ายๆ ส่วนนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายจะมีการสร้างเลโก้ที่ยากขึ้นมีองค์ประกอบของไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง

"ปีการศึกษา 2559 ระยะที่ 1 เราขับเคลื่อนให้กับโรงเรียนธนบุรีวรเทพีพลารักษ์แล้ว โดยเราไปอบรมพัฒนาครูทั้งโรงเรียนในการสร้างโมเดลของการจัดกิจกรรม จากเดิมที่แต่ละวิชาต่างคนต่างเรียน เราก็แนะนำให้เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการ อย่าง โครงการโรงเรียนธนบุรีวรเทพีพลารักษ์ที่นักเรียนกำลังทำอยู่นั้น คือ การพัฒนาอาหารในชุมชน เช่น ขนมกุยช่ายตลาดพลู ขนมหวานตลาดพลู สินค้าเขาดีมาก แต่ไม่มีการพัฒนาก็ให้นักเรียนดูว่าจะออกแบบ สร้างสรรค์ แพ็คเกจจิ้ง ทำการตลาดอย่างไร โดยเฉพาะการตลาดออนไลน์ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเรียนโรงเรียนนี้ชำนาญ ส่วนของโรงเรียนอื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตอบกลับว่าต้องการให้ STC เข้าไปช่วยในเรื่องอะไร เพื่อจะได้เข้าไปช่วยกันพัฒนาได้อย่างตรงเป้าหมาย"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๖:๕๘ Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๖:๐๓ Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๖:๓๕ โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๖:๓๑ 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๖:๒๗ TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๖:๔๗ SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๖:๐๐ โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๖:๒๙ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๖:๒๘ คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital