กสอ. เผยหนังจระเข้ ปลากระเบน งู ของไทยสุดฮอทในต่างประเทศ พร้อมคาดตัวเลขอุตฯเครื่องหนังดีมานด์แตะ 6 หมื่นล้าน ปี 60

พุธ ๒๙ มีนาคม ๒๐๑๗ ๑๖:๔๘
· กสอ.เปิดพื้นที่งานแฟร์ "แฟนพันธุ์แท้เครื่องหนังไทย 2560" โชว์นวัตกรรม รองเท้าสำหรับคนเท้าแบนเพื่อคนไทย ในราคาที่ถูกกว่าต่างประเทศ 6 เท่า

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยอุตสาหกรรมเครื่องหนังสามารถสร้างมูลค่าในปีที่ผ่านมาได้กว่า 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 54,000 ล้านบาท มีตลาดที่สำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และตะวันออกกลาง โดยผู้บริโภคในประเทศดังกล่าวยังคงให้ความนิยมหนังสัตว์เลื้อยคลานของไทย โดยเฉพาะหนังจระเข้ หนังงู รวมถึงหนังสัตว์น้ำอย่างปลากระเบนด้วย สำหรับในปี 2560 ถือเป็นอีกปีที่ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังจะมีการแข่งขันสูงมากทั้งจากในและต่างประเทศ โดยผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวในหลาย ๆ ด้านให้มากขึ้น อาทิ การปรับปรุงการออกแบบ การพัฒนาตราสินค้า การปรับเปลี่ยนมาผลิตสินค้าในระดับกลางและสูงให้มากขึ้น ทั้งนี้ เมื่อผู้ประกอบการได้เกิดการพัฒนาด้านต่าง ๆ แล้ว เชื่อว่าในปีนี้จะเป็นปีที่อุตสาหกรรมเครื่องหนังได้มีการพัฒนาอีกขั้น อีกทั้งยังมั่นใจว่าจะสามารถสร้างมูลค่าได้ถึงระดับ 60,000 ล้านบาท และจะช่วยกระตุ้นการส่งออกให้สูงขึ้นได้ต่อไป อย่างไรก็ดี กสอ. ได้กำหนดจัดงาน "แฟนพันธุ์แท้ เครื่องหนังไทย 2560" เปิดพื้นที่แสดงศักยภาพผู้ประกอบการกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องหนังพร้อมโชว์นวัตกรรม Orthonic Flat feet Shoe หรือ นวัตกรรมรองเท้าสำหรับคนเท้าแบน โดยงานดังกล่าวจัดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 27 ถึง 31 มีนาคม 2560 ณ ห้องแสดงนิทรรศการ ชั้น 1 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องหนังถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องและมีความสำคัญต่อการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยในปีที่ผ่านมานั้นสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้สูงกว่า 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 54,000 ล้านบาท โดย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญต่อการสร้างมูลค่าและรายได้ให้กับอุตสาหกรรมเครื่องหนังในปีที่ผ่านมานั้นประกอบไปด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด (มูลค่าประมาณ 710 ล้านเหรียญสหรัฐ) กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สำหรับเดินทาง (มูลค่าประมาณ 280 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และกลุ่มผลิตภัณฑ์รองเท้าและชิ้นส่วน (มูลค่าประมาณ 620 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม) ซึ่งตลาดและประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และตะวันออกลาง และมีประเทศที่เป็นคู่แข่ง ได้แก่ อินเดียที่มีความสามารถในการผลิตหนังได้ในปริมาณมาก เวียดนามได้เปรียบในด้านค่าแรงที่มีราคาต่ำกว่าและประเทศจีนที่เป็นคู่แข่งในเรื่องของราคาและการออกแบบ สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องหนังที่ได้รับการตอบรับและความนิยมในตลาดต่างประเทศอย่างดีในปีที่ผ่านมานั้นพบว่า ผู้บริโภคยังคงชื่นชอบในสินค้าที่ทำจากหนังสัตว์เลื้อยคลานของไทย โดยเฉพาะหนังจระเข้ หนังงู และหนังสัตว์น้ำอย่างปลากระเบน ซึ่งทั้ง 3 ชนิดนี้สามารถผลิตเป็นสินค้าได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นเบาะรถ กระเป๋า รองเท้า เข็มขัด ทั้งยังสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างสูง โดยหนังจระเข้ในปัจจุบันนั้นมีราคาอยู่ที่เซนติเมตรละ 800 บาท รองลงมาได้แก่ หนังปลากระเบน มีราคาอยู่ที่เซนติเมตรละ 110 บาท และหนังงูทั่วไป มีราคาอยู่ที่เซนติเมตรละ 20 บาท

ดร.พสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2560 ถือเป็นอีกปีที่เชื่อว่าผลิตภัณฑ์เครื่องหนังจะมีการแข่งขันสูงมาก ทั้งจากในและต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการที่ผลิตเครื่องหนังต้องปรับเปลี่ยนจากสินค้าในระดับล่างมาผลิตสินค้าในระดับกลางและสูงให้มากขึ้น โดยจะต้องพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยโดยอิงตามกระแสแฟชั่นและควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาด เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะการลดต้นทุนในส่วนที่ไม่ใช่ค่าจ้างแรงงาน การนำวัตถุดิบมาต่อยอดผลิตเป็นสินค้าอื่น ๆ นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์เดิม เร่งสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จัก โดยในส่วนหลังนี้ อาจต้องใช้เวลาในระยะที่ยาวนานแต่ถ้าหากยังไม่เริ่มพัฒนาก็จะยังคงประสบปัญหาในการเป็นแค่เพียงแหล่งรับจ้างผลิต ทั้งนี้ ในส่วนของ กสอ.ได้ให้การส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องหนังมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัย รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเครื่องหนัง โดยจากการดำเนินงานก่อให้เกิดการต่อยอดการพัฒนานวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เกิดความร่วมมือในระดับห่วงโซ่อุปทานที่สามารถบูรณาการการเชื่อมโยงข้อมูลจากกิจกรรมทางอุตสาหกรรมในทุกระดับ นอกจากนี้ ยังได้จัดสรรโครงการเพื่อการเพิ่มขีดความสามารถอีกกว่า 10 โครงการ อาทิ โครงการสร้างและพัฒนาเครือข่ายและการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมในรูปแบบคลัสเตอร์ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ทั้งยังได้กำหนดจัดกิจกรรม "แฟนพันธุ์แท้เครื่องหนังไทย" ที่ได้เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการได้แสดงศักยภาพผ่านการนำสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับมาจัดแสดงและจัดจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 27 ถึง 31 มีนาคม 2560 ซึ่งเชื่อว่าจากการส่งเสริมและพัฒนาทั้งหมดนี้ จะเป็นปีที่ช่วยให้อุตสาหกรรมเครื่องหนังได้มีการพัฒนาและสามารถสร้างมูลค่าได้ถึงระดับ 60,000 ล้านบาท อีกทั้งยังจะช่วยกระตุ้นการส่งออกให้อุตสาหกรรมนี้สูงขึ้นได้ต่อไป

ด้านนางเยาวรัตน์ พลานุสนธิ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องหนังไทย กล่าวว่า การรวมกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องหนังในปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 40 ราย ครอบคลุมทุกประเภทผลิตภัณฑ์ สมาชิกได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมการผลิตร่วมแบ่งปันความรู้ หาวิธีการในการลดราคาต้นทุน พัฒนาฝีมือแรงงาน รวมทั้งกลไกในการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังมาโดยตลอด จากการพัฒนาในด้านดังกล่าวที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์เครื่องหนังไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะคุณภาพของวัตถุดิบหนังExotic และฝีมือในการผลิต แต่ยังคงต้องพัฒนาในด้านการออกแบบอีกมาก สำหรับเป้าหมายของการผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องหนังในปี 2560 และในอนาคต ทางกลุ่มมีความมุ่งหวังที่จะให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าไทยสามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น โดยขณะนี้ได้เร่งปรับรูปลักษณ์ ตราสินค้า ช่วยกันเติมเต็มในสิ่งที่วงการเครื่องหนังไทยยังขาด ทั้งยังได้ผลักดันทายาทที่เป็นคนรุ่นใหม่ของผู้ประกอบการภายในกลุ่มเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจ แต่อย่างไรก็ดีทางกลุ่มยังคงต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในเรื่องการสนับสนุนการประชาสัมพันธ์และผลักดันการศึกษาดูงานซึ่งเชื่อว่าหากได้รับการส่งเสริมที่ดีอย่างต่อเนื่องก็จะช่วยให้อุตสาหกรรมเครื่องหนังสามารถไปได้ไกลและเป็นที่รู้จักได้ดีกว่านี้แน่นอน

ขณะที่นายวิโรจน์ เศรษฐโชตินันท์ ผู้ร่วมพัฒนา Orthonic Flat feet Shoe หรือ นวัตกรรมรองเท้าสำหรับคนเท้าแบน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กลุ่มคลัสเตอร์เครื่องหนังได้คิดค้นเครื่องมือที่สามารถวัดความผิดปกติของรูปแบบฝ่าเท้าได้ และนำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยผลิตรองเท้าที่มีจุดเสริมบริเวณฝ่าเท้าด้านใน เพื่อรองรับอุ้งเท้าบริเวณจุดที่มีปัญหาโดยเฉพาะซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการเท้าแบนได้ แม้ว่าอาการนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่จะก่อให้เกิดปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและความสมดุลของโครงสร้างร่างกายในระยะยาว โดยทำให้กล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบ เจ็บปวดบริเวณข้อเท้า อุ้งเท้า หัวเข่า สะโพก หรือ สันหลัง สำหรับรองเท้าที่ผลิตขึ้นดังกล่าว ทางสมาชิกได้พัฒนาให้มีราคาที่ย่อมเยากว่าราคาจำหน่ายในต่างประเทที่ราคาสูงถึง 3000 บาท โดยผลิตและจำหน่ายในราคา 500 บาทเท่านั้น ทั้งนี้ การพัฒนาในด้านดังกล่าวนี้ถือเป็นการตอบโจทย์และตระหนักถึงกลุ่มคนที่มีปัญหาโดยตรง ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตจะสามารถตีตลาดถึงกลุ่มผู้ที่มีปัญหาเดียวกันในต่างประเทศได้

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4575 , 4581 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4