สจล. รุก พลิกโฉม ก้าวสู่ “โมเดิลเวิดล์” โชว์ 5 วิทยาลัยที่โลกยุคใหม่ต้องการในปี 60

พุธ ๒๙ มีนาคม ๒๐๑๗ ๑๑:๐๖
· 'สุชัชวีร์' ปลื้ม สจล. ขยับแรงค์กิ้งติด TOP 200 ของเอเชีย พร้อมตั้งเป้าก้าวขึ้นสู่ เบอร์ 1มหาวิทยาลัยด้าน "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" ในอาเซียน

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ยิ้มรับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2017 โดย Times Higher Education (THE) หลัง สจล. ขยับอันดับติด Top 200 ของเอเชีย เร่งวางหลักสูตรและพัฒนาการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่อันดับ 1 สถาบันการศึกษาด้านวิทยศาสตร์และเทคโนโลยีในอาเซียน พร้อมโชว์ 5 วิทยาลัยที่โลกยุคใหม่ต้องการ ได้แก่ 1. วิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศและระบบโลก (College of Space and Earth Systems Engineering - SESE) 2. วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ (International Academy of Aviation Industry - IAAI) 3. วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์นานาชาติ 4. สำนักวิศวกรรมสังคีต (Institute of Music Science and Engineering - IMSE) และ 5. โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า (King Mongkut's International Demonstration School - KMIDS) ผนึกกำลังปั้นทักษะบัณฑิตไทยยุคใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ สอดรับเทคโนโลยีสมัยใหม่และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้องค์กรและหน่วยงานต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทัน โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ออกมาขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศชาติ โดยในส่วนของ สจล. นั้น ปัจจุบันแม้จะเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการยอมรับ และถือเป็นหนึ่งในผู้นำการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งล่าสุด สจล. ได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2017 โดยTimes Higher Education (THE) สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก จากประเทศอังกฤษ โดยติด Top 200 ในเอเชีย และอันดับ Top 5 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย แต่ก็ได้เล็งเห็นความสำคัญในการมุ่งสร้างทักษะใหม่ๆ แก่นักศึกษา เพื่อให้มีความรู้ความสามารถสอดรับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุตามเป้าประสงค์การก้าวขึ้นสู่ผู้นำการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกลุ่มประเทศอาเซียน สจล. ได้เดินหน้าพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง โดยนำเอาจุดเด่นของสถาบันในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผนวกเข้ากับความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาสู่การเป็น "สหวิทยาการ" ให้มากที่สุด อันเป็นการผสมผสานศาสตร์และศิลป์ข้ามสาขาหรือข้ามคณะ ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้ได้บัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในหลายมิติ เช่น การมุ่งเน้นให้นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรทำงานร่วมกัน เพื่อนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า ไม่เพียงเท่านั้นสถาบันยังได้จัดตั้งวิทยาลัยและหลักสูตรใหม่ๆ เพื่อสร้างทักษะที่ต้องการในโลกยุคใหม่ ได้แก่

· วิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศและระบบโลก (College of Space and Earth Systems Engineering - SESE)

โครงการจัดตั้ง SESE เกิดขึ้นเพราะปัจจุบันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการบริหารจัดการน้ำ ภัยธรรมชาติ และพลังงาน ถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีองค์ความรู้จากหลายศาสตร์ เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาข้างต้นในด้านต่างๆ รวมไปถึงสามารถพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ควบคู่กับการนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลด้านภัยธรรมชาติและบริหารจัดการน้ำของประเทศ ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบันและอนาคต สามารถทำงานได้ทั้งในบริษัทเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ โดยหลักสูตรปริญญาตรี หลักสูตรบัณฑิตศึกษาประกาศนียบัตร จะเริ่มเปิดสอนในปี 2561 ทั้งนี้ สจล. ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่เชี่ยวชาญเพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ อาทิ MIT, USA, National Space Science Center ประเทศจีน, กรมฝนหลวง เกี่ยวกับ "การเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝนหลวงเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งของประเทศ", สกว. ในการจัดตั้ง "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการรับรู้ระยะไกลและพยากรณ์อากาศและภูมิภาค" เป็นต้น

· วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ (International Academy of Aviation Industry - IAAI)

การขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินในปัจจุบัน ส่งผลให้ความต้องการนักบินและบุคลากร ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรการบินสูงขึ้น การจัดตั้ง IAAI จึงเปิดสอนทั้งในหลักสูตรระยะสั้นไปจนถึงหลักสูตรบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมการผลิตบุคลากร ด้านอุตสาหกรรมการบินของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติแล้ว ในขณะเดียวกันยังถือเป็นการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิต การซ่อม และบำรุงอากาศยานในภูมิภาคด้วย โดยได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด ร่วมกัน "พัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกลอากาศยาน", สมาคมนักบินไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ "ในการพัฒนาศักยภาพนักบิน", กองทัพอากาศ ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศ เป็นต้น

· วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์นานาชาติ (International Medical College, KMITL)

การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่เฉพาะประเทศไทย การผลิตแพทย์ที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคตนั้น นอกจากมีความรู้และเชี่ยวชาญในการรักษาโรคแล้ว ยังจำเป็นต้องมีทักษะด้านการวิจัยและความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี รวมไปถึงความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ที่ผ่านมา สจล. เป็นหนึ่งในมหาวิทยลัยที่มีความพร้อม ในการจัดการเรียนการสอนและวิจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยมีการสอนด้านวิศวกรรมชีวะการแพทย์มากว่า 30 ปี แต่ยังขาดสายวิทยาศาสตร์สุขภาพหรือแพทย์ ดังนั้น การนำเอาจุดแข็งที่มีอยู่แล้วผสานกับการจัดตั้งวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์นานาชาติ เพื่อสร้าง "แพทย์นวัตกรรม" จึงถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของการศึกษาไทย แพทย์ที่มีความรู้ทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี จะไม่ใช่แค่วินิจฉัยโรคและรักษาคนไข้ได้เท่านั้น แต่สามารถพัฒนาและผลิตเครื่องมือในการรักษาได้อีกด้วย ซึ่งในอนาคตจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ ที่ปัจจุบันมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละแสนล้านบาท โดยในระยะแรกนักเรียนแพทย์ระดับชั้นคลินิกจะใช้โรงพยาบาลเครือข่ายในการเรียนและฝึกปฏิบัติ ส่วนในอนาคตจะมีการสร้างโรงพยาบาลของสถาบันเพื่อใช้เป็นที่จัดการเรียนการสอนและเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปด้วย

· สำนักวิศวกรรมสังคีต (Institute of Music Science and Engineering - IMSE)

ในปี 2557 สจล. เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ณ เวลานี้ โดยขณะที่ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศไทย เติบโตและมีบทบาทสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก ทำรายมากถึงปีละกว่า 35,000 ล้านบาท ด้วยความสามารถและศักยภาพของประเทศชาติ หากมีการพัฒนาอย่างตรงจุดซึ่งรวมไปถึงเรียนการสอน ที่พัฒนาความสามารถบุคลากรในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง จะสามารถรองรับการเติบโตของตลาดและผลักดันไทยให้ก้าวสู่การเป็น "ศูนย์กลางอุตสาหกรรมและนวัตกรรมบันเทิงแห่งอาเซียน" ได้ไม่ยากนัก ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมดนตรีและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ในอนาคตอันใกล้ สจล. มีแผนจัดตั้ง IMSE ขึ้น เพื่อหนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทย โดยเป็นศูนย์กลางในการนำเทคโนโลยีและความรู้ทางวิศวกรรมเข้ามาประยุกต์ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทั้งในด้านการผลิตผลงานเพลง จัดคอนเสิร์ต และงานมหกรรมต่างๆ รวมไปถึงโครงการก่อสร้างที่ต้องนำความรู้ด้านเสียงเข้ามาร่วมออกแบบ เป็นต้น

· โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า (King Mongkut's International Demonstration School - KMIDS)

การพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างทักษะแห่งโลกอนาคตจะได้ผลดีที่สุด คือการปลูกฝั่งแนวคิดและพฤติกรรมการเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก การตั้ง KMIDS ขึ้น ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดวิทยาลัยวิจัยนวัตกรรมการศึกษาของ สจล. โดยวางหลักสูตรเป็นโรงเรียนสาธิตนานาชาติแห่งแรกของไทยที่เน้นการสอนด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อมุ่งให้นักเรียนมีทักษะเป็นนักสร้างและพัฒนานวัตกรรม รวมไปถึงการเน้นให้มีความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ พร้อมบูรณาการวิชาภาษาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เสริมด้วยศิลปะและกีฬา ถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการเติบโตขึ้นสู่การเป็นนักศึกษาของ สจล. ที่มีความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และการแพทย์ ตามพื้นฐานความชื่นชอบของแต่ละคน ซึ่งตามแผนจะเปิดสอนเทอมแรกประมาณกลางเดือน ส.ค. ปีการศึกษา 2560 โดยเปิดรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา Grade 7 (ม.1) และ Grade 10 (ม.4) จากนั้นจึงจะขยายเปิดรับระดับประถมศึกษาและปฐมวัยต่อไปในอนาคต

"การเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเป็นการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการผลักดัน สจล.ก้าวสู่การเป็นผู้นำสถาบันการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย และอันดับ 1 ของอาเซียนเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทักษะ และความสามารถของเด็กไทยให้ทัดเทียมนานาชาติด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนในการพัฒนาประเทศท่ามกลางความท้าทายในด้านต่างๆ คือความก้าวหน้าของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะต้องเผชิญกับความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี รวมไปสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาคอร์รัปชั่น แต่เกาหลีใต้ยังสามารถพัฒนาประเทศและก้าวขึ้นสู่ ประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกอันดับ 6 ของโลก ขณะที่การจัดอันดับมหาวิทยาชั้นนำของเอเชียครั้งล่าสุด มหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ติดอันดับ 1 ใน 10 ถึง 3 แห่ง ขณะที่ญี่ปุ่นติดเพียง 1 แห่งเท่านั้น ดังนั้น แนวทางการพัฒนาประเทศและระบบการศึกษาไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องร่วมกันวางรูปแบบ เพื่อพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้คนไทยสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่" ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่www.kmitl.ac.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4