ผลการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียน ม.ปลายต่อการเข้าศึกษาต่อ

จันทร์ ๑๗ เมษายน ๒๐๑๗ ๑๗:๑๓
เด็ก ม. ปลายร้อยละ 69.78 เชื่อว่าการจบการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายช่วยเพิ่มโอกาสการหางานทำได้ง่ายขึ้น แต่ 58.17% เห็นด้วยว่าเด็กรุ่นใหม่มีพฤติกรรมชอบเปลี่ยนงานบ่อย และสาขาวิชาที่อยากเรียนหลังจบมัธยมปลายคือ บริหารธุรกิจ วิศวกรรม อักษรศาสตร์ และการท่องเที่ยว/ธุรกิจการให้บริการ

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนนักศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกี่ยวกับการเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29 มีนาคม ถึง 3 เมษายน พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,160 คน

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า ในปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองโดยเฉพาะในสังคมเมืองอย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาของบุตรหลานเป็นอย่างมากเนื่องจากมีความเชื่อว่าการศึกษาคือปัจจัยสำคัญที่จะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้บุตรหลานของตนมีอาชีพการงานและรายได้ที่มั่นคงในอนาคตซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็ได้ให้ความสำคัญกับการเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสให้ตนเองได้เข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีและมีรายได้ที่สูงขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าวนักเรียนนักศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าซึ่งมีความตั้งใจจะเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นต่อไปนั้นมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าทั้งในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันอาชีวะศึกษาทั้งของรัฐบาลและเอกชนอยู่เป็นจำนวน ซึ่งสถาบันการศึกษาเหล่านั้นได้จัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาต่างๆที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศและความต้องการของผู้เรียน และถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับนักเรียนนักศึกษาได้มีทางเลือกในการเรียนมากขึ้น จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนนักศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกี่ยวกับการเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.82 และเพศชายร้อยละ 49.18 อายุระหว่าง 15 ถึง 18 ปีซึ่งมีความตั้งใจจะเข้าศึกษาต่อหลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าสามารถสรุปผลได้ดังนี้ สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาต่อหลังจากจบมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่านั้น หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าแล้ว กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.71 ตั้งใจจะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.23 ตั้งใจจะเข้าศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.06 ยังไม่แน่ใจ/ยังไม่ได้คิด

สำหรับสาขาวิชาที่ต้องการเข้าศึกษาต่อนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 18.24 ตั้งใจจะเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาทางด้านบริหารธุรกิจในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่ามากที่สุด รองลงมาตั้งใจจะเข้าศึกษาในสาขาวิชาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ และการท่องเที่ยว/ธุรกิจบริการ คิดเป็นร้อยละ 16.52 ร้อยละ 13.88 และร้อยละ 11.71 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.89 ตั้งใจจะเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาทางด้านการเงิน/การบัญชี ร้อยละ 7.71 ตั้งใจจะเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาทางด้านนิเทศศาสตร์ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.72 ตั้งใจจะเข้าศึกษาในสาขาวิชาทางด้านคอมพิวเตอร์/I.T. ร้อยละ 5.44 สาขาวิชาทางด้านแพทยศาสตร์ ร้อยละ 5.08 สาขาวิชาทางด้านครุศาสตร์ และร้อยละ 4.27 สาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 1.54 ตั้งใจจะศึกษาในสาขาวิชาด้านอื่นๆ

ส่วนปัจจัยสำคัญสูงสุด 5 อันดับที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกเข้าเรียนในระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าได้แก่ หลักสูตร/วิชาที่จัดการเรียนการสอนคิดเป็นร้อยละ 84.12 ความยากง่ายของหลักสูตร/วิชาเรียนคิดเป็นร้อยละ 82.03 ค่าใช้จ่ายในการเรียนคิดเป็นร้อยละ 79.4 คุณภาพ/มาตรฐานในการจัดการเรียนการสอนคิดเป็นร้อยละ 76.5 และกลุ่มเพื่อนๆจากสถาบันการศึกษาเดิมคิดเป็นร้อยละ 74.59

ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปิดหลักสูตรพิเศษในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.51 มีความคิดเห็นว่าการเปิดหลักสูตรภาคพิเศษต่างๆของสถาบันการศึกษาที่มีระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่านอกเหนือจากหลักสูตรปกติจะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าได้มากขึ้นจริง อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.09 มีความคิดเห็นว่าการเปิดหลักสูตรภาคพิเศษต่างๆของสถาบันการศึกษาที่มีระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่านอกเหนือจากหลักสูตรปกติจะไม่มีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของประเทศไทยได้จริง

ในด้านความคิดเห็นต่อการจบการศึกษาในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่านั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.78 มีความคิดเห็นว่าการจบการศึกษาในระดับสูงขึ้นกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้ตนเองหางานทำในอนาคตได้ง่ายขึ้น แต่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.45 มีความคิดเห็นว่าการจบการศึกษาในระดับสูงขึ้นกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าจะไม่มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้ตนเองต่อรองเงินเดือนในการสมัครงานได้มากขึ้น

นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 68.97 มีความคิดเห็นว่าหลังจากจบการศึกษาในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าแล้วตนเองจะไม่เลือกสมัครงานเฉพาะในตำแหน่งงานที่ตรงกับสาขาวิชาที่จบการศึกษามาเท่านั้น ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 20.78 ระบุว่าจะเลือกสมัครงานเฉพาะตำแหน่งงานที่ตรงกับสาขาวิชาที่ตนเองจบการศึกษามาเท่านั้น ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.25 ยังไม่แน่ใจ/ยังไม่ได้คิด

เมื่อเปรียบเทียบการให้ความสำคัญระหว่างวุฒิการศึกษากับความรู้ความสามารถ/ประสบการณ์การทำงานของหน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการต่างๆในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.53 มีความคิดเห็นว่าหน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการต่างๆยังให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษามากกว่า โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 10.89 มีความคิดเห็นว่าหน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความรู้ความสามารถ/ประสบการณ์การทำงานมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.58 ระบุว่าส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเท่าๆกัน ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.17 เห็นด้วยกับมุมมองของผู้ใหญ่ที่ว่าในปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่ามีพฤติกรรมชอบเปลี่ยนงานบ่อย และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.81 มีความคิดเห็นว่าในอนาคตตนเองจะเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นกว่าระดับชั้นที่มีความตั้งใจไว้ข้างต้นต่อไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.61 มีความคิดเห็นว่าจะไม่เข้าศึกษาต่อ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 32.58 ยังไม่แน่ใจ/ยังไม่ได้คิด ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4