รายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2560

ศุกร์ ๒๘ เมษายน ๒๐๑๗ ๑๑:๑๕
"เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวต่อเนื่อง นำโดย ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กทม.และปริมณฑล โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในหลายภูมิภาค รวมถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคเกษตรและการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี"

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ว่า "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวต่อเนื่อง นำโดย ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กทม.และปริมณฑล โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในหลายภูมิภาค รวมถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคเกษตรและการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 2.5 สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 9.5 และ 28.4 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตร และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่และเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรม โดยในเดือนมีนาคม ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 41.0 และ 58.8 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 15.8 และ 70.7 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี ตามการขยายตัวของทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน จากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 6.0 และ 3.6 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่และเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรม ในเดือนมีนาคม ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 6.9 และ 105.7 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 0.9 และ 40.4 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ในอัตราเร่ง ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน โดยขยายตัวที่ร้อยละ 13.1 และ 13.9 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 16.4 และ 18.0 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวของทั้งจำนวนและรายได้ของนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ สอดคล้องกับภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 0.8 เช่นเดียวกันกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนที่กลับมาขยายตัวเช่นกัน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 7.7 ต่อปี ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกร และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่และเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรม ในเดือนมีนาคมที่ขยายตัวร้อยละ 8.1 และ 21.8 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.7 และ 35.7 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านอุปทาน ภาคเกษตร ขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตสำคัญ อาทิ ข้าว และข้าวโพด เป็นต้น สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม ที่ส่งสัญญาณปรับตัวปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 89.7 ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัวร้อยละ 16.6 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 17.6 ต่อปี สำหรับการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัวร้อยละ 23.4 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 10.7 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาครัฐในภูมิภาคที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ที่ขยายตัวร้อยละ 11.4 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 11.2 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนที่ร้อยละ 7.9 และ 9.1 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 11.6 และ 14.9 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมีนาคมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 104.1 ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภค การลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยวเป็นหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย จากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 2.2 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน จากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัวร้อยละ 21.2 ต่อปี และ 1.0 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคในเดือนมีนาคมขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวภายในภูมิภาค สำหรับด้านอุปทานขยายตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนที่ร้อยละ 1.1 และ 2.3 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 และ 3.2 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจยังคงทรงตัว อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวยังเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 0.04 ส่วนด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนที่ร้อยละ 1.6 และ 7.5 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 และ 5.5 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม (เบื้องต้น) 2560 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจยังทรงตัว อย่างไรก็ดี การลงทุนและภาคการท่องเที่ยวยังเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนมีนาคม ขยายตัวร้อยละ 17.7 ต่อปี ตามการขยายตัวในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี เช่นเดียวกันกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคในเดือนมีนาคม ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 12.8 ต่อปี ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวภายในภูมิภาค ส่วนด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนที่ร้อยละ 9.3 และ 18.6 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 10.9 และ 23.4 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม (เบื้องต้น) 2560 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๘ เม.ย. Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๘ เม.ย. Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๘ เม.ย. โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๘ เม.ย. 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๘ เม.ย. TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๘ เม.ย. SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๘ เม.ย. โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๘ เม.ย. หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๘ เม.ย. คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital