ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ กฟก. กับแผนแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาเกษตรกรที่ดำเนินการควบคู่กัน

พุธ ๐๓ พฤษภาคม ๒๐๑๗ ๑๗:๒๑
ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ กฟก. กับแผนแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาเกษตรกรที่ดำเนินการควบคู่กัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยเฉพาะในส่วนของเกษตรกรที่มีความจำเป็นเร่งด่วนกับหนี้สินที่ถูกฟ้องร้องให้มีการบังคับคดี ยึดทรัพย์ขายทอดตลาด

โดยยึดหลัก "ความจำเป็น และเร่งด่วน" ตามนโยบายของรัฐบาล และแนวทางของ นาย"วัชระพันธุ์ จันทรขจร" เลขาธิการ กฟก.ที่ได้ดำเนินการมาแล้วก่อนหน้านี้

หนี้สินระยะสั้นของเกษตรกร มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมามีการฟ้องร้องบังคับคดีโดยเจ้าหนี้ หลายๆ กรณี มีการยึดทรัพย์และที่ดินทำกิน สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร จนจำเป็นต้องมีการเดินทางเข้ามาเรียกร้อง และขอความช่วยเหลือทั้งกับหน่วยงานรัฐ และ ธนาคารเจ้าหนี้ กฟก.ได้ดำเนินการตามแนวทาง "การเจรจากับเจ้าหนี้" รวมถึงการหามาตรการรองรับด้วยการ "ขอบรรเทาการบังคับคดีมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุด กับการเดินหน้า "ชำระหนี้" ให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน โดยยึดหลัก "ความจำเป็นและเร่งด่วน" เป็นกรณีๆ

นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่มีความเดือดร้อนเรื่องหนี้สิน ส่งผลให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ยึดทรัพย์ขายทอดตลาด ได้มีการชุมนุมเรียกร้องให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ และรัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กองทัพภาคที่ 1 ดำเนินการหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อน โดยมีการหารือร่วมระหว่างตัวแทนกลุ่มเกษตรกร และกองทัพภาคที่ 1 ได้ขอความร่วมมือให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้านจัดการหนี้ให้เกษตรกรสมาชิก เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อมูลหนี้ สถานะหนี้ของเกษตรกรในแต่ละจังหวัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในจังหวัดต่าง ๆ

สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการเป็นหนี้โดยแยกประเภทเป็น 2 ประเภท คือ หนี้เร่งด่วน ที่มีสถานะหนี้ตั้งแต่ดำเนินคดี จนถึงขายทอดตลาด และหนี้ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กฟก. ทั้งหมด เพื่อเป็นการเตรียมข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ และล่าสุดได้จัดทำข้อมูลหนี้เร่งด่วนเบื้องต้นในขณะนี้มีจำนวน 3,737 ราย 4,403 บัญชี มูลหนี้ 3,540,771,638.34 บาท ซึ่งข้อมูลดังกล่าวที่ได้นั้นสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ จะนำไปจัดทำแผนการจัดการหนี้เร่งด่วน เสนอคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรพิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อของบประมาณในการชำระหนี้แทนเกษตรกรในกรณีหนี้เร่งด่วนต่อไป"

นอกจากเรื่องของ "หนี้เร่งด่วน" ที่กฟก. ได้ดำเนินการแล้ว ในส่วนของหนี้ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกฟก.นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา กฟก.ได้เร่งดำเนินการเก็บข้อมูลรายละเอียด จากสมาชิกทั่วประเทศ เพื่อเข้าสู่ระบบการชำระหนี้ ซึ่งจะเป็นอีกส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิก กฟก.ให้ได้มีโอกาสชำระหนี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากเรื่องของ "หนี้" ในส่วนต่างๆ ที่เป็นภารกิจหลักของ กฟก.แล้ว เรื่องของการพัฒนาและฟื้นฟูฯ ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ กฟก.ดำเนินการควบคู่กับการบริหารจัดการหนี้มาโดยตลอด

"สมยศ ภิราญคำ" รักษาการเลขาธิการ กฟก. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "กฟก.ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ประจำปี 2560 โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นเงินจำนวน 84 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรเกษตรกร และการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยการสนับสนุนให้ดำเนินกิจกรรมด้านเกษตรกรรมร่วมกัน ตามแผนปฏิบัติงานของ กฟก. จะให้การสนับสนุนงบประมาณประเภทเงินอุดหนุนและเงินกู้ยืมกับองค์กรเกษตรกรทั้ง 77 สาขาจังหวัด เพื่อให้ครอบคลุมกับการพัฒนาและฟื้นฟูเกษตรกรในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ งบประมาณดังกล่าวได้ส่งตรงไปยังสำนักงานสาขาจังหวัดแล้ว 36,960,000 บาท แยกเป็น (1) ประเภทเงินอุดหนุน (ให้เปล่า) เป็นเงินที่กองทุนฟื้นฟูฯ อนุมัติให้เพื่อพัฒนาศักยภาพด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร โครงการละไม่เกิน 30,000 บาท จังหวัดละ 16 โครงการ รวมงบประมาณจังหวัดละ 480,000 บาท (2) ประเภทเงินกู้ยืม เป็นเงินที่สนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร โดยคิดค่าบริการเพียงร้อยละ 1 มีงบประมาณรวมทั่วประเทศ 38,500,000 บาท จังหวัดละ 500,000 บาท และยังมีงบสำรองคงเหลือ 8,540,000 บาท สำหรับจัดสรรเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษให้กับสำนักงานสาขาจังหวัดที่มีองค์กรเกษตรกรให้ความสนใจยื่นเสนอโครงการขอรับการสนับสนุนเป็นจำนวนมากเกินกว่างบที่ตั้งไว้ ก็สามารถขออนุมัติเพิ่มเติมเข้ามาได้

โดย กฟก.สาขาจังหวัดจะต้องประเมินระดับความเข้มแข็งองค์กรเกษตรกร เพื่อเป็นแนวทางสำหรับให้คำแนะนำในการเสนอโครงการของแต่ละองค์กรว่า เหมาะสมที่จะเสนอขอรับงบประมาณประเภทใด มีความพร้อมเพียงใดในการทำกิจกรรมร่วมกัน การเสนอโครงการขององค์กรเกษตรกรนั้นจะต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดก่อนทุกโครงการ

นอกจากนี้ กฟก.ยังติดตามการดำเนินการ และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสำรวจความต้องการและปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาประเมินสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเกษตรกรต่อไปในอนาคต" เลขาธิการ กฟก.กล่าว

แม้จะเรียกได้ว่าอยู่ใน "สุญญากาศ" แต่ภารกิจ ของ กฟก.ไม่ได้หยุดหรือชะลอลง แต่ยังคงเดินหน้าปฏิบัติตามนโยบายและแผนที่ได้ดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้

เพราะปัญหาและความเดือดร้อนของเกษตรกรเป็นเรื่องที่สำคัญและจะหยุดไม่ได้ กฟก.กับภารกิจในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาฟื้นฟูเกษตรกร จึงยังคงต้องเดินหน้าต่อไป เพื่ออนาคตและรอยยิ้มของเกษตรกรไทยทั่วประเทศ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๑ ALLY ผนึก Mural ลงทุนซื้อหุ้นสมาคมมวยปล้ำสเปน หวังผลักดันมวยปล้ำสเปนขึ้นแท่นลีกหลักในยุโรปและลาตินอเมริกา
๑๖:๓๙ โอกาสจองซื้อหุ้นกู้บริษัทชั้นนำ ช.การช่าง เสนอขายช่วงวันที่ 25 - 29 เมษายน 2567 ชูผลตอบแทน 3.40 - 4.10% ต่อปี อันดับความน่าเชื่อถือ A- ติดต่อผ่าน ธ.กรุงเทพ และ ธ.กรุงไทย
๑๖:๕๔ บางจากฯ สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาเยาวชนในทักษะแห่งอนาคต ผ่านโครงการ SI Sphere: Sustainable Intelligence-based Society Sphere โดย UN Global Compact Network
๑๕:๑๓ เปิดไลน์อัพ 10 ศิลปินหน้าใหม่มาแรงแห่งปีจาก Spotify RADAR Thailand 2024
๑๕:๐๘ อาร์เอส กรุ๊ป เดินหน้ากลยุทธ์ Star Commerce ยกทัพศิลปิน-ดารา เป็นเจ้าของแบรนด์ และดันยอดขายด้วย Affiliate Marketing ประเดิมส่งศิลปินตัวแม่ ใบเตย อาร์สยาม
๑๕:๒๐ กสิกรไทยผนึกกำลังเจพีมอร์แกน เปิดตัวโปรเจกต์คารินา ดึงศักยภาพบล็อกเชน ลดระยะเวลาธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ
๑๕:๐๖ สเก็ตเชอร์ส จัดกิจกรรม SKECHERS PICKLEBALL WORKSHOP ส่งเสริมสุขภาพและขยายคอมมูนิตี้กีฬา Pickleball ในไทย
๑๕:๕๖ SHIELD จับมือแอสเซนด์ มันนี่ และ Money20/20 Asia จัดกิจกรรมระดมเงินบริจาคแก่มูลนิธิรามาธิบดี
๑๕:๔๓ 'ASW' เตรียมโอนกรรมสิทธิ์ 4 คอนโดฯ ใหม่ ไตรมาส 2 ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และภูเก็ตมูลค่ารวมกว่า 6,600 ล้านบาท
๑๕:๔๑ โก โฮลเซลล์ สนับสนุนเกษตรกรไทย ปูพรมจำหน่ายผลไม้ฤดูกาล สดจากสวนส่งตรงถึงมือคุณ