“นครพนม” เปิดข้อมูล “เด็กยากจน” ผ่านระบบสารสนเทศการศึกษา DMC พร้อมจับมือทุกภาคส่วนช่วยเหลือเด็กและเยาวชนตอบโจทย์เขตเศรษฐกิจพิเศษ

พฤหัส ๒๕ พฤษภาคม ๒๐๑๗ ๑๐:๒๓
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษานั้นมีเป้าหมายสูงสุดคือการมีงานทำ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่การจัดการศึกษาจะต้องดำเนินไปโดยบูรณาการเชื่อมโยงกับบริบททางสังคมและมิติต่างๆ ของการพัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการสร้างให้เกิดการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอันจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมาย "ไทยแลนด์4.0"

จังหวัดนครพนม เป็น 1 ใน 10 จังหวัดนำร่องที่ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ (สสค.) นำระบบ ระบบสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการคัดกรองเด็กยากจนเป็นรายบุคคล (Data Management Center หรือ DMC) มาทดลองใช้เพื่อช่วยให้นักเรียนที่ยากจนและด้อยโอกาสได้รับการจัดสรรงบประมาณการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้จัดเวทีเปิดข้อมูล "ระบบสารสนเทศคัดกรองเด็กยากจนเพื่อการศึกษา" ภายใต้โครงการ "พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้" เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับกลับมาบูรณาการเป็นจุดเริ่มต้นในการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมดูแลติดตามช่วยเหลือสนับสนุนเด็กด้อยโอกาส และต่อยอดไปสู่จัดทำ "แผนพัฒนาการศึกษา" ของจังหวัดนครพนม เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษาให้สอดรับกับการเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการด้านวิจัยและนโยบาย สสค. กล่าวว่าการปฏิรูปการศึกษาเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนและสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคมนั้น จังหวัดจำเป็นต้องมีข้อมูลเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษาเป็นรายบุคคลเพื่อสนับสนุนการจัดทำ แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด (Provincial Education Plan) ที่สามารถวัดความสำเร็จได้ด้วยตัวชี้วัดเชิงประจักษ์ (Evidence-based Indicators) เช่น 1) ตัวชี้วัดด้านโอกาส ได้แก่ ร้อยละเด็กเยาวชนที่เข้าถึงระบบการศึกษา จำนวนนักเรียนยากจน อัตราการศึกษาต่อ จำนวนเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา 2) ตัวชี้วัดด้านคุณภาพ ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวนนักเรียนที่มีพัฒนาการเรียนล่าช้า จำนวนนักเรียน ติด 0 ร. มส. และ 3) ตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพ ได้แก่ อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณที่ตรงตามปฏิทินงบประมาณ ผลการติดตามการจัดสรรงบประมาณถึงตัวเด็ก

"ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีระบบสารสนเทศและข้อมูลดังกล่าวเป็นเครื่องมือหลักในการถ่ายทอดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือ แผนการศึกษาชาติ 20 ปี สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ที่สำคัญเครื่องมือที่ สพฐ. และ สสค. ได้วิจัยพัฒนาร่วมกันด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ทำงานจริงเช่นนี้จะช่วยสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนไทยได้อย่างยั่งยืนในพื้นที่อีกด้วย"

สำหรับ ระบบสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการคัดกรองเด็กยากจนเป็นรายบุคคล (Data Management Center หรือ DMC) เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สพฐ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สสค. เพื่อช่วยให้นักเรียนที่ยากจนและด้อยโอกาสได้รับการจัดสรรงบประมาณการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยพบว่ามีนักเรียนยากจน ภายใต้การดูแลของ สพฐ. 2.86 ล้านคน หรือร้อยละ 57 ในขณะที่มีงบประมาณเพียง 2,500 ล้านบาท ซึ่งช่วยนักเรียนยากจนได้เพียง 1.7 ล้านคน หรือราวร้อยละ 35 ของทั้งหมด จึงเป็นที่มาของการทดลองใช้ระบบคัดกรองนี้ใน 10 จังหวัดนำร่อง ครอบคลุมโรงเรียน 5,000 แห่ง ประกอบไปด้วยจังหวัดน่าน เชียงราย แม่ฮ่องสอน อุดรธานี นครพนม นครราชสีมา จันทบุรี กาญจนบุรี ตรัง และภูเก็ต และจะขยายผลให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไปในปีการศึกษา 2560

นายเพิ่มพูน พงษ์พวงเพชร ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครพนมเขต 1 ในฐานะรักษาการศึกษาธิการจังหวัดนครพนม กล่าวถึงระบบ DMC ว่าระบบการคัดกรองใหม่นี้จะมีเกณฑ์ที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม อาทิ ครอบครัวมีภาระพึ่งพิง สภาพที่อยู่อาศัย มีรถส่วนบุคคลหรือไม่ และมีที่ดินจำนวนเท่าใด และใช้แอปพลิเคชั่นบนมือถือหรือแท็บเล็ตเพื่อนำข้อมูลต่างๆ รวมไปถึงการปักหมุดตำแหน่งที่ตั้ง และรูปภาพสภาพบ้านเรือนของนักเรียนมาบันทึกเข้าสู่ระบบ

"สำหรับจังหวัดนครพนมได้ร่วมกับ สพฐ และ สสค. ดำเนินงานจัดเก็บข้อมูลระบบสารสนเทศคัดกรองเด็กยากจนเพื่อการศึกษามาตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 โดยพบว่ามีนักเรียนที่อยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคับ ชั้น ป.1-ม.3 ในจังหวัดนครพนมจำนวน 72,942 คน แต่เมื่อใช้ระบบสารสนเทศคัดกรอง DMC แบบใหม่ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ม.นเรศวร และ สสค.วิจัยพัฒนาขึ้นมา พบจำนวนเด็กยากจนลดลงมากกว่าครึ่ง จากระบบการคัดกรองแบบเดิม 52,049 คนเป็น 24,188 คน ซึ่งในฐานะ กศจ. พบว่าข้อมูลเด็กยากจนนี้มีประโยชน์สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครพนมจะนำข้อมูลไปใช้วางแผนในการช่วยเหลือนักเรียนที่ยากจนจริงได้เต็มที่มากขึ้น รวมถึงมีมาตรการส่งเสริมเด็กกลุ่มนี้ให้มีอาชีพสามารถเลี้ยงตนเองและศึกษาต่อได้"

นอกจากนี้จากการทำงานลงลึกในระดับรายบุคคล ยังทำให้เกิดการระดมพลังความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและยากจนกลุ่มนี้ผ่านความร่วมมือผ่านทีม "สหวิชาชีพ" อาทิ กรณีของ น้องลูกหิน นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบ้านนาราชควาย อำเภอเมืองนครพนม ซึ่งบกพร่องทางการเรียนรู้เนื่องจากภาวะสมาธิสั้น ที่ทางคณะครูและโรงเรียนได้ลงพื้นที่เข้าไปดูแลช่วยเหลืออย่างเข้าถึงและเข้าใจ ทั้งในด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมภายในชั้นเรียน การส่งต่อและติดตามการรับยาเพื่อรักษาอาการสมาธิสั้น จนนำไปสู่พัฒนาการทั้งทางกายและทางจิตใจที่ดีขึ้น

และในกรณีของ ด.ช.อัมรินทร์ พรหมวงค์ หรือ น้องอัม และ ด.ช.ติณณภพ ไชยมาตร หรือ น้องภพ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนดอนแดงเจริญทอง อำเภอเมืองนครพนม ที่ข้อมูลที่รับได้จากระบบสารสนเทศ แสดงผลให้โรงเรียนทราบว่าเด็กมีแนวโน้มที่จะไม่ได้ศึกษาต่อหลังจากจบมัธยมศึกษาตอนต้น เนื่องจากทางบ้านมีฐานะยากจน ทางโรงเรียนจึงได้เข้าไปช่วยสนับสนุนในเรื่องของฝึกทักษะอาชีพให้แก่เด็ก โดยร่วมกับภาคเอกชนและผู้ประกอบการในชุมชนที่เปิดร้านซ่อมรถจักรยานยนตร์ ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้ติดตัวเพื่อเป็นอาชีพในอนาคตได้แล้ว ยังมีรายได้กลับไปช่วยเหลือครอบครัวอีกด้วย

"จะเห็นว่าสิ่งที่แตกต่างไปก่อนหน้านี้ เดิมเราคัดออกมาเด็กนครพนมร้อยละ 70% ยากจน แต่เงินไม่พอ ต้องแบ่งๆ กันไปในกลุ่มโรงเรียน ต่อไปนี้เมื่อรู้แล้วว่า 1 ใน 3 ยากจน 24,000 คน เงินสนับสนุนก็จะพอที่จะให้ได้เป็นรายบุคคล ก็จะสามารถที่จะไปแบ่งเบาภาระของครอบครัว ตัว application นี้ไม่ใช่ว่าจะกรองข้อมูลแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต่อไปเด็กมาเรียนไหม ขาดเรียนบ่อยแค่ไหน สภาวะความปลอดภัย มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือไม่โทรศัพท์มือถือก็จะสั่นและเตือนครูครับว่า เด็กที่อยู่ในความดูแลของโรงเรียนที่เป็นเด็กยากจนและได้รับเงินอุดหนุน ขาดโรงเรียนบ่อยแค่ไหน จะไม่มีสิทธิ์สอบแล้วหรือยัง เพราะฉะนั้นคุณครูก็จะสามารถที่จะดูแลได้ และในที่สุดตามที่โครงการของเราก็คือสร้างหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ให้กับเด็กเหล่านี้ได้ในที่สุด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงแต่หน่วยงานด้านการศึกษาเท่านั้นที่สามารถนำไปใช้ แต่สามารถเรียนรู้และบูรณาการร่วมได้ในที่สุด" ดร.ไกรยส ภัทราวาท ระบุ

นายไพฑูรย์ รักษ์ประเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวนครพนมเป็นหนึ่งใน 10 จังหวัด ที่รัฐบาลประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งการศึกษาจะต้องเข้าไปเชื่อมโยงกับบริบทต่างๆ ของการพัฒนาจังหวัดนครพนมให้เป็นประตูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งระบบการคัดกรองที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นพื้นฐานที่มีความสำคัญที่สุด เพราะถ้าหากเราได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ก็จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการแก้ไขได้อย่างถูกต้องและแก้ไขได้ตรงจุด

"วันนี้นครพนมเป็นเมืองที่อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประตูการค้าและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความสำคัญ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ แน่นอนว่าการเปลี่ยนผ่านของคนในจังหวัดนครพนมก็จะต้องปรับตัวและมีการพัฒนาคนในทุก ๆ เรื่องที่มีความสำคัญ ซึ่งถือว่าเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะต้องดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องของการศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งมิติที่จะช่วยในเรื่องของการเปลี่ยนผ่าน ทั้งเด็กนักเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดการศึกษาในสายสามัญและวิชาชีพ และการพัฒนาต่อยอดสร้างนวัตกรรมขึ้นในจังหวัดโดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งเราจะต้องพัฒนาคนทั้ง 3 กลุ่มของเรา เหล่านี้ให้มีคุณภาพและศักยภาพ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนในกลุ่มที่ยากจน ที่เป็นปัญหาในวงการศึกษา ซึ่งวันนี้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังซึ่งหมายถึงทุกภาคส่วนในจังหวัดจะต้องทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน โดยไม่ปล่อยให้ภาคการศึกษาทำงานเพียงลำพังเพื่อร่วมกันพัฒนากำลังคนของเราให้พร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนับจากนี้"

ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากระบบสารสนเทศของจังหวัดนครพนมนั้น ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนในพื้นที่ตามที่ได้รับมอบนโยบายจาก พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้แต่ละจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเชื่อมโยงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และการคมนาคม เข้ากับการศึกษา

"ต้องมีการพัฒนาคนทุกช่วงวัย ทำอย่างไรให้เด็กที่จบสายอาชีพแล้วสามารถประกอบอาชีพในจังหวัด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้คนในพื้นที่ให้มีความรู้สามารถประกอบอาชีพให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยนับจากนี้ กศจ.และทาง อบจ. จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ที่ต้องจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ มิใช่จัดการศึกษาตามความพร้อมของผู้สอน เพื่อให้ก้าวไปสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0" พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีกล่าวสรุป.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?