“บ้านโคกแย้ม” สวนกระแสการผลิตเปลี่ยนชีวิตสู่ “เกษตรอินทรีย์” ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน สานฝัน “ชุมชนสุขภาวะ” ปลอดภัยจากสารเคมี

พฤหัส ๑๕ มิถุนายน ๒๐๑๗ ๑๑:๑๔
วิถีเกษตรดั้งเดิมของไทยที่เคยอาศัยความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติสิ้นสุดลง เมื่ออุตสาหกรรมการผลิตมุ่งแสวงผลกำไรในเชิงปริมาณเป็นหลัก เกษตรกรยุคใหม่เคยชินกับการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงจำนวนมากเพื่อเพิ่มผลผลิต การลุกขึ้นมาทวนกระแสย้อนกลับไปสู่พื้นฐานการเพาะปลูกและเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมกลายเป็นเรื่องยาก และอาจจะต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจากสังคมรอบข้างจนต้องยอมแพ้และปล่อยให้องค์ความรู้ดั้งเดิมนั้นเลือนหายไป

แต่ก็ยังมีเกษตรกรอีกหลายคนที่ไม่ย้อมแพ้ต่อวิถีการผลิตสมัยใหม่ โดยหนึ่งในจำนวนชาวนาที่ทวนกระแสหันกลับไปทำนาแบบพึ่งตนเองโดยไม่ใช้สารเคมีก็ต้องนับ ไพเราะ เกตุชู ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่หาญกล้าพร้อมพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำนาแบบอินทรีย์นั้นเกษตรกรสามารถอยู่รอดได้ในยุคที่การโฆษณายาปราบศัตรูพืชและโฆษณาสารพัดปุ๋ยเคมีรุกล้ำเข้าไปบนผืนนาและพื้นที่ทำการเกษตรทุกตารางนิ้วของประเทศไทย

ที่นากว่า 900 ไร่ ของเกษตรกรหมู่ที่ 2 บ้านโคกแย้ม ต.นาท่อม อ.เมือง จ.พัทลุง กลายเป็นแปลงนาอินทรีย์อย่างสมบูรณ์แบบมากว่า 5 ปีแล้ว และจัดตั้งเป็น "ศูนย์เรียนรู้นาอินทรีย์ที่บ้านโคกแย้ม" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีผู้คนจากทั่วสารทิศมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่เป็นระยะๆ

ไพเราะ เกตุชู เล่าให้ฟังว่าแต่เดิมแปลงนาของบ้านโคกแย้มทั้งหมดใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเป็นหลักทำให้ต้นทุนในการผลิตต่อไร่สูงถึง 2,500 บาทต่อไร่ และเกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งต่อชาวนาและอาจมีสารตกค้างเมื่อนำข้าวไปบริโภค ขณะเดียวกันดินที่เคยร่วนซุยก็เสียหายกลายเป็นดินแข็งเพาะปลูกยาก และน้ำที่อยู่บริเวณนั้นก็มีสารปนเปื้อนเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำด้วย ชุมชนจึงพูดคุยหาทางออกและมีมติร่วมกันในการลด ละ เลิก การใช้สารเคมีทางการเกษตร หันมาทำการเกษตรแบบอินทรีย์ โดยใช้สื่อผ่านบุคคลสามวัย ได้แก่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีภูมิปัญญาในการทำเกษตรแบบดั้งเดิม กลุ่มวัยทำงานที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ และกลุ่มเยาวชนซึ่งลงสำรวจข้อมูลชุมชน นำภูมิปัญญาจากการทำนาและเรียนรู้การทำเกษตรแบบอินทรีย์ มาช่วยกันขับเคลื่อนเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชน

"แรกๆ ก็ไม่มีใครเชื่อ มีคนถามว่าทำแบบนั้นจะได้กินเหรอ ไม่เห็นผลหรอก แต่ที่เห็นชัดก็คือต้นทุนลดลงจากเดิม 2500 บาทต่อไร่ก็ลดลงเหลือ 700-800 บาทต่อไร่ เพราะชาวนาหมักปุ๋ยเอง หน่วยงานราชการเข้ามาช่วย ทั้งพัฒนาที่ดิน ศูนย์วิจัยข้าวก็สนับสนุนเรื่องพันธุ์ข้าว มีคนมาดูงานแลกเปลี่ยนความรู้กันตอนแรกรวมกลุ่มกันได้ 60 คนตอนนี้ก็กลุ่มใหญ่ขึ้นเป็น 100 กว่าคน"

ปัจจุบันผืนนาทั้งหมดของบ้านโคกแย้มกลายเป็นนาอินทรีย์ทั้งหมด มีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง พันธุ์ข้าวที่ใช้เป็น "พันธุ์เล็บนก" ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ได้รับความนิยม ข้าวที่ผลิตได้จะนำไปสีและบรรจุถุงขายเอง ซึ่งทำให้สามารถขายข้าวได้ราคาดีกว่าขายให้แก่โรงสี ล่าสุด ไพเราะ ยังหันไปทดลองปลูก "ข้าวไรซ์เบอร์รี่" ในนาอินทรีย์ สำหรับจำหน่ายให้แก่กลุ่มผู้รักสุขภาพ ซึ่งถึงแม้จะมีราคาที่สูงกว่าข้าวอินทรีย์อยู่บ้าง แต่ก็ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคอย่างน่าพอใจ

ขณะที่ ถาวร คงนิล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ต.นาท่อม เจ้าของนาข้าวอินทรีย์ในละแวกเดียวกัน ในฐานะผู้นำชุมชนซึ่งต้องลงมือทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง ยืนยันว่า แรกๆ ก็ยังมีการใช้ปุ๋ยเคมีอยู่บ้าง แต่ต่อมาก็ลดลงและเลิกใช้ในที่สุด ส่วนยาฆ่าแมลงถ้าจำเป็น ก็จะใช้สารสกัดจากธรรมชาติทดแทน อย่างศัตรูข้าว เช่น หอยเชอรี่ ก็อาจมีบ้างแต่ก็ถูกนกปากห่างที่มีอยู่มากในพื้นที่มาช่วยกำจัด เช่นเดียวกับหนูก็ไม่ค่อยปรากฏเพราะในท้องนามีงูที่ช่วยสร้างความสมดุลตามธรรมชาติ

"เมื่อก่อนเวลาทำนาก็อยากเห็นผลผลิตไวๆ อยากได้มากๆ โดยไม่คำนึงถึงสุขภาพ ระยะหลังมานี้ไม่มีแล้ว ผมเป็นผู้ใหญ่บ้านก็ต้องลองก่อน ทำแล้วก็เห็นผลเลยนะว่าผลผลิตก็อยู่ที่ 800 กิโลกรัมต่อไร่ ปีหนึ่งทำสองครั้งก็น่าพอใจ เพราะต้นทุนลดลงได้เยอะ" แกนนำคนสำคัญของหมู่บ้านกล่าว

ด้าน อนุชา เฉลาชัย กำนันตำบลนาท่อม ซึ่งมีบทบาทในเรื่องการส่งเสริมและการรณรงค์ให้ทั้งตำบลหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกใช้สารเคมี เห็นว่าต้องทำกิจกรรมร่วมกับหมู่บ้านอื่นๆ เพื่อขยายเครือข่ายให้กว้างขึ้น และช่วยเสริมด้านการตลาดสำหรับจำหน่ายสินค้าของกลุ่มเกษตรกรนาข้าวอินทรีย์ให้มีการขยายฐานลูกค้าออกไปให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

"จริงๆ แล้วเน้นทำเพื่อบริโภคก่อน เหลือกินแล้วค่อยเอาไปจำหน่าย ที่หมู่สองมีพื้นที่ทำนาข้าวได้ทำนาอินทรีย์ได้ผลดี ชุมชนและผู้นำชุมชนเข้มแข็ง หมู่อื่นไม่มีพื้นที่มีทำนา ก็ทำอย่างอื่นได้เช่นสวนผัก แต่ต้องตระหนักในเรื่องสุขภาพ ต้องลดการใช้สารเคมีทุกด้าน ก็จะช่วยกันทำให้ตำบลของเรากลายเป็นชุมชนเกษตรอินทรีย์ที่เข้มแข็ง"

การปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจากเกษตรเคมีที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มาสู่เกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติ นอกจากจะเกิดผลดีต่อสุขภาพของผู้ผลิตและสมาชิกในชุมชนแล้ว ผลผลิตที่ได้ยังได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากผู้บริโภคว่าสินค้าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัย ซึ่งนอกจากจะทำให้ภูมิปัญญาในการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไม่สูญหาย วิถีเกษตรกรรมธรรมชาติของชุมชนแห่งนี้ยังจะช่วยสร้างเสริมให้เกิดสุขภาวะอย่างยั่งยืนขึ้นในทุกมิติอีกด้วย.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๔๔ กรรมการ กคช. ลงพื้นที่ชุมชนดินแดง ย้ำ ! ตรวจสอบอาคาร D1 ให้ละเอียด เพื่อสร้างความมั่นใจให้พี่น้องดินแดง
๑๑:๑๑ สาขาการผลิตอีเว้นท์ฯ ม.กรุงเทพ พร้อมผลักดันวงการ T-POP ใน CHECKMATE T-POP DANCE BATTLE
๑๐:๑๓ ฟอร์ติเน็ตผนึกมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมเป็นศูนย์กลางภาคเหนือ สร้างกำลังพลมืออาชีพด้านไซเบอร์เต็มรูปแบบ
๑๐:๕๘ เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9 ชวนสัมผัสฟาร์มกลางท้องทุ่ง และเรียนรู้อนุรักษ์ควายไทย ในงาน INTO THE FARM มนต์รัก
๑๐:๓๐ วว. แนะวัสดุปลูกต้นอ่อนทานตะวันจากก้อนเห็ดเก่าใช้แล้ว
๑๐:๒๑ MICRO จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น (E-AGM) ประจำปี 2567 ชูกระแสเงินสดแกร่ง - เตรียมชำระคืนหุ้นกู้ 321 ลบ. เม.ย.
๐๙:๔๓ ยางคอนติเนนทอล ฉลองครบรอบความสำเร็จ 15 ปี ในประเทศไทย และการก่อตั้งโรงงานยางคอนติเนนทอลแห่งแรกในประเทศไทยกว่า 5
๐๙:๕๖ เนสท์เล่ ประเทศไทย เร่งเครื่องกลยุทธ์ ขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อผู้บริโภค นำเสนอผลิตภัณฑ์ ที่อร่อยและมีคุณค่าโภชนาการ
๐๙:๑๑ วอลโว่ คาร์ ประเทศไทย เปิดศูนย์บริการซ่อมตัวถั และสีมาตรฐานครบวงจรแห่งใหม่ ณ โชว์รูมและศูนย์บริการวอลโว่ พระนคร
๐๙:๔๔ HONNE (ฮอนน์) วงดูโอ้สุดแนวจากอังกฤษ ปล่อยเพลงใหม่ Imaginary ต้อนรับศักราชใหม่ เรื่องราวความรักโรแมนติกที่อิงจากชีวิตจริง