นักศึกษาโบราณคดี ม.ศิลปากร ขุดเจอกลุ่มโบราณสถานแห่งใหม่เมืองอู่ทองแถวเนินพลับพลา

พฤหัส ๑๕ มิถุนายน ๒๐๑๗ ๑๕:๓๘
นักศึกษาโบราณคดี ม.ศิลปากร ขุดเจอกลุ่มโบราณสถานแห่งใหม่เมืองอู่ทองแถวเนินพลับพลาสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวิหารหรือมณฑปซึ่งมีหลังคาคลุม พบลูกปัดโบราณและภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ สมัยทวารวดี

อพท.7 เร่งขยายผลการขุดค้นบริเวณเนินพลับพลาและบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภออู่ทองตามที่ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้พานักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1,2,3 และนักศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน 2 คน พร้อมทั้งคณะอาจารย์ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งสิ้น 100 คน (นักศึกษา 90 คน และ อาจารย์ 10 คน) มาขุดสำรวจทางโบราณคดีที่เมืองโบราณอู่ทองจำนวน 15 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดการขุดค้นภายในวันที่ 19 มิถุนายนนี้

ผศ.ดร.สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง ผู้ประสานงานโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาเมืองโบราณอู่ทอง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า เรื่องของการขุดค้นทางโบราณคดีถือเป็นหัวใจของการเรียนการสอนของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่แล้ว เพราะทุกปีนักศึกษาจำเป็นจะต้องลงสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งการขุดสำรวจของนักศึกษาในพื้นที่เมืองโบราณอู่ทองได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2556 ต่อเนื่องมาปี 2557 โดยพัฒนาต่อยอดมาเป็นโครงการวิจัย และในปี 2558 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ผ่านทางสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (อพท.7) ได้มีแผนงานในการสนับสนุนคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรในการสนับสนุนให้เกิดผลงานวิชาการทางโบราณคดีในเมืองโบราณอู่ทอง โดยคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ อพท.ในการพัฒนางานสืบค้นทางโบราณคดี จึงมีการผนวกโครงการที่คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ซึ่งต้องดำเนินโครงการให้นักศึกษาลงพื้นที่สืบค้นและขุดสำรวจทางโบราณคดีมาผนวกกับโครงการขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองโบราณอู่ทอง ส่งผลดีต่อการพัฒนาและขุดค้นทางโบราณคดีในสมัยทวารวดีที่เมืองโบราณอู่ทองเป็นอย่างมาก

ผศ.ดร.สฤษดิ์พงศ์ เล่าถึง การขุดเจอโบราณสถานแห่งใหม่แถวเนินพลับพลา ต.อู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรีนี้ว่า บริเวณแห่งนี้เป็นป่า โดยในปี 2558 มีการถางป่าทั้งหมดเพื่อปรับภูมิทัศน์การพัฒนาเมืองโบราณอู่ทองเป็นสวนพฤกษศาสตร์ เดิมทีเมื่อปีที่แล้วช่วงเดือนมิถุนายน-เดือนกรกฎาคม 2558 บริเวณตรงนี้ ทางคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เคยพานักศึกษามาขุดสำรวจแล้ว แต่ในขณะนั้นขุดเพียงขนาด 2x8 เมตร เจอแนวโบราณสถาน 3 แนว โดยปากหลุมมีขนาดเล็กจึงไม่ได้คิดว่าจะเจอกลุ่มอาคารอะไร เพราะยังขุดสำรวจไม่เสร็จ โดยในปีนี้จึงวางแผนผังในการขุดสำรวจใหม่ตรงบริเวณเดิม เพื่อขุดค้นเพิ่มขยายพื้นที่ออกไปทางด้านทิศใต้ พบแนวของอาคารหลังหลักที่น่าจะอยู่ในรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส แต่ข้างในเป็นหินอัด พบชิ้นส่วนกระเบื้องมุมหลังคา ทำให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่า ไม่น่าจะใช่เจดีย์โบราณ หากแต่น่าจะเป็นวิหารหรือมณฑปซึ่งมีอาคารหลังคาคลุม อีกทั้งยังเจอเศษภาชนะดินเผา พบภาชนะใบใหญ่มากจำนวน 1 ชิ้นแต่ไม่พบว่ามีกระดูกมนุษย์หรือข้าวของเครื่องใช้ฝังอยู่ภายในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ พบลูกปัดโบราณทวารวดี แต่เนื่องจากไม่ค่อยเจอซากเศษขยะโบราณหรือภาชนะโบราณ จึงสันนิษฐานขั้นต้นได้ว่า เป็นจุดที่มีโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะแตกต่างจากจุดอื่นๆ ที่เคยเป็นบ้านเรือนประชาชน ก็จะเจอเศษซากภาชนะโบราณฝังอยู่ในจำนวนที่มากกว่าบริเวณแห่งนี้ การขุดสำรวจทางโบราณคดีบริเวณเนินพลับพลาในครั้งนี้ จึงส่งผลดีต่อการพัฒนาเมืองโบราณอู่ทอง เพราะก่อนที่จะพัฒนาทำโครงการใดๆ ก็ควรตรวจสอบทางโบราณคดีก่อนว่าบริเวณแห่งนี้ ได้พบเจอกลุ่มโบราณสถานอะไรบ้าง หากต้องมีการดำเนินโครงการใด ๆ จะได้มีข้อพิจารณาว่าควรออกแบบหรือปรับผังทางเดินหรือรูปทรงของอาคารอะไรอย่างไรเพื่อเลี่ยงไม่ให้โดนโบราณสถาน จะได้คงโบราณสถานไว้เช่นเดิมได้ เนื่องจากกลุ่มโบราณสถานสมัยทวารวดีในเมืองโบราณอู่ทองจะอยู่ใต้ดิน ซึ่งการขุดสำรวจทางโบราณคดีนี้ ก่อให้เกิดความท้าทายของนักศึกษาโบราณคดีเป็นอย่างมาก เพราะการขุดสำรวจครั้งนี้ไม่ได้อยู่ในแนวที่กรมศิลปากรได้เคยลงทะเบียนไว้และไม่ได้อยู่ในแนวจุดโบราณสถานที่ศาสตราจารย์ฌ็อง บัวสลีเยร์ (M.Jean Boisselier) ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ชาวฝรั่งเศสได้เคยลงพื้นที่สำรวจขุดแต่งโบราณสถานในเมืองโบราณอู่ทองไว้ระหว่างปี 2507-2509 ดังนั้น จุดโบราณสถานบริเวณเนินพลับพลาแห่งนี้จึงยังไม่มีตัวเลขหรือเคยลงพิกัดของกรมศิลปากรไว้ เฉกเช่นโบราณสถานแห่งอื่น ซึ่งต้องขอขอบคุณ อพท.ที่ให้การสนับสนุนการขุดสำรวจทางโบราณคดีของนักศึกษา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรในครั้งนี้ ทำให้เกิดการต่อยอดการขุดสำรวจที่ค้างมาจากงานสำรวจครั้งก่อน

โดยที่ผ่านมาในการขุดสำรวจครั้งนี้ คณะอาจารย์จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรได้แบ่งงานสำรวจของนักศึกษาคณะโบราณคดีดังนี้ นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 จะดำเนินการสำรวจโดยใช้แผนที่และให้เดินสำรวจพูดคุยกับชาวบ้านและสำรวจเบื้องต้นตามหมู่บ้านโดยรอบในอำเภออู่ทองทั้งอำเภอ, นักศึกษา ป.ตรี ชั้นปีที่ 2 จะเรียนเกี่ยวกับการขุดค้นโดยใช้เครื่องมือจำนวนมาก เช่น จอบ เสียม เกียง รวมถึงเครื่องมือขนาดเล็กเพื่อใช้ในการขุดสำรวจเศษกระดูกหรือโบราณวัตถุที่เปราะบาง เช่น ลูกปัดแก้ว, นักศึกษา ป.ตรี ชั้นปีที่ 3 จะเรียนเกี่ยวกับการวิเคราะห์โบราณสถานและโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบ เช่น อิฐอันนี้เป็นแนวอิฐน่าจะเป็นกลุ่มอาคารหรือโบราณสถานประเภทไหน มีการขุดค้นพบอิฐแบบนี้ในที่ไหนมาแล้ว อายุของโบราณสถาน/โบราณวัตถุนี้น่าจะประมาณเท่าไหร่ โดยทุกวันเมื่อเสร็จสิ้นการขุดในแต่ละวัน นักศึกษาในแต่ละกลุ่มจะต้องส่งตัวแทนมานำเสนอข้อมูลให้คณะอาจารย์และเพื่อนๆ นักศึกษาด้วยกันเองรับทราบข้อมูลร่วมกันอย่างทั่วถึงตรงบริเวณที่มีการขุดค้น

นายสมจินต์ ชาญกระบี่ รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (อพท.7) กล่าวว่า แม้การขุดสำรวจทางโบราณคดีของนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ แต่บริเวณเมืองโบราณอู่ทองของเรายังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่อยู่ในพื้นดินจำนวนมาก ซึ่งแล้วแต่ว่าจะมีพื้นที่ไหนมากหรือน้อย ซึ่งพื้นที่ตรงที่ขุดค้นครั้งนี้ เรียกว่า เนินพลับพลา มีรายงานและบันทึกต่างๆ ทางวิชาการมากมายว่า ภายในบริเวณแห่งนี้มีกลุ่มโบราณสถานจำนวนมากมาย ดังนั้น ปี 2560 นี้ จะมีการขุดค้นอย่างต่อเนื่องให้ทั่วถึง เนื่องจากบริเวณแห่งนี้เป็นฝั่งตรงข้ามกับบริเวณที่จะมีการก่อสร้างศูนย์ราชการระดับอำเภออู่ทองแห่งใหม่ จึงต้องมีการหารือทำข้อตกลงกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้วว่า จะดำเนินการสำรวจสืบค้นทางโบราณคดีต่อไป โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานที่ อพท.ได้เคยดำเนินโครงการร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 3 ปทุมธานีในการดำเนินการสำรวจธรณีสันฐานเมืองโบราณอู่ทองไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง อพท.จะได้ดำเนินการจัดทำโครงการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีอย่างต่อเนื่องโดยมีบริเวณที่สนใจทั้งบริเวณเนินพลับพลา และบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภออู่ทองซึ่งมีแผนจะดำเนินการก่อสร้างลานคีตศิลป์เมืองโบราณอู่ทอง จึงควรขุดค้นทางโบราณคดีก่อน เพื่อให้รู้แน่ชัดว่าก่อจะสร้างอะไร มีโบราณสถานหรือโบราณวัตถุใดฝังอยู่ใต้ดินหรือไม่ และมีอะไรบ้าง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?