สสส. เปิดเวทีถอดบทเรียน 99 ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะปี 2 สร้างนวัตกรรมทางสังคม เป็นชุมชนจักรยานที่ยั่งยืน

ศุกร์ ๒๓ มิถุนายน ๒๐๑๗ ๑๑:๓๑
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ได้ดำเนินโครงการ "ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ปี 2" มาถึงโค้งสุดท้ายที่เป็นไฮไลต์สำคัญ คือเวทีรายงานผลและถอดบทเรียน ซึ่งได้มีการชวน 99 ชุมชนจักรยานที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ มาแบ่งปันประสบการณ์การทำงาน และค้นหาบทเรียนแห่งความสำเร็จในการก้าวสู่การเป็นชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะพร้อมทั้งเตรียมยกระดับเป็นชุมชนจักรยานตัวอย่าง ที่มีบทบาทเป็นชุมชนที่สามารถให้แนวคิด แนะกระบวนการทำงานให้เกิดการต่อยอดขยายผลสู่ชุมชนใกล้เคียงอย่างต่อเนื่องได้ โดยการถอดบทเรียนได้จัดขึ้น 4 ครั้งในแต่ละภูมิภาคคือครั้งที่ 1 ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จัดขึ้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา, ครั้งที่ 2 ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะภาคเหนือ มาร่วมถอดบทเรียนที่เชียงใหม่, ครั้งที่ 3 ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาร่วมถอดบทเรียนที่ จ.ขอนแก่น และครั้งที่ 4 ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะจากภาคใต้ มาร่วมถอดบทเรียนที่ จ.สงขลา

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า "สสส. ได้ร่วมมือกับสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ทำโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ เพื่อเข้าไปพัฒนาชุมชนจักรยานต้นแบบ เรามุ่งหวังให้คนในชุมชนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหันมาใช้จักรยานให้มากขึ้น โครงการฯ นี้ถือเป็นการสร้างโอกาสในการส่งเสริมสุขภาพให้เกิดขึ้นในชุมชน เพราะจักรยานเป็นยานพาหนะที่คนเข้าถึงง่ายที่สุด เดินทางอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยให้คนในชุมชนสุขภาพดี ถือเป็นนวัตกรรมทางสังคม ซึ่งเราไม่เพียงแต่ส่งเสริมกระตุ้น แต่ยังต้องขยายผลออกไป เพราะการสร้างต้นแบบให้เกิดขึ้นก็ว่ายากลำบากแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่อาจจะยากมากกว่าคือการขยายต้นแบบเหล่านี้ออกสู่วงกว้าง เรามีชุมชนเป็นแสนชุมชนในประเทศ ในบางชุมชนที่สำเร็จแล้ว ทำอย่างไรจะทำให้เกิดขึ้นในชุมชนอื่นๆ เป็นทวีคูณต่อไป เราต้องทำทั้งการสื่อสารออกไปให้เกิดการรับรู้ หรือการสร้างชุมชนต้นแบบทำเป็นศูนย์เรียนรู้ให้ชุมชนข้างเคียงเข้ามาศึกษาเรียนรู้แล้วนำไปต่อยอดให้เกิดชุมชนจักรยานต่อไปแบบไม่สิ้นสุด"

บทเรียนความสำเร็จของชุมชนจักรยาน เกิดจากการสร้างการรับรู้และเปลี่ยนวิธีคิดที่มีต่อการใช้จักรยาน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน และสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคมรูปแบบใหม่ของชุมชนขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้อย่างรวดเร็ว และกลายเป็นต้นแบบทำให้ชุมชนข้าง

เคียงเข้ามาศึกษาเรียนรู้ แล้วนำไปต่อยอดให้เกิดชุมชนจักรยานตนเอง ซึ่งจากการทำงานในปีที่ 2 นี้ มีชุมชนต้นแบบที่น่าสนใจ 4 แห่งด้วยกัน ประกอบไปด้วย

1) ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะบ้านบุ่งเข้ ต.หนองแสง อ.ปากพลี จ.นครนายก

ปั่นแล้วเท่ ! ชูวัฒนธรรมชุมชนไทพวน ปั่นวันเดียวเที่ยว 9 วัด

คุณรุ่งรัตน์ ทวีวงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลบ้านบุ่งเข้ ได้เล่าถึงเส้นทางจักรยานท่องเที่ยวว่า "บ้านบุ่งเข้ เป็นชุมชนชาวไทพวน เดิมปั่นจักรยานกันอยู่แล้ว แต่เริ่มหายไปจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพื้นที่เราเหมาะกับการใช้จักรยาน มีถนนวงกลมเชื่อม 4 หมู่บ้าน ทำให้ชุมชนของเราเป็นชุมชนจักรยานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตได้ ในพื้นที่มีวัด 9 เราเริ่มโครงการปั่นจักรยานท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เส้นทางรอบชุมชนประมาณ 6 กิโลเมตร มีทั้งศูนย์โอท็อป มีศูนย์วัฒนธรรมไทพวน วัดเก่าแก่ 9 วัด หลังจากเริ่มโครงการ เราพบว่าจักรยานที่เคยจอดทิ้งไว้ถูกเอาออกมาใช้มากขึ้นถึง 25 %เปลี่ยนความคิดเดิมที่ว่าคนจนเท่านั้นที่จะขี่จักรยานให้หมดไปเลย กลายเป็นค่านิยมใหม่ ปั่นจักรยานในชุมชนเป็นเรื่องเก๋ๆ เป็นเรื่องที่ดี"

2) ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะตำบลตาขัน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง

"รวมพลังร้านค้า" ปั่นจักรยานมาซื้อของได้ส่วนลดพิเศษ

คุณศิริรัศมิ์จำรูญ บุญครอง หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสุขภาพและสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนตำบลตาขัน จ.ระยอง เป็นแกนนำขับเคลื่อน โดยได้ใช้เศรษฐกิจชุมชนเป็นฐานสร้างกระแสจักรยาน "รวมพลังร้านค้า" ปั่นจักรยานมาซื้อของได้ส่วนลดพิเศษ พร้อมเชิญชวนผู้ค้าขายในชุมชนให้เข้ามาร่วมโครงการ "รวมพลังร้านค้า" มอบส่วนลดพิเศษให้กับลูกค้าที่ปั่นจักรยานมาซื้อของ ถือเป็นการสร้างกระแสการใช้จักรยานแบบปากต่อปาก กระตุ้นการใช้จักรยานให้เพิ่มขึ้นอย่างได้ผลดี โดยคุณศิริรัศมิ์จำรูญ ได้บอกว่า "พวกเรามาคิดกันว่าเราน่าจะใช้ อสม.ที่เป็นแกนนำในชุมชนเป็นตัวช่วย บางคนเปิดร้านขายอาหารตามสั่ง ร้านขายของ เราก็ขอว่ามาช่วยเรื่องจักรยานกัน สิ้นปีเราจะมอบประกาศนียบัตรผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชนจากท่านนายก อบต. คนที่เข้าร่วมเขาก็ช่วยลดกำไรลง ตอนนี้มีร้านที่ร่วมแล้ว 15 ร้าน ลูกค้าที่มาซื้อโดยใช้จักรยานส่วนใหญ่จะเป็นเด็กนักเรียน ที่กระตือรือร้นที่จะปั่นจักรยานมาซื้อของมากขึ้น กระตุ้นให้คนที่ใช้อยู่แล้วอยากใช้มากขึ้น เกิดการบอกต่อปากต่อปาก เกิดผลดีกับชุมชนด้วย ทำให้การจราจรเบาบางลง"

3) ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะพนมสารคาม อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

ออกแบบ "หลักสูตรการเรียนรู้ท้องถิ่นเรื่องจักรยาน"

คุณบรรจบ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลพนมสารคาม แกนนำขับเคลื่อน ตอกย้ำการรับรู้เรื่องจักรยาน เพื่อเปลี่ยนความคิดคนด้วยองค์ความรู้ที่ใช้ได้จริง "เราเป็นชุมชนชนบทที่เติบโตเป็นชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว มีคนใช้จักรยานเป็นการออกกำลังกายมากกว่าในชีวิตประจำวัน เราให้ความสำคัญไปที่การสร้างการเรียนรู้ ส่วนโครงสร้างพื้นฐานก็ทำรอไว้แล้ว ทั้งการทำทางเดินให้กว้างเพื่อการใช้จักรยานร่วมด้วย รวมถึงทำถนนเป็นวันเวย์เพื่อคนที่ใช้จักรยานจะได้เดินทางได้สะดวก ตอนนี้ราเริ่มที่การเปลี่ยนความคิดคนก่อน จึงสร้าง "หลักสูตรการเรียนรู้ท้องถิ่นเรื่องจักรยาน" ขึ้นมา มีแกนนำคลีนิคจักรยานและวิทยากรของเทศบาลเข้าไปสร้างการรับรู้ ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง เนื้อหาในหลักสูตรมี 4 เรื่องคือ กฏหมายจักรยาน การใช้จักรยานอย่างถูกต้อง การซ่อมแซมจักรยาน และประโยชน์จากการใช้จักรยาน เรานำหลักสูตรเข้าไปเผยแพร่ในโรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานราชการในพื้นที่ โรงเรียนผู้สูงอายุ และเครือข่าย อสม. ฯลฯ เราเชื่อว่าเมื่อการรับรู้เกิดขึ้นแล้วจะมีการเปลี่ยนความคิด เมื่อถึงวันหนึ่งที่ปัจจัยต่างๆของคนคนนั้นพร้อม ก็จะเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้จักรยานได้"

4) ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะตำบลมหาดไทย อ.เมือง จ.อ่างทอง

"โครงการสานสัมพันธ์ 3 วัย ร่วมกันปั่นจักรยานสร้างสุข"

คุณสมนึก บำรุงญาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมหาดไทย และครูใหญ่โรงเรียนครอบครัวตำบลมหาดไทย ได้เชื่อม "โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ" เข้ากับ "โครงการโรงเรียนครอบครัวตำบลมหาดไทย" เพื่อสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้หันมาใช้จักรยานเพิ่มขึ้น โดยได้กล่าวว่า "ชุมชนเรามีคนต้นแบบ เช่น ประธานชมรมผู้สูงอายุวัย 94 ปีแล้วยังปั่นจักรยานมาประชุมทุกครั้ง เรามีบุคคลต้นแบบในชุมชนเยอะมาก เดิมมีคนใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน 12 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 54 คน ซึ่งกลุ่มที่หันมาใช้จักรยานเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงอายุ เราคิดว่าเราต้องสร้างคนรุ่นใหม่ให้มาใช้จักรยานเพิ่มขึ้น จึงได้ทำ "โครงการสานสัมพันธ์ 3 วัย ร่วมกันปั่นจักรยานสร้างสุข" โดยนำเอาเรื่องจักรยานมาบูรณาการเข้าไปอยู่ในโครงการ โรงเรียนครอบครัวที่ตัวผมดูแลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปั่นจักรยานไปศึกษาเรียนรู้ หรือให้ความรู้เด็กๆ เรื่องการใช้จักรยานอย่างปลอดภัย รวมถึงดึงเยาวชนมาร่วมเป็นคณะทำงานชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะด้วย"

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแค่ 4 ชุมชนจักรยานตัวอย่าง จากโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะปี 2 ที่ทำให้เกิดนวัตกรรมทางสังคมรูปแบบใหม่ ซึ่งชุมชนอื่นๆ ที่ใกล้เคียงสามารถนำไปเป็นแบบอย่างได้ เพราะจะทำให้คนในชุมชนสนใจและหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนจักรยาน และขยายตัวต่อไปสู่พื้นที่ชุมชนใกล้เคียงต่อกันไป สุดท้าย ก็จะขยายผลไปทั่วประเทศดังที่โครงการฯ ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ในที่สุด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐:๕๙ ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
๒๐:๓๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐:๕๒ Vertiv เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ไมโครโมดูลาร์รุ่นใหม่ที่มี AI ในเอเชีย
๒๐:๐๙ พิธีขึ้นเสาเอก เปิดไซต์ก่อสร้าง โครงการ แนชเชอแรล ภูเก็ต ไพรเวท พูลวิลล่า บ้านเดี่ยวบนทำเลทองใจกลางย่านเชิงทะเล
๒๐:๔๖ เขตบางพลัดประสาน รฟท.-กทพ. ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าสถานีรถไฟบางบำหรุ
๒๐:๕๘ ร่วมแสดงความยินดีแก่อธิบดีกรมยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๒๐:๐๓ กทม. เดินหน้าจัดกิจกรรมริมคลองโอ่งอ่าง ส่งเสริมอัตลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว
๒๐:๔๙ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พาคุณไปสัมผัสการนวดเพื่อสุขภาพจาก 4 ภูมิภาคของไทย
๒๐:๒๔ Digital CEO รุ่นที่ 7 เรียนรู้เข้มข้นต่อเนื่อง จากวิทยากรชั้นนำของวงการ
๒๐:๒๔ เด็กไทย คว้ารางวัลระดับโลก โดรนไทย ชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ UAV ณ กรุงเจนีวา