ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ พฤษภาคม 2560 ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 วอนรัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งหลัง

จันทร์ ๐๓ กรกฎาคม ๒๐๑๗ ๑๑:๔๘
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) พฤษภาคม 2560 จำนวน 1,110 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 27.6, 37.2 และ 35.2 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 40.6, 14.8, 16.2, 16.1 และ 12.3 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 77.7 และ 22.3 ตามลำดับ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 85.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.4 ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการในเดือนพฤษภาคม ยังคงเป็นเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนที่ผู้ประกอบการจะต้องรับมือกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้กระทบต่อการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออก ในด้านการดำเนินกิจการพบว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ยังมีปัญหาเงินทุนหมุนเวียน การขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนด้านราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.6 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก ระดับ 100.0 ในเดือนเมษายน เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อภายในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค จากการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2560

ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนพฤษภาคม พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ขนาดกลาง ปรับตัวลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน

โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 71.3ปรับตัวลดลงจากระดับ 73.4 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก,อุตสาหกรรมหล่อโลหะ,อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 92.7 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 92.9 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 81.1ปรับตัวลดลงจากระดับ 83.2 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร,อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 99.9 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 101.3ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 100.8 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม, อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า,อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 105.8 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนพฤษภาคม จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ปรับตัวลดลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน

ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 86.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.4 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (อาหารทะเลแปรรูป แช่เย็นและแช่แข็งมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดCLMV ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ขณะที่ไก่สดแช่เย็นและแช่แข็งมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์ ขิงดอง กาแฟสำเร็จรูป มียอดการส่งออกไปประเทศแถบเอเชียเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดหลักมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มประเภท น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมอลูมิเนียม (ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมชนิดม้วนและแผ่น สินค้าประเภทข้อต่อบานพับต่างๆ เทปอลูมิเนียมฟอยล์แบบมีเส้นใยมี ยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้) อุตสาหกรรมพลาสติก (บรรจุภัณฑ์พลาสติก (Packaging) ถุงพลาสติก มีการผลิตและยอดคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากลูกค้ามีความต้องการสินค้าอย่างต่อเนื่อง บรรจุภัณฑ์พลาสติก พลาสติกคอมพาวด์ แผ่นพลาสติก มียอดการส่งออกไปประเทศจีน,ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า (สินค้าประเภทรองเท้าสำเร็จรูป มียอดขายในประเทศลดลง ขณะที่รองเท้าเพื่อสุขภาพ และส่วนประกอบของรองเท้า มียอดการส่งออกลดลงจากตลาด CLMV) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ104.6 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯที่คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ภาคเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนพฤษภาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 70.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 71.9 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ (ผลิตภัณฑ์กล่องกระดาษลูกฟูกมียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศลดลง ประกอบกับราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์กระดาษจากเยื่อไม้ไผ่ ทิชชูและกระดาษสา มียอดส่งออกไปประเทศจีนและญี่ปุ่นลดลง)อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (สินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ไม้ เฟอร์นิเจอร์หนัง และเฟอร์นิเจอร์เหล็กมียอดขายในประเทศลดลง ประกอบกับมีการขาดแคลนแรงงาน ด้านการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปส่งออกไปตลาดอาเซียนลดลง) อุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรม (สินค้าพรีเมี่ยมและของที่ระลึก งานหัตถกรรม และดอกไม้ประดิษฐ์ มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง เนื่องจากลูกค้าจากประเทศจีนชะลอการสั่งซื้อ ผลิตภัณฑ์ OTOP เช่น ผ้าผันคอ กระเป๋าผ้า ของที่ระลึกต่างๆ มียอดขายในประเทศลดลง) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมสมุนไพร (สมุนไพรที่ใช้ทำยาแผนโบราณ และเครื่องสำอาง มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อส่งเสริมการขาย ด้านการส่งออกสมุนไพรประเภท กวาวเครือ สปาผิว ขมิ้นชัน และเครื่องหอม มียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศในแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น สิงค์โปร์ CLMV) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 89.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 93.7 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 85.5ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.4 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้า มียอดขายในประเทศลดลง ด้านการส่งออกสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศมาเลเซียและจีน) อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ผลิตภัณฑ์ประเภทเสื้อผ้าเด็ก เสื้อไหมพรม เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเสื้อยืด มียอดขายในประเทศลดลง ) อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ผลิตภัณฑ์ประเภท ไหมพรม เส้นไหมดิบ มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลงผ้าขนสัตว์เทียมส้นด้าย และเส้นใยประดิษฐ์ มียอดการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นโคลัมเบีย จีนและ CLMV ลดลง) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ผลิตภัณฑ์ประเภทอิฐมอญ อิฐโปร่ง หินก่อสร้าง หินตกแต่ง มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์หินอ่อนปูพื้นมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 96.5 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 100.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 105.0 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (เครื่องประดับเพชร ทองคำ อัญมณีและเครื่องเงิน มียอดขายในประเทศลดลง การส่งออกไปสหภาพยุโรปและตะวันออกกลางลดลง) อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (เครื่องปรับอากาศมียอดขายในประเทศ และส่งออกไปยังตลาดCLMV ลดลง เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนทำให้ความต้องการใช้ลดลง สินค้าประเภทคอมเพรสเซอร์มีการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นและอาเซียนลดลง) อุตสาหกรรมเหล็ก (เหล็กเส้นและเหล็กลวด มียอดขายในประเทศลดลง ด้านการส่งออกเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ส่งออกไปประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ลดลง เนื่องจากมีการแข่งขันสูงด้านราคา) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก ส่งออกไปยังตลาดเอเชียใต้และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์พอลีเมอร์ ไนล่อน มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 101.8 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนพฤษภาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 80.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 81.1 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (ยางแผ่นรวมควันมีการส่งออกไปประเทศจีนลดลง เนื่องจากมีการชะลอคำสั่งซื้อจากการที่มีสต็อคในปริมาณสูง น้ำยางข้น 60% มียอดสั่งซื้อลดลงจากประเทศไต้หวัน ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนชาวสวนไม่สามารถกรีดยางได้ ทำให้ปริมาณการผลิตลดลง)อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป มีคำสั่งซื้อจากโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ในประเทศลดลง เนื่องจากมีสต๊อกสินค้าจำนวนมากประกอบกับมีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบไม้ยางพารา เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (สารชีวภาพสำหรับบำบัดน้ำเสีย มียอดขายในประเทศลดลง ด้านการส่งออกสินค้าประเภทสารชีวภาพกำจัดแมลงและศัตรูพืช ปุ๋ยชีวภาพมีคำสั่งซื้อลดลงจาก CLMV) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ (อุปกรณ์ทางการแพทย์ฉุกเฉิน/ เครื่องมือแพทย์กลุ่มสัตวแพทย์และด้านความงาม มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนเครื่องมือเพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการบริการของโรงพยาบาล และสถานเสริมความงาม ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเวชภัณฑ์และหลอดฉีดยา จากตลาดสหรัฐฯและญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการขยายตลาดเพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 95.9ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนี ความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดใน ประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า เดือนพฤษภาคมค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวลดลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน

กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความ เชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 81.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.0 ในเดือนเมษายนองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ,อุตสาหกรรมสิ่งทอ,อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 99.7 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 99.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 96.2 ในเดือนเมษายนองค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี,อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์,อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ เป็นต้นขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 101.4 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

สำหรับด้านปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการในเดือนพฤษภาคม 2560 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน สถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนพฤษภาคม คือให้ภาครัฐออกมาตรการเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ พร้อมทั้งผ่อนปรนเงื่อนไขการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงเร่งพัฒนาผลิตภาพแรงงานไทย เพื่อรองรับนโยบาย Industry 4.0 และส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน…//

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐:๕๙ ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
๒๐:๓๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐:๕๒ Vertiv เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ไมโครโมดูลาร์รุ่นใหม่ที่มี AI ในเอเชีย
๒๐:๐๙ พิธีขึ้นเสาเอก เปิดไซต์ก่อสร้าง โครงการ แนชเชอแรล ภูเก็ต ไพรเวท พูลวิลล่า บ้านเดี่ยวบนทำเลทองใจกลางย่านเชิงทะเล
๒๐:๔๖ เขตบางพลัดประสาน รฟท.-กทพ. ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าสถานีรถไฟบางบำหรุ
๒๐:๕๘ ร่วมแสดงความยินดีแก่อธิบดีกรมยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๒๐:๐๓ กทม. เดินหน้าจัดกิจกรรมริมคลองโอ่งอ่าง ส่งเสริมอัตลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว
๒๐:๔๙ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พาคุณไปสัมผัสการนวดเพื่อสุขภาพจาก 4 ภูมิภาคของไทย
๒๐:๒๔ Digital CEO รุ่นที่ 7 เรียนรู้เข้มข้นต่อเนื่อง จากวิทยากรชั้นนำของวงการ
๒๐:๒๔ เด็กไทย คว้ารางวัลระดับโลก โดรนไทย ชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ UAV ณ กรุงเจนีวา