หลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุท่าชนะ เสริมศักยภาพคนสูงวัยใจเป็นสุข

พฤหัส ๐๖ กรกฎาคม ๒๐๑๗ ๑๓:๓๗
ตามการคาดการณ์ของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ระบุว่าประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี 2548 คือมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 10 ประชากรสูงอายุกำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่เร็วมากคือ สูงกว่าร้อยละ 4 ต่อปี ในขณะที่ประชากรรวมเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้น ขณะที่คาดการณ์ประชากรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 20 ในปี 2564 และจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดเมื่อมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 28 ในปี 2574

แม้วัยวุฒิจะสูงขึ้นแต่ผู้สูงวัยในเขตเทศบาลตำบลท่าชนะ อำเภอท่าชนะ จังวัดสุราษฎร์ธานี ก็ไม่ได้สร้างความกังวลใจให้ลูกหลาน เพราะที่นี่เตรียมพร้อมสำหรับผู้สูงอายุที่ยังมีศักยภาพพร้อมที่จะพัฒนาตนเอง ใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผ่านกิจกรรมต่างๆและหลักสูตรการเรียนในโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งแรกของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

จากคำบอกเล่าของรัตนา นุราช หัวหน้าฝ่ายบริหารงานสาธารณสุข เทศบาลท่าชนะ หนึ่งในคณะทำงานตามโครงการ "การเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนหมู่ที่ 4 ต.ท่าชนะ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี" ซึ่งดำเนินกิจกรรมในนามชมรมผู้สูงอายุเทศบาลตำบลท่าชนะ และจัดตั้งกองทุนสงเคราะห์แก่สมาชิกที่ถึงแก่กรรมมาก่อน และภายหลังจึงได้ดำเนินโครงการโดยได้รับการสนับสนุนจากจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำให้การดำเนินงานมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น

ในเขตเทศบาลท่าชนะมีผู้สูงอายุ 640 คน เป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ 252 คน โดยชมรมฯจะรับสมาชิกอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป เพราะกิจกรรมบางอย่างต้องอาศัยผู้ที่อายุน้อยกว่าให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุซึ่งผู้ที่อายุมากที่สุดอยู่ในวัย 82 ปี เดิมทีชมรมผู้สูงอายุมีกิจกรรมอยู่บ้าง แต่ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนนัก เมื่อได้ดำเนินโครงการร่วมกับ สสส. ทำให้มีแผนงานในดำเนินงานชัดเจนยิ่งขึ้น และน่าจะทำให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุได้อย่างต่อเนื่อง

"กิจกรรมของชมรมก็จะมีการออกกำลังกาย รำไม้พลองทุกเช้า ประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ มุ่งให้ผู้สูงอายุติดสังคม ไม่ต้องการให้ติดบ้าน ติดเตียง มีการทำกิจกรรมตั้งกลุ่มเล่นอังกะลุง รำวง กลองยาว หลักๆ ก็คือเน้นในเรื่อง 3 อ.คือ อบรม อารมณ์ อดิเรก มีอาจารย์มาสอนตามทักษะ เชิญวิทยากรจากภายนอกมาสอนบ้าง ซึ่งเทศบาลท่าชนะให้การสนับสนุนอย่างดี โรงเรียนมีคณะจากต่างจังหวัดมาดูงานกิจการอยู่เป็นระยะ" หัวหน้าฝ่ายบริหารงานสาธารณสุข เทศบาลท่าชนะ เปิดเผย

สำหรับหลักสูตรของโรงเรียนผู้สูงอายุ มี 2 ระดับหลักสูตรละ 2 ปี ทั้งระดับต้นและระดับสูง มีวิชาที่ส่งเสริมให้ผู้สูงวัยใช้ในการดูแลตนเองได้ เช่น อาหารและโภชนาการ ลีลาศเพื่อสุขภาพ ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร เป็นต้น โดยเน้นให้ผู้สูงอายุมีความสุขในการเรียน และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนได้แสดงศักยภาพ จากประสบการณ์ที่มีอยู่ในตัวอยู่แล้ว

ทางด้าน วิมล พรหมทุ่งฆ้อ ผู้สูงวัย อายุ 70 ปี นักเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุท่าชนะ เล่าอย่างอารมณ์ดีว่า ปกติทำงานบ้าน ดูแลสวนปาล์มและสวนยางพาราบ้าง ก่อนหน้านี้เคยเปิดร้านขายสินค้า แต่ภายหลังเลิกกิจการและได้เข้าร่วมทำกิจกรรมกับชมรมผู้สูงอายุ ทำให้รู้สึกมีความสุข สบายใจ ไม่รู้สึกเคร่งเครียด เพราะได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนผู้สูงอายุในวัยใกล้เคียงกัน ได้เรียนรู้ในบางเรื่องที่ไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อน

"มีความสุขมากกับการได้ทำกิจกรรมกับคนอาวุโสในวัยที่ใกล้เคียงกัน อยู่บ้านคนเดียวก็เหงา พอได้มาเจอเพื่อนๆได้ทำกิจกรรมร่วมกันก็มีความสุข ยิ่งได้มาเรียนเป็นนักเรียนด้วยก็ทำให้ได้รับความรู้ด้วยอย่างวิชาท้องถิ่นบางเรื่องก็ไม่เคยรู้มาก่อน ส่วนตัวแล้วชอบวิชาลีลาศและชอบร้องเพลง แทบไม่อยากให้ปิดเรียนและไม่อยากจบเลย" นักเรียนวัยอาวุโสกล่าว

ขณะที่ จงกลนี แพน้อย อดีตรองผู้อำนวยการโรงเรียนท่าชนะ วัย 63 ปี เล่าว่าได้รับการชักชวนจากเทศบาลท่าชนะให้มาเป็นครูในโรงเรียนผู้สูงอายุ ทำหน้าที่สอนวิชาการปกครองไทย พุทธศาสนา ท้องถิ่นของเราและวิชาลีลาศเพื่อสุขภาพ ซึ่งในการสอนผู้สูงอายุมีความแตกต่างจากเด็กนักเรียนที่เคยเรียนมา ต้องปรับการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้สูงวัย เพราะผู้เรียนมีความแตกต่างกันมาก มีทั้งผู้จบชั้นประถมปีที่ 4 ระดับมัธยม ระดับปริญญาตรีและปริญญาโทก็มี แต่จะเน้นความสนุกสนานให้ความรู้สึกผ่อนคลายไม่เคร่งเครียด เน้นให้ผู้เรียนเกิดความสุขในการเรียน ขณะเดียวกันผู้สอนก็ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เรียนไปด้วย

"ต้องรู้ว่าผู้เรียนต้องการอะไร เราจะเน้นให้ผู้เรียนมีความสุขมากกว่า ต้องมีอารมณ์ขันแทรก ใช้เพลงเป็นสื่อบ้าง นักเรียนบางคนเคยเป็นครูสอนดิฉันเมื่อครั้งประถมก็มี แต่ตอนนี้ต้องมาสอนครูที่เคยสอนเรามาก่อนตอนแรกก็กังวลใจพอสมควร แต่พอทำความเข้าใจกันแล้วก็ราบรื่นดี" คุณครูจงกลนี กล่าว

จากการรวมกลุ่มของผู้สูงวัยท่าชนะ ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งการออกกำลังกาย สันทนาการและหลักสูตรด้านวิชาการในโรงเรียน ส่งผลดีทางต่ออารมณ์และจิตใจของผู้สูงอายุ เพื่อให้ใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความสุข.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๔:๓๙ สมาคมธนาคารไทย ออกแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้กลุ่มเปราะบางทั้งลูกค้าบุคคลและSME
๑๔:๐๒ ผู้ลงทุนเชื่อมั่น โลตัส (Lotus's) จองซื้อหุ้นกู้เต็มจำนวน 9 พันล้านบาท
๑๔:๑๕ สมัครบัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ วีซ่า รูดช้อปรับคุ้ม! รับเครดิตเงินคืนสูงสุด 5%
๑๔:๔๘ MASTER ประชุมผู้ถือหุ้นปี 67 ผ่านฉลุย ไฟเขียวจ่ายปันผล เดินหน้าสร้างโอกาสโตตามกลยุทธ์ MP
๑๔:๔๓ ธนาคารกรุงเทพ จับมือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนาม MOU ส่งเสริมการผลิตบุคลากร-พัฒนาศักยภาพ-ถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีดิจิทัล
๑๔:๒๐ ITEL จัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. เห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผลอัตรา 0.0696 บ./หุ้น
๑๔:๒๙ ไทยพาณิชย์ ตอกย้ำกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch เปิดตัว โปรจีน อาฒยา นักกอล์ฟหญิงระดับโลก เป็น Brand
๑๔:๓๐ KCG จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2567 พร้อมอนุมัติจ่ายปันผล 0.30 บาทต่อหุ้น
๑๔:๔๙ บาฟส์ ประกาศความสำเร็จ ลุยขยายโครงข่ายขนส่งน้ำมันทางท่อ เชื่อมต่อเครือข่ายพลังงานทั่วไทย
๑๔:๓๙ บีโอไอจับมือพันธมิตร จัดงาน SUBCON Thailand 2024